ศูนย์สิริกิติ์ โฉมใหม่ ใหญ่ขึ้น 5 เท่า เล็งขยายกลุ่มงานต่างประเทศ คาดผู้เข้าใช้บริการ 13 ล้านคนต่อปี

ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์กลับมาเปิดตัวใหม่ ขยายพื้นที่เพิ่ม 5 เท่า พร้อมปรับ Brand Image ใหม่ให้เป็นสากล เดินหน้าขยายกลุ่มงานจากต่างประเทศมากขึ้น

หลังปิดปรับปรุงไป 2 ปี ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์กลับมาภายใต้คอนเซ็ปต์ “ที่สุดของอีเวนต์แพลตฟอร์ม” (The Ultimate World Class Event Platform for All) ด้วยพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ตร.ม. จากเดิม 65,000 ตร.ม. Meeting Room เพิ่มเป็น 50 ห้อง พื้นที่จัดอีเวนต์ 78,500 ตร.ม. โซนแอคทีฟไลฟ์สไตล์มอลล์ 12,000 ตร.ม. ขยายลานจอดรถเพิ่มเป็น 3,000 คัน รองรับผู้มาเยือน 100,000 คนต่อวัน

นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า การกลับมาของศูนย์ฯ สิริกิติ์ได้มีการปรับ Brand Image ใหม่เพื่อยกระดับให้ศูนย์มีความทันสมัยและเป็นสากลมากขึ้น เริ่มตั้งแต่การปรับโลโก้แบรนด์ ไปจนถึงการจับมือกับพาร์ตเนอร์โรงแรม ในการสร้างประสบการณ์ใหม่แก่ลูกค้าที่มาจัดงาน

ขณะเดียวกันพื้นที่ที่มากขึ้นจะรองรับรูปแบบอีเวนต์ใหม่ ๆ ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น จากเดิมที่มีงานใหญ่เพียง 100 งานต่อปี คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว มีเรนจ์การจัดงานกว้างขึ้น ยืนยันจำนวนงานตั้งแต่เปิดมาจนถึงสิ้นปี 2566 รวมแล้วกว่า 160 งาน

ในส่วนของงานต่างประเทศ จากเดิมศูนย์ฯ จะมีกลุ่มผู้จัดงานต่างประเทศในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย แต่หลังการปรับปรุงใหม่ครั้งนี้คาดว่าจะสามารถปรับสัดส่วนงานจากต่างประเทศให้ขึ้นมาอยู่ที่ 30% ได้ ซึ่งในขณะนี้มุ่งเน้นที่กลุ่มงานจากจีนเป็นหลัก แต่ในอนาคตมีแผนขยายไปสู่กลุ่มงานเอนเตอร์เทนเมนต์ และ Trade Show จากเกาหลี

โดยงานจากผู้จัดงานระดับอินเตอร์ที่จะเข้ามาจัดในไทยเป็นครั้งแรก ได้แก่  HUAWEI CONNECT 2022 งานใหญ่ที่ย้ายฐานการจัดจากเซี่ยงไฮ้มายังศูนย์ฯ เป็นที่แรก ตามด้วยงาน Asia Pacific Leather Fair หรือ APLF งานแสดงสินค้าเครื่องหนังที่เคยจัดในฮ่องกง

ทั้งนี้ ศูนย์ฯ สิริกิติ์จะเป็นสถานที่จัดงานประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC)  ในวันที่ 13-18 พฤศจิกายน 2565

อย่างไรก็ตาม ศูนย์สิริกิติ์ รูปแบบใหม่นี้จะเป็นมากกว่าศูนย์การประชุม หรือสถานที่รองรับธุรกิจ MICE แต่จะเป็นคอมมูนิตี้แห่งใหม่ ตามที่ได้เพิ่มส่วนแอคทีฟไลฟ์สไตล์มอลล์เข้ามา บนพื้นที่กว่า 12,000 ตารางเมตร

คาดว่าจะมีผู้เข้าใช้บริการมากกว่า 13 ล้านคนต่อปี เพิ่มจากช่วงก่อนปิดปรับปรุงที่มีอยู่ 6 ล้านคนต่อปี

โดยที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์รูปแบบใหม่จะเปิดให้ใช้บริการ 12 กันยายนนี้ แต่ในส่วนของ Retail จะเปิดให้ใช้บริการเพียง 50% ก่อนเท่านั้น และจะประเดิมด้วยงาน Asean Sustainability and Energy Week 2022 และ Tissue & Paper Bangkok 2022 ช่วง 14-16 กันยายนนี้

นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ขยายพื้นที่โซนรีเทลให้กว้างขึ้น 11,000 ตารางเมตร ให้เป็นแอคทีฟไลฟ์สไตล์มอลล์ เพื่อปรับศูนย์เข้าสู่การเป็นมากกว่าสเปซจัดงาน ให้กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ทุกคนสามารถมาใช้เวลากินดื่ม พักผ่อน ท่องเที่ยว ออกกำลังกาย ได้ครบในที่เดียว รองรับผู้เข้าใช้บริการ 100,000 คน/วัน

 

ศูนย์ฯ สิริกิติ์ โฉมใหม่ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
เปิดให้บริการครั้งแรก 29 สิงหาคม 2534
ปิดให้บริการชั่วคราว  12 เมษยน    2562
กลับมาเปิดให้บริการ  12 กันยายน 2565
เจ้าของที่ดิน คือ กระทรวงการคลัง
ศูนย์ฯ ใหม่ งบประมาณการปรับปรุง 15,000 ล้านบาท
แต่ละชั้นได้แรงบันดาลใจจากฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
เจ้าของโครงการ: บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด
“ศูนย์ฯ สิริกิติ์”รูปแบบใหม่ มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง

 

QSNCC เดิม QSNCC ใหม่
1. โลโก้ สีน้ำเงินคราม สีทอง
2. พื้นที่ทั้งหมด
(ตร.ม.)
65,000 300,000
เพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว
3. พื้นที่จัดอีเวนต์
(ตร.ม.)
25,000 78,500
4. Meeting room
(ห้อง)
13 50
5. พื้นที่สำหรับร้านค้าปลีก (ตร.ม.) 5,000 12,000
6. ลานจอดรถใต้ดิน
(คัน)
600 3,000

 

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online