ในช่วงตรุษจีนตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม–27 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ยอดรับชำระของอาลีเพย์เพิ่มขึ้น 150% ทั่วโลก
โดยในภูมิภาคเอเชียนอกจากฮ่องกงและมาเก๊า ประเทศไทยมีปริมาณรับชำระของอาลีเพย์สูงที่สุด
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ของ “Revenge Travel” หรือ “การเที่ยวล้างแค้น” ของชาวจีนที่ต้องการปลดปล่อยความรู้สึกอัดอั้นจากการไม่ได้เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศมาเกือบ 3 ปี
กลายเป็นโอกาสหลังวิกฤตที่สำคัญของ อาลีเพย์ (ประเทศไทย) ที่จะจับมือกับเคทีซีเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจร้านค้ารับมือกับกองทัพนักช้อปรายใหญ่ของโลก
เทศกาลตรุษจีนปีนี้ ผ่านไปแล้วยังมีช่วงเวลาทองอีกหลายครั้งที่จะเป็นช่วงพีกของการเดินทางเข้ามาเมืองไทยของชาวจีน
ตามไปดูกลยุทธ์ของเคทีซี-อาลีเพย์ และศึกษาพฤติกรรมใหม่ ๆ ในการท่องเที่ยวของชาวจีนที่มาเมืองไทยหลังเปิดประเทศเป็นกลุ่มเเรก ๆ ว่าต่างไปจากเดิมอย่างไรบ้าง
ททท. คาดว่าในไตรมาสแรกของปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาเยือนประเทศไทยกว่า 300,000 ล้านคน และคาดว่าแตะ 5,000,000 ล้านคน ในสิ้นปี 2566
จากข้อมูลที่ บริษัท อาลีเพย์ (ประเทศไทย) จำกัด รวบรวมไว้พบว่า
8 เทรนด์ของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ต่างไปจากเดิม
1. มีการซื้อสินค้าไฮเอนด์แบรนด์เนม การดูแลสุขภาพเเละความงามผ่านอาลีเพย์ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
2. เป็นกลุ่ม GEN Z อายุเฉลี่ย 25-30 ปี และกลุ่มมิลเลนเนียล อายุ 30-40 ปี
3. มาแบบเป็นกลุ่มกันเอง คาดว่าแบบกรุ๊ปทัวร์จะมากขึ้นหลังเดือนกุมภาพันธ์
4. เป็นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการความสะดวกสบายและทำทุกอย่างผ่านสมาร์ตโฟนทั้งหมด
5. มีการพักโรงแรมระดับ 5 ดาวเช่ารถขับเอง
6. จากเดิมที่ใช้เวลา 5-7 วัน เป็น 4-5 วัน แม้น้อยวัน แต่เที่ยวหนักจ่ายสูงกว่าก่อนเกิดโควิด
7. เปลี่ยนมาใช้บริการร้านค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น สั่งของให้มาส่งที่โรงแรมเลย หรือส่งกลับเมืองจีนเลย
8. ยอดค่าใช้จ่ายที่ผ่านอาลีเพย์จะสูงขึ้นกว่าเดิมประมาณ 20,000 บาทต่อคนต่อทริป
เคทีซีเตรียมปั้นพอร์ตแสนล้าน
ในปี 2565 พอร์ตธุรกิจร้านค้ารับชำระของเคทีซี (Merchant Acquiring Business) มีปริมาณรับชำระเพิ่มขึ้น 20% ตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะในจังหวัดที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมไปท่องเที่ยว ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่และภูเก็ต
เนาวรัตน์ กีรติเกษมสุข ผู้บริหารสูงสุด สายงานบริหารร้านค้าสมาชิก “เคทีซี” หรือ บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
“คาดหวังว่าสิ้นปี 2566 นี้ หลังจีนประกาศเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 จะเป็นแรงผลักให้บริการรับชำระเคทีซี – อาลีเพย์ ซึ่งเคทีซีเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการรายใหญ่ มีโอกาสเติบโตได้อีก”
โดยเคทีซีตั้งเป้ายอดบริการรับชำระผ่านธุรกิจร้านค้าของเคทีซีไว้ที่ 100,000 ล้านบาท หรือเติบโตไม่น้อยกว่า 20% เมื่อเทียบกับปี 2565″
ปัจจุบันเคทีซีมีร้านค้าที่รับบริการชำระด้วยอาลีเพย์ (Alipay) กว่า 5,440 ร้านทั่วประเทศ โดยสามารถรองรับการชำระค่าสินค้าและบริการของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาใช้จ่ายกับร้านค้าในประเทศไทยได้ ทั้งร้านค้าที่มีหน้าร้านและร้านค้าออนไลน์ในหลากหลายธุรกิจ อาทิ ธุรกิจร้านอาหาร ช้อปปิ้งมอลล์ ร้านขายของฝาก ของที่ระลึก และโรงแรมที่พัก
“การเปิดประตูต้อนรับ นักช้อปรายใหญ่กลับสู่ประเทศไทย หลังห่างหายไปเกือบ 3 ปี จากการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นที่คาดหวังว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจบริการต่าง ๆ และขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อีกทางหนึ่ง เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มโอกาสทางการขายให้กับร้านค้าทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน ด้วยบริการรับชำระด้วยอาลีเพย์ กับเคทีซี”
อาลีเพย์-เคทีซี สามารถตอบโจทย์ร้านค้าด้วยทีมงานช่วยนำข้อมูลสินค้าหรือบริการ พร้อมที่ตั้งของร้านค้าอัปโหลดผ่านแพลตฟอร์มอาลีเพย์ที่มีระบบนำทาง (Navigator) เพื่อประชาสัมพันธ์ร้านค้าสมาชิกของเคทีซีให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และช่วยให้ผู้ใช้อาลีเพย์สามารถค้นหาที่ตั้งร้านค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยร้านค้าสมาชิกเคทีซีจะได้รับเงินในวันถัดไป พร้อมบริการการดูแลทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง (24 x7)”
“อาลีเพย์ได้เตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทั้งจัดกิจกรรมฝึกอบรมให้กับพนักงานหน้าร้าน พร้อมทั้งขยายร้านค้าที่รองรับอาลีเพย์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่และภูเก็ต”
พร้อมกับได้จัดแคมเปญโปรโมชั่นต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องด้วย
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



