CENTEL เผย Q4/2565 ธุรกิจโรงแรม กำไรกลับมาแซง ธุรกิจอาหาร สะท้อนท่องเที่ยวมูฟออนโควิดเต็มสูบ เดินหน้าเปิดโรงแรมใหม่ ฉลอง 40 ปี ในไทย 5 แห่ง และ เซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ณ ย่านนัมบะ เมืองโอซาก้า 1 ก.ค.นี้   

 

ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา หรือ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัล พลาซา จำกัด (มหาชน) – CENTEL เผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 4/2565 ซึ่งเป็นปีที่ธุรกิจโรงแรมทั้งในไทย และทั่วโลก กลับมาฟื้นตัวอยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดโควิด-19

ทาง CENTEL มีรายได้รวมธุรกิจโรงแรม-อาหาร 5,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% และมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 1,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% จากไตรมาส 4/2564 โดย % EBITDA Margin อยู่ที่ 28% เพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อน

 

และส่งให้ CENTEL มีกำไรสุทธิ 498 ล้านบาท หรือเติบโต 228% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

แบ่งเป็น ธุรกิจโรงแรม ไตรมาส 4/2565

 

รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมทั้งหมด (RevPar) เพิ่มขึ้น 107% อยู่ที่ 3,473 บาท จากการเพิ่มของอัตราการเข้าพักเฉลี่ยจาก 33% ในไตรมาส 4/2564 เป็น 68% ในไตรมาส 4/2565 ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) ทรงตัวเทียบปีก่อน ที่ 5,091 บาท

 

ไตรมาส 4/2565 ธุรกิจโรงแรมมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,363 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 117% จากปีก่อน โดยมีกำไรขั้นต้นจำนวน 1,314 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 121% และมี EBITDA จำนวน 899 ล้านบาท โดย % EBITDA Margin ที่ 38% เพิ่มขึ้นเทียบปีก่อน (ไตรมาส 4/2564: 27%)

 

มีกำไรสุทธิ 359 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 31 ล้านบาท หรือดีขึ้น 1,258%

 

ธุรกิจอาหาร ไตรมาส 4/2565

 

มีการเติบโตของยอดขายของสาขาเดิม (%SSS) 12% และภาพรวมอัตราการเติบโตจากยอดขายรวม (%TSS) อยู่ที่ 18% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ณ สิ้นไตรมาสที่ 4/2565 มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 1,580 สาขา เพิ่มขึ้น 197 สาขา เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาส 4/2564 รายได้จากธุรกิจอาหารรวม 3,139 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เทียบปีก่อน

 

มีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) อยู่ที่ 632 ล้านบาท ลดลง 8% เทียบกับปีก่อน โดยอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้รวม (% EBITDA) อยู่ที่ 20% ลดลงเทียบปีก่อน (ไตรมาส 4/2564: 26%)

 

เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ส่วนหนึ่งมาจากค่าใช้จ่ายสืบเนื่องจากการขยายสาขา

 

มีกำไรสุทธิ 139 ล้านบาท ลดลง 44 ล้านบาท หรือลดลง 24% จากอัตราการทำกำไรที่ปรับตัวลง เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ภาพรวมผลการดำเนินงานทั้ง ธุรกิจโรงแรม-อาหาร ปี 2565

 

ปี 2565 CENTEL มีรายได้รวม 18,216 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% และมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 4,411 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120% เทียบปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 398 ล้านบาท หรือเติบโต 123% (เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งขาดทุนสุทธิ 1,734 ล้านบาท)

 

แบ่งเป็น ธุรกิจโรงแรม ปี 2565

 

ภาพรวมอัตราการเข้าพัก (OCC) เพิ่มขึ้น จาก 19% เป็น 52% และราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่มขึ้น 7% เทียบปีก่อน เป็น 4,791 บาท ส่งผลให้รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) เพิ่มขึ้น 193% เทียบปีก่อน เป็น 2,486 บาท ปี 2565

 

มีรายได้รวมอยู่ที่ 6,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 180% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงิน (EBITDA) จำนวน 1,796 ล้านบาท (ปี 2564: ขาดทุน 494 ล้านบาท) เติบโต 464% และมี % EBITDA Margin อยู่ที่ 27% ดีขึ้นเทียบปีที่ผ่านมา (ปี 2564: -21%)

 

ขาดทุนสุทธิจำนวน 161 ล้านบาท ขาดทุนลดลงเทียบปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 1,945 ล้านบาทในปี 2564 หรือปรับตัวดีขึ้น 92% ผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปี 2565

 

สืบเนื่องจากการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของโรงแรมระดับห้าดาวและระดับลักซ์ชัวรี่ (Luxury) ในสถานที่ท่องเที่ยวหลัก โดยเฉพาะกรุงเทพฯ, พัทยา, ภูเก็ต และเกาะสมุย

 

ธุรกิจอาหาร ปี 2565

 

ยอดขายสาขาเดิม (SSS) มีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% และมีอัตราการเติบโตรายได้รวม (TSS) เฉลี่ย 26% รายได้จากธุรกิจอาหารรวม 11,675 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% เทียบปี 2564 มีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) อยู่ที่ 2,615 ล้านบาท เติบโต 5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้รวม (% EBITDA) อยู่ที่ 22%

