Office Bullying ในเกาหลีใต้ยังมี วัยทำงานเครียดเจอบอสหัวร้อนหลังกลับออฟฟิศ
สังคมการทำงานเกาหลีใต้ยังคงเผชิญปัญหาเดิม ๆ จากพฤติกรรมเหยียดหยามและไม่เห็นใจกัน ซ้ำร้ายสถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายลง
ผลสำรวจล่าสุดในเกาหลีใต้เผยว่า กลุ่มตัวอย่างคนวัยทำงาน 30% เจอการรังแก คุกคามหรือใช้อำนาจบีบบังคับจนเกินเหตุจากหัวหน้าเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อน ซึ่งถือเป็นหลักฐานว่า ปัญหา Gapjil ยังคงไม่หมดไป แม้เคยมีข่าวใหญ่จากเรื่องลักษณะนี้และรัฐบาลได้ออกกฎหมายลงโทษก็ตาม
เพราะเกาหลีใต้เป็นสังคมที่มีลำดับขั้นการปกครองและการแข่งขันกันสูง ประกอบกับกลุ่มที่อยู่ในลำดับบน ๆ ทั้งผู้บริหาร มหาเศรษฐี หรือนักการเมือง จึงมักมีพฤติกรรมหยิ่งผยอง คุกคาม หรือใช้วาจาที่รุนแรงกับผู้ใต้บังคับบัญชามาตั้งแต่ในอดีต
และเมื่อประเทศพัฒนา พฤติกรรมไม่เหมาะสมเหล่านี้ที่มีคำเรียกในภาษาเกาหลีว่า Gapjil จึงยังมีอยู่ และลุกลามจนกลายเป็นปัญหาในสังคมการทำงาน
ปี 2014 พฤติกรรม Gapjil กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก โดย Cho Hyun-ah รองประธานหญิงของสายการบิน Korean Air สั่งให้เครื่องบินของสายการบินที่เธอเป็นผู้บริหารและครอบครัวถือหุ้นใหญ่ ที่กำลังจะขึ้นบินวกกลับมาที่สนามบินในสหรัฐฯ เพราะไม่พอใจแอร์โฮสเตส และอยากจากอบรมที่เสิร์ฟถั่วให้ทั้งถุงแทนที่จะใส่จาน
ถัดจากนั้นก็มีข่าวฉาวจากพฤติกรรม Gapjil ทั้งจากคนในตระกูลผู้บริหาร Korean Air และผู้บริหารกลุ่มเครือธุรกิจใหญ่ ๆ (Chaebol) ออกมาอีก จนพนักงานที่ตกเป็นเหยื่อต้องรวมตัวเรียกร้อง
และปี 2019 อดีตประธานาธิบดี Moon Jae-in ได้ออกกฎหมายลงโทษถึงขั้นจำคุกต่อผู้บริหารหรือหัวหน้าที่คุกคามพนักงาน เพื่อหวังขจัดพฤติกรรม Gapjil ให้หมดไป
ทว่าพฤติกรรม Gapjil ก็ยังมีอยู่ โดยผลการสำรวจล่าสุด ที่ Gapjil199 กลุ่มช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อ Gapjil ในเกาหลีใต้ทำร่วมกับบริษัทวิจัย Embrain Public ต่อกลุ่มตัวอย่างคนวัยทำงานเกาหลีใต้ทั่วประเทศ 1,000 คนเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา มี 30% ที่ยอมรับว่าเป็นเหยื่อพฤติกรรม Gapjil ของหัวหน้า
เรื่องนี้เป็นประเด็นเพราะการสำรวจครั้งก่อนเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างที่ตกเป็นเหยื่อพฤติกรรม Gapjil ยังอยู่ที่ 23.5% จึงหมายความว่า Office Bullying ปัญหานี้ในเกาหลีใต้กลับมาเพิ่มขึ้น
และหากไม่เร่งแก้ไขคนวัยทำงานเกาหลีใต้ที่กลับเข้าออฟฟิศมาทำงานกันมากขึ้นหลังพ้นสถานการณ์โควิด อาจตกเป็นเหยื่อพฤติกรรม Gapjil อยู่ต่อไป
จากนี้คงต้องติดตามว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ในยุคของประธานาธิบดี Yoon Seok-youl จะหาทางขจัดพฤติกรรม Gapjil และเยียวยาพนักงานที่ตกเป็นเหยื่ออย่างไร เพราะปัญหานี้ยังเป็นต้นเหตุของการคุกคามทางเพศ การ ‘สั่งแบน’ คนเห็นต่าง ความเครียดในที่ทำงานจนต้องลาออก
และทำให้เกิดการฆ่าตัวตายอีกด้วย ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นผ่านทางหนังและซีรีส์เกาหลีใต้อยู่เสมอ/cnn, wikipedia, koreaherald
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



