iPhone สมาร์ทโฟนที่ สตีฟ บัลเมอร์ แห่งไมโครซอฟท์ เชื่อว่าไม่มีวันขายได้

9 มกราคม 2007 ตามเวลาสหรัฐอเมริกา คือวันที่ไอโฟนเครื่องแรกเปิดตัวสู่สาธารณชน โดยสตีฟ จ็อบส์ ที่งาน MacWorld 2007

พร้อมจำหน่ายอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 29 มิถุนายนปีเดียวกันที่สหรัฐอเมริกา

การเปิดตัวของไอโฟนในเวลานั้นนับว่าแตกต่างจากสมาร์ทโฟนเจ้าตลาดอย่าง BlackBerry ที่มีแป้นกด ที่ได้รับความนิยมในเวลานั้นอย่างสิ้นเชิง

จน สตีฟ บัลเมอร์ แห่งไมโครซอฟท์ เคยกล่าวว่า ไอโฟนไม่มีวันที่จะขายได้

แต่แล้ววันแรกของการขายไอโฟนกลับสร้างปรากฏการณ์ผู้บริโภคต่อคิวจับจองเป็นเจ้าของข้ามคืน

พร้อมกับยอดจำหน่ายครบล้านเครื่องภายใน 74 วัน หลังเปิดขายวันแรก

ได้ชื่อว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมประจำปีโดยนิตยสารไทม์

สิ้นเดือนกันยายน 2007 ตามปฏิทินปิดปีของแอปเปิล ไอโฟนสามารถสร้างยอดจำหน่าย 1.39 ล้านเครื่อง คิดเป็นรายได้ 630 ล้านดอลลาร์ จากรายได้รวมทั้งหมดของแอปเปิล 6,220 ล้านดอลลาร์

จากความสำเร็จของไอโฟนรุ่นแรก ในปีต่อมาแอปเปิลเปิดไอโฟนรุ่นใหม่ ๆ สร้างตลาดต่อเนื่องทุกปี พร้อมกับยอดจำหน่ายเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปี 2008 ยอดขาย 11.63 ล้านเครื่อง สร้างรายได้ให้กับแอปเปิล 6,742 ล้านดอลลาร์

ปี 2009 ยอดขาย 20.73 ล้านเครื่อง รายได้ 13,033 ล้านดอลลาร์

โดยปี 2010 ยอดขาย 33.99 ล้านเครื่อง รายได้ 25,179 ล้านดอลลาร์

ปี 2011 ยอดขาย 72.29 ล้านเครื่อง รายได้ 45,998 ล้านดอลลาร์

ต่อมาปี 2012 ยอดขาย 125.05 ล้านเครื่อง รายได้ 78,692 ล้านดอลลาร์

ส่วนปี 2013 ยอดขาย 150.26 ล้านเครื่อง รายได้ 91,279 ล้านดอลลาร์

ปี 2014 ยอดขาย 169.22 ล้านเครื่อง รายได้ 101,991 ล้านดอลลาร์

สำหรับปี 2015 ยอดขาย 231.22 ล้านเครื่อง รายได้ 155,041 ล้านดอลลาร์

ก่อนที่ยอดขายจะตกลงในปี 2016 ซึ่งเกิดจากยอดขายในประเทศจีนที่ลดลงจากการเข้ามาแข่งขันในตลาดของสมาร์ทโฟนแบรนด์จีน โดยเฉพาะ OPPO R9 ผู้ครองแชมป์อันดับหนึ่งในตลาดสมาร์ทโฟนจีน เขี่ยไอโฟนลงจากแชมป์เบอร์หนึ่งในตลาดสมาร์ทโฟนจีน ด้วยยอดขาย OPPO R9 ที่ 17 ล้านเครื่อง ส่วนไอโฟนทำได้ 12 ล้านเครื่องเท่านั้น

เนื่องจาก OPPO R9 เป็นสมาร์ทโฟนที่มีฟีเจอร์ฟาสต์ชาร์จ ถ่ายรูปเซลฟี่สวย และมีราคาอยู่ในระดับมิดเอนด์ดึงดูดผู้บริโภคชาวจีนที่นิยมซื้อสมาร์ทโฟนระดับราคานี้เป็นหลัก