 

มีกำไรสุทธิ 559 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 348 ล้านบาท เทียบปีก่อน หรือเติบโต 165% โดยกลุ่มแบรนด์หลักที่ผลการดำเนินงานฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่องเทียบปีก่อน คือ เค เอฟ ซี, อานตี้แอนส์, โอโตยะ และเปปเปอร์ลันช์

 

ขณะที่ ภาพรวมพอร์ตของ CENTEL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565

 

มีโรงแรมภายใต้การบริหารงานทั้งสิ้น จำนวน 92 โรงแรม (19,348 ห้อง) แบ่งเป็น โรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 50โรงแรม (10,406 ห้อง) และโรงแรมที่กำลังพัฒนา 42โรงแรม (8,942 ห้อง) ในส่วน 50 โรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วนั้น 19 โรงแรม (5,051 ห้อง) เป็นโรงแรมที่เซ็นทารา เป็นเจ้าของ และ 31 โรงแรม (5,355 ห้อง) เป็นโรงแรมที่อยู่ภายใต้สัญญาบริหาร

 

ธุรกิจอาหาร มีจำนวนร้านอาหารที่เปิดดำเนินการรวม 1,580 สาขา ดังนี้ 1.เคเอฟซี (319), 2.มิสเตอร์โดนัท (469), 3.โอโตยะ (47), 4.อานตี้แอนส์ (209), 5.เปปเปอร์ลันช์ (51), 6.ชาบูตง ราเมน (17), 7.โคลด์สโตน ครีมเมอรี่ (16), 8.โยชิโนยะ (31), 9.เดอะ เทอเรส (7), 10.เทนยะ (12)

 

11.คัตสึยะ (60), 12.อร่อยดี (30), 13.อาริกาโตะ (185), 14.เกาลูน (1), 15.แกร๊บคิทเช่น บาย เอเวอรีฟู้ด (18), 16.สลัดแฟคทอรี (30), 17.บราวน์ คาเฟ่ (11), 18.คาเฟ่ อเมซอน – เวียดนาม (18), 19.ส้มตำนัว (5) และ 20.ชินคันเซ็น ซูชิ (44)

 

แผนการดำเนินงาน ปี 2566 นับเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี ของโรงแรมและรีสอร์ทในเครือ CENTEL ในประเทศไทย โดยมี แผนการขยายโรงแรมในไทย ปี 2566 เพิ่ม 5 แห่ง ได้แก่

 

– จ.อุบลราชธานี จำนวน 160 ห้องพัก (เปิดให้บริการ วันที่ 10 มีนาคม 2566)

 

– จ.ระยอง จำนวน 200 ห้องพัก (เปิดให้บริการ ไตรมาส 3/2566),

 

– จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 110 ห้องพัก (เปิดให้บริการ ไตรมาส 3/2566),

 

– จ.อยุธยา จำนวน 224 ห้องพัก (เปิดให้บริการ ไตรมาส 4/2566)

 

– เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 61 ห้องพัก (เปิดให้บริการ ไตรมาส 3/2566)

 

รวมถึงการลงนามสัญญาบริหารโรงแรมเพิ่มอีก 5 แห่งในไทย ที่สุราษฎร์ธานี, หาดใหญ่, กระบี่ และ เชียงราย

 

ส่วนของการเติบโตในตลาดต่างประเทศ CENTEL จะเปิดให้บริการ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า โรงแรมแห่งแรก ภายใต้แบรนด์เซ็นทาราแกรนด์ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ ลักซ์ชัวรี่แบบเริ่มต้น (Upper Upscale) ตั้งอยู่ใจกลาง ย่านนัมบะ เมืองโอซาก้า มีความสูง 33 ชั้น พร้อมห้องพักจำนวน 515 ห้อง โดยจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ วันที่ 1 กรกฎาคม 2566

นอกจากนั้น CENTEL ยังตั้งเป้าลงนามสัญญาบริหารโรงแรมใหม่ เพิ่มอีก 10 แห่ง ณ จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวสำคัญต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ อาทิ เวียดนาม และกาตาร์

 

โดยกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของ CENTEL ในตลาดต่างประเทศ คือ การลงนามสัญญาบริหารเพื่อเปิดให้บริการโรงแรมในประเทศกลุ่มอาเซียน อาทิ สปป.ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม

 

รวมถึงการจับมือร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทชั้นนำในจีน เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยมีกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางเป็นตลาดหลักของ CENTEL

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรม มีแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงปัจจัยบวกการเริ่มเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เร็วกว่าคาด แต่ CENTEL ก็ยังคงต้องติดตาม

 

และบริหารจัดการต้นทุนอาหาร พลังงาน และค่าจ้างแรงงานที่มีการปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์

 

ทั้งนี้ CENTEL ได้มีการวางแผนเพื่อลดผลกระทบต่อการปรับตัวขึ้นของต้นทุนดังกล่าว เช่น การวางแผนในการเจรจาต่อรองกับผู้ขายวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง, หาแหล่งวัตถุดิบทดแทน, การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เพื่อลดค่าไฟฟ้า

 

การจัดสรรกำลังบุคลากรวิถีใหม่ รวมถึงแผนการจ่ายคืนเงินต้นก่อนกำหนด สำหรับเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลดผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน