ขณะที่ทีมชาติจากประเทศต่าง ๆ พากันงัดฟอร์มเก่งเพื่อคว้าแชมป์ในฟุตบอลโลก ฝ่ายสปอร์ตแบรนด์ก็ขับเคี่ยวกันคว้าดีลทำชุดแข่งให้แต่ละทีม โดยนับจากปี 2006 ที่ Puma เสื่อมความนิยมลงไปก็เป็น Nike กับ Adidas ก็ขึ้นมาขับเคี่ยวกันแทน
สำหรับฟุตบอลโลกครั้งนี้ซึ่งกาตาร์เป็นเจ้าภาพ และเป็นครั้งแรกในตะวันออกกลาง Nike ชนะ Adidas แบบขาดลอย ได้ทำชุดแข่งให้ 13 ทีมจาก 32 ทีม คือ กาตาร์ โปแลนด์ ซาอุฯ บราซิล ฝรั่งเศส โครเอเชีย อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ แคนาดา โปรตุเกส สหรัฐฯ และออสเตรเลีย
ส่วน Adidas ตามมาห่าง ๆ ได้ทำชุดให้ 7 ทีมคือ เยอรมนี เบลเยียม สเปน อาร์เจนตินา ญี่ปุ่น เม็กซิโก และเวลส์
นัยสำคัญของฟุตบอลโลกครั้งนี้ต่อฝ่าย Nike คือ การเอาชนะ Adidas ในเรื่องจำนวนทีมที่ได้ทำชุดแข่งให้ จึงเปิดโอกาสให้คอบอลและผู้ชมทั่วโลกจะได้เห็นโลโก้ของ Nike บ่อยกว่า หลังฟุตบอลโลกครั้งที่แล้ว แพ้ไปฉิวเฉียด ได้ทำชุดแข่งให้ 10 ทีม ขณะที่ Adidas ได้มากกว่าที่ 12 ทีม
ชัยชนะของ Nike ในครั้งนี้ ยังมีขึ้นขณะที่ครองตำแหน่งแบรนด์เสื้อผ้ามูลค่าสูงสุดในโลกปีนี้ ด้วยมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเป็น 33,100 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.2 ล้านล้านบาท) ทิ้งห่าง Adidas ซึ่งปีนี้มูลค่าแบรนด์อยู่ที่ 14,600 ล้านดอลลาร์ (ราว 528,000 ล้านบาท)
ทว่า Nike ก็ดีใจได้ไม่สุด เพราะต่อให้มีให้ทั้งสองทีมสวมชุดแข่ง Nike บ่อยแค่ไหนแต่ลูกฟุตบอลในฟุตบอลโลกก็ยังคงเป็นของ Adidas ย้ำสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง Adidas กับ FIFA ที่ทำให้ Adidas ได้ทำลูกฟุตบอลมาตั้งแต่ฟุตบอลโลกปี 1970
และจะยังต่อเนื่องไปถึงปี 2030 จึงหมายความว่าคอบอลจะได้เห็นลูกฟุตบอล Adidas ในฟุตบอลโลกอีก 2 ครั้งเป็นที่แน่นอนแล้ว
ส่วน Puma ที่ฟุตบอลโลกปี 2006 คือจุดสูงสุดด้วยการได้ทำชุดแข่งให้ถึง 12 ทีม มาปีนี้ได้ทำชุดแข่งให้ 6 ทีมคือ เซอร์เบีย สวิตเซอร์แลนด์ อุรุกวัย กานา โมร็อกโค และเซเนกัล ดีขึ้นกว่าฟุตบอลโลกครั้งก่อน ที่ได้ทำชุดแข่งให้เพียง 3 ทีมเท่านั้น
ด้านทีมเหลือ กระจายกันไปทีมละแบรนด์ ดังนี้ Hummel ทำชุดแข่งให้ เดนมาร์ก Marathon ทำชุดแข่งให้ เอกวาดอร์
Majid ทำชุดแข่งให้อิหร่าน Kappa ทำชุดแข่งให้ ตูนิเซีย One All Sport ทำชุดแข่งให้ แคเมอรูน และ New Balance ทำชุดแข่งให้คอสตาริกา/footyheadlines
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