ราว 2-3 ปีที่ผ่านมา ชิ้นส่วนเล็ก ๆ อย่าง ชิป กลายเป็นประเด็นใหญ่ระดับโลก เพราะสัดส่วนการผลิตถูกปรับเปลี่ยนอย่างรุนแรง ต้องเทไปให้ Smartphone, Mobile Device และคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก ที่จำเป็นอย่างมากช่วงสถานการณ์โควิด
จนเกิดความขาดแคลนและกระทบไปถึงสายการผลิตอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่าง ยานยนต์ ที่ต้องใช้ชิปในการประมวลผลเช่นกัน แถมยังมากกว่าในอดีตอีกด้วย เพื่อให้สอดรับกับความต้องการให้รถคู่ใจที่ฉลาดขึ้นของคนทั่วโลก แบบเดียวกับ Smart device ต่าง ๆ
ในสถานการณ์ที่สิ่งเล็ก ๆ ทวีความสำคัญขึ้นมานี้ ยังเป็นโอกาสให้เราได้รู้กันว่า ประเทศขนาดเล็กอย่าง ไต้หวัน คือเบอร์ใหญ่ในอุตสาหกรรมชิป เพราะ TSMC ของไต้หวันคือบริษัทผู้ผลิตชิปอันดับหนึ่งของโลก
ล่าสุด เนเธอร์แลนด์ ก็ขึ้นมาเป็นตัวละครสำคัญในอุตสาหกรรมชิป ที่มองข้ามไม่ได้เลยเช่นกัน โดย Advanced Semiconductor Material Internationals หรือ ASML ของเนเธอร์แลนด์ คือบริษัทผู้ผลิตเครื่องผลิตชิปรายใหญ่ ครองสัดส่วน 60% ของตลาดทั่วโลก
นอกจากนี้ ASML ยังเป็นบริษัทชั้นนำของวงการ ในฐานะผู้คิดค้นเทคโนโลยีขั้นสูงด้วยการใช้แสง UV (EUV) ในการผลิตชิป และสามารถทำเงินจากการขายให้ค่ายชิปหลายประเทศ โดยเฉพาะไต้หวัน ไปแล้วหลายเครื่อง คิดเป็นเงินมหาศาล
เพราะราคาเครื่องผลิตชิปด้วยเทคโนโลยี EUV ของ ASML นั้นราคาสูงถึงเครื่องละ 200 ล้านดอลลาร์ (ราว 6,950 ล้านบาท) และเครื่องรุ่นใหม่ราคาสูงขึ้นอีกเป็นเครื่องละ 300-350 ล้าน (ราว 10,000-12,000 ล้านบาท)
ทว่าจากสภาพการณ์ดังกล่าวทำให้เนเธอร์แลนด์ตกอยู่ท่ามกลางการขับเคี่ยวกันทางเทคโนโลยีระหว่างขั้วอำนาจโลกยุคนี้ อย่างสหรัฐฯ กับจีน
แน่นอนว่า สหรัฐฯ ทราบสถานการณ์ดีและไม่ชะล่าใจ โดยเมื่อปี 2018 ในยุคของอดีตประธานาธิบดี Donald Trump ได้บีบรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ให้ต้องรับลูก สั่งห้าม ASML ขายเครื่องผลิตชิปชั้นสูงที่มีเทคโนโลยี EUV ให้จีน
พอข้ามมาถึงยุคของประธานาธิบดี Joe Biden สหรัฐฯ ก็ยังรักษามาตรการกดดัน เนเธอร์แลนด์ ในเรื่องอุตสาหกรรมชิป เพื่อสกัดการพัฒนาชิปของจีนต่อไป ผ่านการสานต่อข้อตกลงของกระทรวงการต่างประเทศ พาณิชย์ และหน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐฯ กับเนเธอร์แลนด์
ทว่าต้องติดตามกันต่อไปว่า สถานการณ์ในอุตสาหกรรมชิป ที่เนเธอร์แลนด์เป็นเสือซุ่มนี้จะเดินหน้าไปในทิศทางใด หรือพลิกไปเข้าข้างจีนหรือไม่
เพราะขณะที่ทางสหรัฐฯ ย้ำกับประเทศยุโรป ซึ่งแน่นอนว่ารวมเนเธอร์แลนด์ด้วย ไม่ให้วางใจหรือหันไปสานสัมพันธ์กับจีน ทางเนเธอร์แลนด์กลับกล่าวว่า จีนคือคู่ค้าสำคัญ
แต่จากประเด็นที่เกี่ยวกับจีนส่งผลและเชื่อมโยงต่อภูมิรัฐศาสตร์ และความมั่นคงของชาติ เนเธอร์แลนด์จึงรับปากว่าจะดำเนินความสัมพันธ์กับจีนอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก/cnbc
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



