โลกจะยังได้เห็นคอนเทนต์เกาหลีใต้อีกมากมายช่วงไม่กี่ปีจากนี้ เพราะภาครัฐยังคงเดินหน้าสนับสนุนและผลักดันเพื่อให้เป็นกำลังหลักโกยเงินเข้าประเทศต่อไป
รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศว่าปีนี้จะทุ่มงบ 622 ล้านดอลลาร์ (ราว 21,100 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนบริษัทผลิตเนื้อหารายการ (Content) รูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อให้มีคอนเทนต์ใหม่ ๆ ออกมาอีกอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความเชื่อมั่นว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อภาคเศรษฐกิจ
จำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากเงิน 416 ล้านดอลลาร์ (ราว 14,100 ล้านบาท) ของปี 2021 และยังมากสุดเท่าที่เคยมีมา หลังปี 2021 ธุรกิจคอนเทนต์ทำให้คอนเทนต์บันเทิงของเกาหลีใต้อันประกอบไปด้วย ภาพยนตร์ ซีรีส์ และเพลง หรือที่เรียกรวมว่า K-pop ขยายพื้นที่ในการตีตลาดโลกได้มากขึ้น
จนทำเงินเข้าประเทศได้สูงถึง 12,400 ล้านดอลลาร์ (ราว 420,000 ล้านบาท) แซงหน้าสินค้าส่งออกประเภทอื่น ๆ ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน แบตฯ รถ EV และจออุปกรณ์ต่าง ๆ ในปีเดียวกันแบบทิ้งห่าง
นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังเตรียมไว้อีกก้อนใหญ่ เพื่อพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีในแวดวงคอนเทนต์อีก 3 ปีจากนี้ ขณะเดียวกันก็มีแผนขยายสาขาของสถาบันสอนภาษาเกาหลี King Sejong ในต่างประเทศ ที่ปัจจุบันมีอยู่ 244 แห่ง ให้เพิ่มเป็น 270 แห่งในปีนี้อีกด้วย
แคมเปญดังกล่าวของรัฐบาลเกาหลีใต้ชุดนี้ถือเป็นการสานต่อแผนขยายอิทธิพลประเทศผ่านอำนาจอ่อน (Soft power) ด้วยสินค้าทางวัฒนธรรมตั้งแต่เสื้อผ้าไปจนถึงอาหาร และที่ขาดไม่ได้คือ K-pop ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน จากรัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก โดยเฉพาะชาติตะวันตกยังต้องยอมรับ
หลักฐานความสำเร็จของ Soft power เกาหลีใต้บนเวทีโลก คือความดังของวง BTS ซีรีส์ Squid Game และการคว้ารางวัลออสการ์ของภาพยนตร์ Parasites รวมไปถึงยอดขายถล่มทลายของ Smartphone แบรนด์ Samsung
และการขึ้นมาเป็นเครือยานยนต์ใหญ่อันดับ 5 ในโลกของ Hyundai-Kia จนมีเงินเหลือไปซื้อ Boston Dynamics บริษัทหุ่นยนต์สัญชาติอเมริกันที่ดังจากหุ่นยนต์ตีลังกาและหุ่นยนต์สุนัขสีเหลืองมาไว้ใต้ชายคา
ความน่าสนใจของแคมเปญนี้ยังอยู่ที่การทำคู่ขนานไปกับการฟื้นเศรษฐกิจหลังพ้นสถานการณ์โควิดผ่านแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ (Visit Korea Years) ใต้กรอบเวลา 5 ปีซึ่งจะเริ่มขึ้นในปีนี้ ท่ามกลางคาดการณ์ว่าคงมีเงินเข้าคลังอีกก้อนใหญ่จากนักท่องเที่ยวที่มากถึงปีละ 30 ล้านคน
แผนต่อยอดความสำเร็จจาก Soft power ของเกาหลีใต้ยังไม่หยุดแค่นั้น โดยในปีนี้ จะได้มีการออกวีซ่า K-culture กับ Workation เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่อยากมาศึกษาหาความรู้อุตสาหกรรม K-pop กับกลุ่มที่ชอบทำงานควบเที่ยว
และทำให้การยื่นวีซ่าเป็นผู้พำนักถาวรที่สามารถขยับขึ้นไปสู่การโอนสัญชาติเป็นพลเมืองเกาหลีใต้ง่ายขึ้น ช่วยให้สามารถอยู่ทำงานหรือลงหลักปักฐานในเกาหลีใต้ต่อได้เลยหลังจบปริญญาตรีหรือปริญญาเอกสาขาเทคโนโลยี
ซึ่งในมุมของรัฐบาลเกาหลีใต้นี่จะช่วยคลายวิกฤตแรงงานจากปัญหาคนสูงวัยต่อสัดส่วนประชากรมากเกินไป และเป็นการรั้งตัวคนระดับหัวกะทิจากทั่วโลกให้อยู่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย
ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจหลังเกาหลีใต้ประกาศทุ่มงบก้อนใหญ่สนับสนุนแวดวงคอนเทนต์ โดยเมื่อไม่นานมานี้ ฮิโระคาสุ โคเระเอดะ ผู้กำกับภาพยนตร์ญี่ปุ่นรุ่นใหญ่ ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่น หันมาสนับสนุนแวดวงคอนเทนต์ในประเทศอย่างจริงจัง แบบเกาหลีใต้
เพราะรู้สึกเจ็บปวดที่แวดวงคอนเทนต์ถูกละเลย จนคนรุ่นใหม่ ๆ ในวงการต้องทำหลายงานเพื่อความอยู่รอด ต่างจากเกาหลีใต้ที่รัฐบาลส่งเสริมเต็มที่จนคอนเทนต์เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างมากทั่วโลกในปัจจุบัน/koreatimes
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



