ตลาดประกันชีวิต ปี 65 เป็นอย่างไร ในวันที่ ไทยประกันชีวิต เข้า IPO (วิเคราะห์)

หลังจากที่ไทยประกันชีวิตอยู่ในธุรกิจประกันชีวิตมากว่า 80 ปี

จนในปีนี้ได้ฤกษ์พาตัวเองเข้าตลาดหลักทรัพย์ ผ่านการออกหุ้น IPO พาตัวเองเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ในวันที่ไทยประกันชีวิตเข้าตลาดหลักทรัพย์ เราอยากเล่าสักหน่อยว่าตลาดประกันชีวิตมีสภาพเป็นอย่างไร

 

1. ตลาดประกันชีวิตยังคงมีความเสี่ยง

สมาคมประกันชีวิตไทยคาดการณ์ว่าตลาดประกันชีวิตในปีนี้จะอยู่ในสภาวะทรงตัว หรือถ้าเติบโตจะเติบโตสูงสุดเพียง 2.5%

ส่วนไตรมาสแรกของปี 2565 ที่ผ่านมาธุรกิจประกันชีวิตมีมูลค่าที่ลดลง 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564

เหตุผลที่ตลาดประกันชีวิตในปีนี้มีแนวโน้มที่จะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มาจากความท้าทายในเรื่องดอกเบี้ยที่ผันผวน, การกลายพันธ์ุของโควิด-19, ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน, สถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก, ความไม่แน่นอนของสงครามเทคโนโลยี (Cyber War), มาตรฐานคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล และอื่น ๆ

ทั้ง ๆ ที่ปี 2564 ตลาดประกันชีวิตเพิ่งกลับมาสดใส จากการเติบโต 2.32% และเป็นการเติบโตครั้งแรกในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา จากสภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ด้าน

ในปี 2562 ธุรกิจประกันชีวิตหดตัวลง 2.63% จากผลกระทบสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา มาตรการจากภาครัฐ เช่น หลักเกณฑ์ในเรื่องมาตรฐานรายงานทางการเงิน IFRS17 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Law) การยกระดับพฤติกรรมทางการตลาดของธุรกิจประกันชีวิต (Market Conduct) ที่กระทบต่อตัวแทนและนายหน้า

ปี 2563 ธุรกิจประกันหดตัว 1.75% จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก ที่ทำให้เม็ดเงินในกระเป๋าผู้บริโภคลดลง

และถ้ามองไปที่ภาพรวมของธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัย เรายังพบเห็นข่าวปิดตัวลงของบริษัทประกันภัยหลายต่อหลายราย ที่ไปต่อไม่ไหว จากประกันเจอ จ่าย จบ ที่มีการเคลมประกันจำนวนมากจนธุรกิจขาดสภาพคล่อง ขาดทุน และเงินหมุนเวียนไม่พอจ่าย

ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้บริโภคในการทำประกันชีวิตอีกด้วย

แม้ตลาดประกันชีวิตจะยังคงไม่ค่อยเติบโต แต่ก็ยังมีโอกาสที่น่าสนใจจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ จากภาครัฐ

ประกอบกับตลาดประกันชีวิตยังมีโอกาสจากคนไทยยังเข้าถึงประกันชีวิตในสัดส่วนที่ต่ำ ในปี 2564 คนไทยมีประกันชีวิตเพียง 3.87% เมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ และสัดส่วนนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี

2. ผู้นำตลาดประกันชีวิตยังเป็นของ AIA

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาส่วนแบ่งตลาดประกันชีวิตในกลุ่ม Top5 มีการขึ้นลงของผู้ท้าชิงอันดับ 2-5 อย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังส่วนแบ่งตลาดเบียดเบอร์หนึ่งอย่าง เอไอเอ มากยิ่งขึ้น ส่วนเอไอเอ ต้องการทิ้งห่างเบอร์ 2 ให้มากที่สุดเช่นกัน

ปี 2562 ตลาดประกันชีวิตมีส่วนแบ่งตลาดรวม ดังนี้

เอไอเอ 23.07%

ไทยประกันชีวิต 15.07%

เมืองไทยประกันชีวิต 13.27%

กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต 9.65%

ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต 7.35%

 

ปี 2563

เอไอเอ 24.30%

ไทยประกันชีวิต 15.21%

เอฟดับบลิวดี 13.39%

เมืองไทยประกันชีวิต 12.55%

กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต 9.11%

ปี 2563 เป็นปีแรกที่ เอฟดับบลิวดี ควบรวมกิจการกับไทยพาณิชย์ประกันชีวิต ทำให้ลูกค้าของไทยพาณิชย์ประกันชีวิตเปลี่ยนเป็นลูกค้าของเอฟดับบลิวดี

 

ปี 2564

เอไอเอ 25.64%

ไทยประกันชีวิต 14.75%

เอฟดับบลิวดี 13.20%

เมืองไทยประกันชีวิต 11.88%

กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต 8.15%

 

Q1/2565

เอไอเอ 24.68%

เอฟดับบลิวดี 16.69%

ไทยประกันชีวิต 12.94%

เมืองไทยประกันชีวิต 11.23%

กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต 8.14%

 

