Ajinomoto ชูรสญี่ปุ่น ทำไมจึงทำเงินได้จากวิกฤตชิปขาดแคลน

แม้ไม่มีการทำป้ายใหญ่ยักษ์ติดไว้ตามอาคารสำนักงานหรือหน้าโรงงาน แต่ “ทุกวิกฤตมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ” คงเป็นประโยคที่เหล่าผู้บริหารบริษัทและหัวเรือใหญ่ของแบรนด์ประวัติยาวนาน ท่องจำไว้ขึ้นใจ

พร้อมใช้เป็นดั่ง GPS นำทาง ช่วยพาให้ยืนระยะผ่านอุปสรรคมาได้ และยิ่งถ้าบริษัทไหนมีผู้บริหารที่มองการณ์ไกล เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจได้ก่อนใคร ก็คงพร้อมเต็มที่ในการพาองค์กรคว้าโอกาสและโกยเงินก้อนใหญ่จากวิกฤต

เหมือนAjinomoto (อายิโนะโมะโต๊ะ) ที่ไม่น่าเชื่อว่าทำเงินจากวิกฤตชิปด้วย ทั้งที่เป็นบริษัทกลุ่มอาหารและเครื่องปรุงรส ไม่ใช่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีแต่อย่างใด

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ความบังเอิญ โดยอาวุธลับที่ทำให้Ajinomotoโกยเงินได้เป็นกอบเป็นกำในวิกฤตชิปทั่วโลกที่สืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด ตลอด 2-3 ปีมานี้ คือสารAjinomoto Buildup Film หรือ ABF ที่แผนกเคมีพัฒนาขึ้นในยุค 90 เพื่อนำไปใช้เคลือบชิปในคอมพิวเตอร์

ลดการเสียดสี ลดการนำไฟฟ้า (ป้องกันไฟช็อต) และป้องกันความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดกับชิปและแผงวงจร

ABF จากหัวคิดของแผนกเคมี และการนำกรดอมิโนจากกระบวนการผลิตผงชูรสมาต่อยอดเพื่อข้ามไปทำเงินจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนี้ ได้รับความสนใจจากลูกค้ารายแรก ๆ ในปี 1999 แต่จากนั้นก็ยังทำเงินได้ไม่มากเท่าไร เพราะยังจำกัดอยู่ในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์

ทว่าเมื่อตลาดอุปกรณ์เทคโนโลยีประเภทอื่น ๆ อย่าง Smartphone, Mobile Device รวมถึงเครือข่ายโทรคมนาคม รุ่นแล้วรุ่นเล่าขยายตัว ค่ายชิปก็ต้องผลิตชิปมากขึ้นเพื่อป้อนกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีประเภทต่างๆ

ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตลอด 2-3 ปีมานี้ เพราะ Smartphone, Mobile Device และคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก ทวีความจำเป็น จนกลายเป็นวิกฤตชิป โดยสถานการณ์นี้ก็ทำให้ยอดผลิตสาร ABF ของ Ajinomoto จนทำเงินได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ปี 2021 Ajinomotoทำกำไรจากปีกธุรกิจผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและเทคโนโลยีซึ่งมีสายการผลิตสาร ABF เป็นพระเอกได้เพิ่มขึ้น โดยคิดเป็น 23% จากกำไรในทุกกลุ่มธุรกิจของAjinomoto  

และมาปีนี้ ก็เป็นกำลังสำคัญให้หุ้นของบริษัทขึ้นมา 24% ถือว่ามากสุดในรอบหลายสิบปี กว่า 30 ปีเลยทีเดียว

แบบเดียวกับขาขึ้นหลังคิดค้นยาต้านมะเร็ง Lentinen สำเร็จและออกวางจำหน่ายในปี 1987 ซึ่งคนทั่วโลกกำลังตื่นตัวเรื่องสร้างภูมิคุ้มกัน เพราะตื่นกลัวโรค AIDS พอดี   

การพลิกทำเงินจากวิกฤตชิปครั้งนี้ ยังชดเชยยอดขายที่หายไปจากกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องปรุงของAjinomoto หลังร้านอาหารทั่วโลกต้องพักกิจการตลอดช่วงสถานการณ์โควิดได้อีกด้วย โดยAjinomotoคาดว่าเมื่อถึงปี 2024 กำลังผลิตสาร ABF จะเพิ่มจากปัจจุบันอีก 2 เท่าตัว

ด้านนักวิเคราะห์หุ้นคาดการณ์ไปไกลกว่านั้นว่า อีกไม่กี่ปีจากนี้ Ajinomotoอาจทำกำไรจากปีกธุรกิจนอกกลุ่มอาหารได้เพิ่มเป็น 60% จนแซงกลุ่มธุรกิจอาหารทั้งหมด ทั้งที่เป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทเมื่อกว่า 100 ปีก่อน

และมีความเป็นไปได้ว่าในระยะยาวAjinomotoอาจเปลี่ยนจากบริษัทอาหารไปเป็นบริษัทเคมี   

ขาขึ้นครั้งนี้ทำให้ Ajinomoto เป็น 1 ใน 3 บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นที่สามารถปรับตัวจนรอดพ้นจากวิกฤตมาได้ แบบเดียวกับที่ Fujifilm ใช้องค์ความรู้ด้านเคมีจากฟิล์มเพื่อขยายสู่ธุรกิจเวชภัณฑ์กับยา

ซึ่งเมื่อรวมกับปีกธุรกิจ Solution ด้านภาพก็ช่วยให้รอดพ้น Digital disruption ที่ผู้คนล้างอัดภาพและถ่ายรูปกล้องฟิล์มกันน้อยลง เพราะถ่ายภาพผ่าน Smartphone สะดวกกว่ามาได้ 

ส่วนฝ่าย Olympus ก็รอดพ้นวิกฤตเดียวกันมาได้ด้วยการหันไปให้น้ำหนักการผลิตกล้องส่องตรวจภายในร่างกายสำหรับวินิจฉัยทางการแพทย์มากขึ้น แต่ก็รักษาธุรกิจกล้องเอาไว้พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีให้ตรงความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันมากขึ้น/nikkei

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online