และค่อยกลับขึ้นมาอีกครั้ง ในปี 2017

และลงอีกทีในปี 2019, 2020 จากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ  ที่เริ่มต้นในกลางปี 2018 และดุเดือดอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้ชาวจีนซึ่งเป็นตลาดของไอโฟนส่วนหนึ่งบอยคอดสินค้าของแอปเปิล ที่เป็นแบรนด์ของสหรัฐอเมริกา

พร้อมกับความท้าทายบนการแข่งขันที่สูงของแบรนด์สมาร์ทโฟนจากจีน ที่มีฟีเจอร์โดดเด่นกว่าไอโฟนในราคาที่ย่อมเยากว่า

ในปี 2016 ไอโฟนมียอดขายเหลือเพียง 211.88 ล้านเครื่อง รายได้ 136,700 ล้านดอลลาร์

ปี 2017 ยอดขาย 216.76 ล้านเครื่อง รายได้ 139,337 ล้านดอลลาร์

ปี 2018 ยอดขาย 217.72 ล้านเครื่อง รายได้ 164,888 ล้านดอลลาร์

โดยปี 2019 รายได้ 142,381 ล้านดอลลาร์

ส่วนปี 2020 137,781 ล้านดอลลาร์

ต่อมาปี 2021 รายได้ 191,973 ล้านดอลลาร์

และปี 2022 รายได้ 205,489 ล้านดอลลาร์ ส่วนยอดขาย 4 ปีหลังไม่มีรายงานจากแอปเปิล

การเติบโตของไอโฟนนอกเหนือจากความแตกต่างจากคู่แข่งในช่วงเวลาแรกของการลงเล่นตลาด และความเสถียรของสินค้า

ไอโฟนยังวางกลยุทธ์สินค้าในรูปแบบ Ecosystem ที่เชื่อมโยงการใช้งานกับสินค้าอื่น ๆ ของแอปเปิลได้อย่างง่าย และวางตัวเองเป็นสินค้าพรีเมียม สร้างความรู้สึกอยากเป็นเจ้าของและบ่งบอกถึงตัวตนผู้ใช้งาน

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งราคาผ่านตัวเลือกในสเปกที่หลากหลายเพื่อดึงดูดให้ผู้สนใจเลือกซื้อตามความต้องการ

และการมีราคาที่หลากหลายเป็นเหมือนจิตวิทยาหนึ่งที่ผลักดันให้ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินมากกว่าเดิมเพื่อให้ได้สินค้าที่มีสเปกดีกว่าอีกด้วย

รวมถึงกลยุทธ์ไม่ลดราคาสินค้าเมื่อจำหน่ายไปสักพักหนึ่งเหมือนกับแบรนด์สมาร์ทโฟนอื่น ๆ ที่เคยทำมาในอดีต ซึ่งการลดราคาสินค้าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มมองว่ารอสินค้าออกไปสักพัก ค่อยตามซื้อจะได้ราคาที่ถูกกว่า

พร้อมกับใช้กลยุทธ์การสื่อสารในรูปแบบที่ง่าย ๆ บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของไอโฟนให้เห็นภาพ โดยไม่ได้ยัดเยียดสเปกให้กับผู้บริโภค บนภาพลักษณ์ที่ให้ผู้บริโภครู้สึกเป็นผู้ใช้ที่มีความชิคในตัวเอง

อย่างไรก็ดี นับจากวันแรกที่ไอโฟนลืมตาดูโลก ถึงวันนี้ ไอโฟนสามารถลบคำสบประมาทของ สตีฟ บัลเมอร์ จนมีอายุมากถึง 16 ปี พร้อมกับยอดจำหน่ายสะสมเกิน 1,000 ล้านเครื่องไปเมื่อปี 2016 เป็นที่เรียบร้อย

และวันนี้เราคงต้องร้องเพลงว่า Happy Birthday iPhone

 

อ้างอิง12345

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online