เทรนด์ตลาดประกันภัยรถยนต์ไทย ปี 2566 ผู้บริโภคจ่ายเบี้ยถูกลง 30-40% เหตุใช้รถน้อย-EV เก็บข้อมูลแม่น เทรนด์ช้อปออนไลน์ ส่งบริษัทประกันสบช่อง Direct to Customers แต่ยังต้องรักษาบาลานซ์กับนายหน้า-โบรกเกอร์ แหล่งรายได้หลัก และเคสตัวอย่างประกันโควิด ส่งผู้บริโภค เน้นเลือกบริษัทประกันที่ความน่าเชื่อถือ ก่อนราคา
ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา CEO และผู้ก่อตั้ง Priceza เว็บไซต์ค้นหา-เปรียบเทียบราคาสินค้าออนไลน์ เผยว่า ปัจจุบัน Priceza มีคนเข้ามาใช้งานเว็บไซต์ 10 ล้านคน/เดือน แบ่งเป็นผู้บริโภคที่มีความพร้อมในการซื้อทันที 6 ล้านคน/เดือน
ในส่วนของเว็บไซต์ในเครืออย่าง Priceza Money เว็บไซต์เปรียบเทียบราคาประกันรถยนต์ และ Insurance Content Creator มีคนเข้ามาใช้งานเว็บไซต์ 100,000 คน/เดือน และอัตราการกลับมาใช้ซ้ำอยู่ที่ 86% และ 20-30% คือผู้บริโภคที่มีความพร้อมในการซื้อ
โดย Priceza Money จะทำหน้าที่แก้ 3 Pain Point หลัก ๆ ของผู้บริโภคไทย ในการเลือกซื้อประกันรถยนต์ คือ 1. ซ่อมอู่ ซ่อมศูนย์ ต่างกันยังไง? 2. จะเลือกซื้อประกันชั้น 1 ที่ไหนดี? และ 3. เคลมรอบคัน ทำได้ไหม?
ซึ่งมีจุดแข็ง คือ ไม่มีข้อจํากัดเรื่องค่า Commission จากบริษัทประกัน ทําให้สามารถเสนอข้อมูลเปรียบเทียบประกันรถยนต์ทุกรูปแบบ ให้ผู้ใช้งานได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่เชียร์ขายเจ้าใดเจ้าหนึ่ง
สิรวิชญ์ ฉายะวาณิชย์ Team Lead ของ Priceza Money เผยว่า ก่อนเกิดโควิด-19 จะพบว่าเทรนด์การซื้อประกันรถยนต์ของผู้บริโภค ไม่ได้มีความซับซ้อนเท่าไร เพราะราคามาตรฐานเดียวกัน เฉลี่ยอยู่ที่ 10,000-20,000 บาท/ปี
แต่การเกิดขึ้นของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคมีเกณฑ์พิจารณาในการเลือกซื้อประกันรถยนต์กันใหม่ เพราะไลฟ์สไตล์ที่เน้นอยู่ติดบ้านมากขึ้น และใช้งานรถน้อยลง
ทำให้บริษัทประกันเริ่มการทำตลาดด้วยการส่งทางเลือกใหม่ ๆ และเป็นที่มาของ 3 เทรนด์-แนวโน้มตลาดประกันภัยรถยนต์ของไทย ปี 2566
เริ่มจาก 1. Personalize Insurance หรือการซื้อประกันรถยนต์ ที่ออกแบบตามความต้องการใช้งานของผู้ใช้ อาทิ ประกันเติมไมล์ หรือ ประกันที่คุ้มครองตามระยะทางการขับขี่ หรือประกันเปิด-ปิด ที่คุ้มครองตามชั่วโมงขับขี่ เป็นต้น
โดยข้อดีของ Personalize Insurance คือมีราคาเฉลี่ยที่ถูกกว่าประกันรถยนต์แบบคุ้มครองจัดเต็มถึง 30-40% ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นคนเมือง
อ้างอิงข้อมูลจาก Google Trends ปี 2019-2021 พบว่าผู้บริโภคในตลาดประกันรถยนต์ของไทย เสิร์ชคีย์เวิร์ด “ประกันเปิด-ปิด” บน Google เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 72.79%
ทั้งการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นอีกปัจจัยเร่งสำคัญของเทรนด์ Personalize Insurance เพราะรถ EV จะมีแพลตฟอร์มที่สามารถเก็บข้อมูลการขับขี่ของผู้ใช้งานได้อย่างละเอียด และเกิดเป็นมูลค่าของชุดข้อมูล ที่ช่วยให้บริษัทประกันวางแผนทำเบี้ยประกันได้ตามความต้องการของผู้บริโภค
ส่วนการเติบโตของตลาดประกันรถยนต์ในกลุ่ม EV ด้วยความที่การซื้อรถ EV ในไทยปัจจุบันจะมาพร้อมข้อเสนอประกันที่ครอบคลุมการใช้งานจากผู้ผลิตอย่างน้อย 1 ปีอยู่แล้ว
จึงยังไม่ได้ครองแชร์ตลาดประกันรถยนต์ในไทยโดยรวมมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้งานรถยนต์สันดาป
แต่ด้วยระยะเวลาการใช้งานที่ผ่านเลยไป ทำให้อีกไม่นานหลังจากนี้ กลุ่มผู้ใช้รถ EV จะเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น กับตลาดประกันภัยรถยนต์ของไทยแน่นอน
เทรนด์ Personalize Insurance
ส่งผู้บริโภคเสิร์ช “ประกันเปิด-ปิด” บน Google พุ่งสูงสุด 72.79% |
|
ปี ค.ศ. | % ขยายตัวของผู้เสิร์ช |
2019 | 22.76% YoY |
2020 | 72.79% YoY |
2021 | -2.31% YoY |
ที่มา: Google Trends และ Priceza Money |
