ASML และ TSMC ทำความรู้จักสองบริษัทสำคัญต่างซีกโลก ในอุตสาหกรรมชิป

ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ระดับโลก ตัวละครย่อมมีมากมาย และบ่อยครั้งก็เผยให้เราได้เห็นว่า บริษัทที่คนนอกอุตสาหกรรมแทบไม่รู้จักเลยนั้น แท้จริงแล้วสำคัญมากแค่ไหน

ทั้งต่ออุตสาหกรรมที่สังกัดอยู่ ประเทศต้นกำเนิด ไปจนถึงสายพานการผลิตทั้งระบบ ถึงขนาดที่ว่า ความเคลื่อนไหวใด ๆ ที่เกิดขึ้นอาจทำให้โลกสะเทือนได้เลยทีเดียว และยักษ์ใหญ่ต้องมาขอความช่วยเหลือ

เหมือนเรื่องของASMLและ TSMC สองบริษัทที่อยู่คนละซีกโลกที่ต่างก็สำคัญต่ออุตสาหกรรมชิปทั่วโลก

ASMLจากบริษัทร่วมทุน สู่บริษัทที่ขาดไม่ได้ในอุตสาหกรรมชิป

Advanced Semiconductors Materials Lithography (ASML) ก่อตั้งเมื่อปี 1984 จาก ASMI บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์เก่าแก่ของเนเธอร์แลนด์ที่ผนึกกำลังกับ Philips ยักษ์เทคร่วมชาติ เพื่อหวังขึ้นเป็นลำดับต้น ๆ ในสายพานการผลิตในอุตสาหกรรมชิป ผ่านเทคโนโลยีการพิมพ์แผ่นชิป

ปี 1988 ASMLแยกตัวออกมาจาก Philips จากนั้นก็ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ทั้งด้านองค์กรผ่านการซื้อกิจการบริษัทต่าง ๆ และเป็นผู้คิดค้นเครื่องผลิตชิปด้วยการใช้ยูวี ซึ่งปัจจุบันแค่รุ่นเริ่มต้นก็มีราคาเริ่มต้นสูงถึงเครื่องละ 200 ล้านดอลลาร์ (ราว 6,950 ล้านบาท)

ความก้าวหน้าดังกล่าวทำให้บริษัทที่คนนอกอุตสาหกรรมชิปแทบไม่รู้จักเลยแห่งนี้ทำเงินได้มหาศาลในแต่ละปี จากการขายเครื่องผลิต การอัปเกรดและซ่อมบำรุง จนขึ้นเป็นหนึ่งในบริษัทมูลค่าสูงสุดของยุโรป

ทว่าการที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีชั้นสูงและสำคัญต่อสายการผลิตก็ทำให้ASML ต้องเข้ามามีส่วนต่อทั้งอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่แหลมคม

และถูกบีบให้ต้องร่วมใช้ไม้แข็ง โดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ เพิ่งได้ออกแถลงการณ์ว่าจะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการปิดล้อมและตัดกำลังจีนทางเทคโนโลยี

นี่เป็นการส่งสัญญาณให้ ASML ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการส่งออกไปจีน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าต่อไปอาจพัฒนาสู่การห้ามส่งออก และปิดสาขาในจีนไปเลย ไม่ว่าASMLจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

TSMC: บริษัทจากมันสมองคนวัยเกษียณ สู่ยักษ์ชิปมองข้ามช็อต

ข้ามมาอีกซีกโลก มีอีกบริษัทที่สำคัญกับอุตสาหกรรมชิปเช่นกัน และยังเชื่อมโยงกับASMLจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

Morris Chang

Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ก่อตั้งเมื่อปี 1987 โดย Morris Chang กูรูชิปที่ย้ายไปอยู่สหรัฐฯ 25 ปี และกำลังใกล้เกษียณ แต่เขาก็รับงานเพราะอยากร่วมนำเทคโนโลยีชิปมาพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล

ช่วงแรก TSMC เริ่มต้นจากการช่วยผลักดันของรัฐบาลไต้หวัน การสนับสนุนทางการเงินของกลุ่มนักลงทุน และเทคโนโลยีจาก Philips ภายใต้คอนเซ็ปต์รับจ้างผลิตชิปให้บริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ต่างจากบริษัทในยุคนั้นที่ส่วนใหญ่ผลิตชิปป้อน Gadget ของตัวเอง

อีกเกือบ 10 ปีถัดมา TSMC ก็มีที่ทางในสายการผลิตและพิสูจน์ว่าคอนเซ็ปต์ดังกล่าวถูกต้อง ด้วยส่วนแบ่งตลาด 9% ของทั่วโลก พอถึงปี 2015 ก็เพิ่มเป็น 25% หรือ 1 ใน 4 โดยต่อมาในปี 2021 ก็เพิ่มเป็นเกือบ 60% ของตลาดชิปทั่วโลก

ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ TSMC มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไต้หวัน เช่นเดียวกับ Foxconn ยักษ์โรงงานรับจ้างผลิต (OEM) และในภาพใหญ่ยังทำให้ไต้หวันประเทศที่ขนาดไม่ได้ใหญ่โตอะไร สำคัญอย่างมากต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยี

มาปีนี้แม้เศรษฐกิจโลกยังซบเซา ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงอุตสาหกรรมชิปแต่ TSMC ก็มองข้ามช็อต ด้วยการจ้างงานในประเทศเพิ่มอีก 6,000 ตำแหน่ง เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อได้ทันที เมื่อสายการผลิตชิปกลับมาคึกคักในครึ่งหลังของปีนี้

ส่วนความเชื่อมโยงระหว่างASMLกับ TSMC ในปัจจุบัน คือ TSMC เป็นลูกค้ารายใหญ่ของASMLเพราะต้องซื้อและอัปเกรดเครื่องผลิตชิปอยู่เสมอนั่นเอง

เรื่องราวและพัฒนาการของASMLกับ TSMC ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศขนาดเล็กอย่างเนเธอร์แลนด์กับไต้หวันอีกด้วย และวิสัยทัศน์ผู้ก่อตั้งและทีมบริหารของทั้งสองบริษัทที่สามารถพัฒนาจนขึ้นมาเป็นบริษัทอันดับต้น ๆ ของประเทศ/bbc, ap, forbes, cnbc, taiwannews, asml

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online