3. ตลาดประกันชีวิตยังคงมีรายได้หลักมาจากประกันภาคต่อ

ในปีที่ผ่านมาตลาดประกันมูลค่า 614,116 ล้านบาท เป็นมูลค่าที่มาจาก

เบี้ยต่ออายุ 72.2% คิดเป็นมูลค่า 433,397 ล้านบาท เติบโต 0.32%

เบี้ยประกันใหม่ 27.8% คิดเป็นมูลค่า 170,719 ล้านบาท เติบโต 7.82%

เบี้ยประกันใหม่ สามารถแบ่งได้เป็น เบี้ยปีแรก 95,263 ล้านบาท ลดลง  6.49%

เบี้ยจ่ายครั้งเดียว 75,456 ล้านบาท เติบโต 33.63%

ซึ่งเบี้ยประกันใหม่จ่ายครั้งเดียวที่เติบโตสูงในปี 2564 เรามองว่าส่วนหนึ่งมาจากประกันโควิด-19 ที่คุ้มครองด้านรักษาพยาบาลต่าง ๆ ที่จ่ายเป็นรายปี

ส่วนไตรมาสแรกปี 2565

ตลาดประกันชีวิตมูลค่า 150,427 ล้านบาท เป็นมูลค่าที่มาจาก

เบี้ยต่ออายุ 72.8% คิดเป็นมูลค่า 109,469 ล้านบาท ลดลง 0.02%

เบี้ยประกันใหม่ 27.2% คิดเป็นมูลค่า 40,958 ล้านบาท ลดลง 6.10%

เบี้ยประกันใหม่ สามารถแบ่งได้เป็น เบี้ยปีแรก 26,326 ล้านบาท เติบโต 7.47%

เบี้ยจ่ายครั้งเดียว 14,632 ล้านบาท ลดลง 23.51%

 

4. ตัวแทนยังคงสร้างรายได้หลักในธุรกิจประกันชีวิต

ในปีที่ 2564 ธุรกิจประกันมีรายได้มาจากช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

ตัวแทน 52.21% เติบโต 0.09%

ธนาคาร 39.74% เติบโต 5.40%

โบรกเกอร์ 3.97% เติบโต 2.52%

ดิจิทัล 0.22% เติบโต 13.35%

อื่น ๆ 3.86%

 

ไตรมาสแรกปี 2565

ตัวแทน 48.90% เติบโต 5.32%

ธนาคาร 40.78% ลดลง 9.11%

โบรกเกอร์ 5.43% เติบโต 0.19%

ดิจิทัล 0.14% เติบโต 35.05%

อื่น ๆ 4.75%

 

อย่างไรก็ดี แม้ตลาดประกันชีวิตอาจจะดูไม่สดใสในวันที่ไทยประกันชีวิตจะพาตัวเองเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ แต่เราเชื่อว่าหลังจากระดมทุน IPO ในครั้งนี้ อาจจะทำให้เราเห็นสีสันใหม่ ๆ ของตลาดประกันชีวิตในอนาคต

เพราะไทยประกันชีวิตมองภาพตลาดประกันชีวิตต่อจากนี้ไปจะเติบโตอย่างสดใส และเรามองว่าอย่างน้อยไทยประกันชีวิตต้องการทวงส่วนแบ่งตลาดเบอร์ 2 ที่เคยทำไว้ในตลาดประกันชีวิตเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

การเข้า ตลาดประกันชีวิต ปี 65 ในครั้งนี้ไทยประกันชีวิตคาดการณ์ว่าตลาดประกันชีวิตในกลุ่มลูกค้าที่เปิดกรมธรรม์ใหม่ หรือที่ภาษาประกันเรียกว่า เบี้ยประกันรับปีแรก จะเร่งตัวสูงขึ้นหลังฟื้นตัวจากโควิด-19

ด้วยการเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.3% นับตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปี 2569

ที่ผ่านมาไทยประกันชีวิตมีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับกว่า 4.4 ล้านกรมธรรม์ อ้างอิง 31 มีนาคม 2565

และมีรายได้ในปีที่ผ่านมา 109,246 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8,394 ล้านบาท

ไตรมาส 1 ปี 2565 มีรายได้รวม 25,955 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,793 ล้านบาท

การเสนอขายหุ้น IPO ของไทยประกันชีวิตในครั้งนี้ เป็นการเสนอขายราคาหุ้นละ 16 บาท มูลค่าการเสนอขายไม่เกิน 2,155,068,900 หุ้น เปิดขาย 29 มิถุนายน-6 กรกฎาคม 2565 เพื่อระดมทุนสูงสุดไม่เกิน 37,067 ล้านบาท (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)

การเสนอขาย IPO ของไทยประกันชีวิตป็น IPO ของหุ้นในหมวดธุรกิจประกันภัย และประกันชีวิตที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย

และยังมีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับจากปี 2543

ในหนังสือชี้ชวนการลงทุนไทยประกันชีวิตระบุว่าเงินที่ไทยประกันชีวิตระดมทุน หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการเสนอขายหลักทรัพย์และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง จะมีจำนวนประมาณ 13,600 ล้านบาท และจะนำไปลงทุนในด้านต่าง ๆ 3 กลุ่มหลัก

งบ 2,000 ล้านบาท ใช้ระหว่างปี 2565-2567

เพื่อลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ในรูปแบบ Digital Transformation และใช้กับการตลาด  

งบ 6,200 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุนและสำหรับเงินทุนหมุนเวียนและวัตถุประสงค์อื่น ๆ

งบ 5,400 ล้านบาท ใช้ระหว่างปี 2567-2569

เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่ายผ่านทางพันธมิตร

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online