ส่วนเทรนด์ที่ 2. Direct to Customers หรือการขายประกันรถยนต์ตรงจากบริษัทประกัน
ก่อนอื่นต้องขอเล่าก่อนว่า ตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน สัดส่วนการขายประกันรถยนต์ส่วนใหญ่ถึง 90% จะเป็นการซื้อขายผ่านตัวแทนประกันรถยนต์ (Agent) หรือ นายหน้าประกันรถยนต์ (Broker) โดยบริษัทประกันรถยนต์ จะทําหน้าที่เป็น Back Office ให้กับตัวแทน และนายหน้าเท่านั้น
แต่ด้วยผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทําให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าต่าง ๆ ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เริ่มคุ้นเคยกับการซื้อออนไลน์มากขึ้น ส่งให้บริษัทประกันรถยนต์หลาย ๆ บริษัทมองเห็นโอกาสที่จะเข้าถึงลูกค้าโดยตรง ผ่านช่องทางออนไลน์ของตัวเอง ซึ่งจากสถิติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะเห็นได้เลยว่า การซื้อประกันรถยนต์ออนไลน์ โตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะตั้งแต่ปี 2019-2021 ผู้บริโภคมีการซื้อประกันรถยนต์ออนไลน์เพิ่มสูงสุด 223.41%
เทรนด์ซื้อประกันรถยนต์ออนไลน์
โตพุ่ง 223.41% ส่งผู้ประกอบการสบช่อง Direct to Customers |
|
ปี ค.ศ. | % ขยายตัวของผู้เสิร์ช |
2019 | 43.32% YoY |
2020 | 223.41% YoY |
2021 | -33.87% YoY |
ที่มา: คปภ. และ Priceza Money |
กอปรกับเทรนด์ Personalize insurance ทําให้ประกันรถยนต์กลุ่ม Direct to Customers ไม่ได้เป็นที่นิยมสําหรับตัวแทนและโบรกเกอร์มากนัก เพราะได้ค่านายหน้า (Commission) น้อยลงอย่างมาก
ทําให้เป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมากของบริษัทประกันรถยนต์ ซึ่งต้องพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับตัวแทน-นายหน้า ซึ่งเป็นช่องทางการขายหลัก ๆ ของบริษัทให้มากที่สุด
และเป็นเหตุให้ปัจจุบันช่องทางการขายประกันรถยนต์แบบ Direct to Customers ในไทย มีสัดส่วนราว ๆ 1% จากช่องทางการขายประกันรถยนต์ทั้งหมด
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีสัดส่วนการซื้อแบบ Direct to Customers เฉลี่ยสูงถึง 20% และในสหราชอาณาจักร (UK) สูงถึง 35% หมายความว่าเทรนด์ Direct to Customers ในไทย ยังมีโอกาสเติบโตอีกมหาศาล
ตลาดซื้อประกันรถยนต์
แบบ Direct to Customers ในไทย เทียบกับ 2 ประเทศผู้นำเทรนด์ |
|
ประเทศ | % ซื้อประกันรถยนต์กับบริษัท เทียบกับซื้อประกันรถยนต์ผ่านนายหน้า-โบรกเกอร์ |
ไทย | 1% |
สหรัฐอเมริกา | 20% |
สหราชอาณาจักร | 35% |
ที่มา: Priceza Money |
มาที่เทรนด์สุดท้ายอย่าง 3. พฤติกรรมการเลือกซื้อประกันรถยนต์ที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19 ของผู้บริโภคไทย โดยช่วงก่อนโควิด-19 ถึง ระหว่างโควิด-19 พฤติกรรมการเลือกซื้อประกันรถยนต์ของผู้บริโภค จะเลือกจากการเน้นราคาถูกเป็นหลัก เนื่องจากไม่ได้ตระหนักถึงความแตกต่างกันของบริษัทประกันแต่ละแห่ง
แต่พอถึงช่วงปลายปี 2021 เข้าปี 2022 เกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบมาจากโควิด-19 นั่นก็คือ ประกันโควิด-19 ที่ทําให้บริษัทประกันหลาย ๆ แห่งถึงกับต้องปิดกิจการ ทิ้งให้ลูกค้าที่เคลมประกันโควิด รอเงินค่าเคลมกันมาถึงปัจจุบัน
ส่งผลกระทบต่อความตระหนักถึงความสําคัญของบริษัทประกันภัยขึ้นมาทันที และมีราคาเบี้ยประกันรถยนต์ชั้น 1 ที่ผู้บริโภคเลือกโดยเฉลี่ย ในปี 2022 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 15,000-18,000 บาท
และการเลือกบริษัทประกันก่อนราคาก็น่าจะดําเนินต่อไปในปี 2023 แน่นอน ซึ่งทำให้บริษัทประกันเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน ก็จะต้องใส่ใจในเรื่องของบริการและการรับประกันคุณภาพ
แทนที่จะสนใจแต่ราคาถูกอย่างเดียว ส่วนบริษัทใหญ่ ๆ ก็จะได้เปรียบในการแข่งขันไปอีกสักพักแน่นอน
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



