PUBAT ตั้งเป้างานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งที่ 51 ณ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ กวาดยอดขายสูงสุดรอบ 8 ปี อยู่ที่ 400 ล้านบาท 3 วันแรก 30 มี.ค. (เริ่มเปิด 17:00 น.) – 1 เม.ย. เปิดยาวถึงเที่ยงคืน ส่งหนังสือใหม่ในงาน 8,000 ปก 905 บูธ 333 สำนักพิมพ์ ได้ BOOK☆WALKER สนับสนุนหลัก หวังเปิดตลาดมังงะ-ไลต์โนเวลญี่ปุ่นในไทยเต็มสูบ
นางสาวทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า งานหนังสือใหญ่ในไทยซึ่งจัดโดย PUBAT แบ่งเป็น 2 ช่วงหลัก ๆ คือ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ช่วงปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายนของทุกปี และ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี
โดยปีนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 ได้กลับมาจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG นับตั้งแต่ปี 2562
หลัง งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ได้กลับมาจัดงานที่นี่ไปก่อนแล้ว เมื่อวันที่ 12-23 ตุลาคม 2565
อ่าน งานมหกรรมหนังสือครั้งที่ 27 ทำรายได้ 347 ล้าน : https://marketeeronline.co/archives/285879
PUBAT เป้ายอดขาย งานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งที่ 51 สูงสุดรอบ 8 ปี 400 ลบ. 3 วันแรก เปิดยาวถึงเที่ยงคืน |
||||||
ครั้งที่จัดงานสัปดาห์หนังสือฯ | 44 (ปี 2559) | 45 (ปี 2560) | 46 ( ปี 2561) | 47 (ปี 2562) | 50 (ปี 2565) | 51 (ปี 2566) |
สถานที่จัดงาน | ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ | สถานีกลางบางซื่อ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์) | ศูนย์ฯ สิริกิติ์ | |||
บูธหนังสือ | 934 | 947 | 941 | 924 | 584 | 905 |
ผู้เข้าร่วมงาน/ล้านคน | 2.03 | 1.67 | 1.39 | 1.41 | 7.15 แสนคน | 1.50 (ตั้งเป้า) |
ยอดขาย/ล้านบาท | 339 | 293 | 363 | 352 | 199 | 400 (ตั้งเป้า) |
* งานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งที่ 50 หรือ ปี 2565 ถูกจัดขึ้นภายใต้ข้อจำกัดผู้เข้าร่วมงานต่อวัน ทำให้ตัวเลขอาจแตกต่างค่อนข้างมากจากปีอื่น ๆ | ||||||
* งานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งที่ 48 (ปี 2563) – ครั้งที่ 49 (2564) ไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบ เนื่องจากจัดงานแบบออนไลน์เท่านั้น ทางเว็บไซต์ ThaiBookFair | ||||||
ที่มา: PUBAT / มีนาคม 2566 |
ภาพรวมตลาดหนังสือในไทย ปี 2565 มีหนังสือใหม่ 18,000 ปก ส่วนสถานการณ์ปีนี้ เชื่อว่าน่าจะกลับมาดีขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนจากคิวของโรงพิมพ์ทั่วประเทศ ที่กลับมาได้รับออเดอร์กันหนาแน่นอีกครั้ง
โดยในงานสัปดาห์หนังสือฯ ปีนี้ จะมีหนังสือใหม่ในงาน 8,000 ปก 905 บูธ 333 สำนักพิมพ์ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันที่ 30 มีนาคม เวลา 15:00 น.
นอกจากนั้น ปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่งานสัปดาห์หนังสือฯ 3 วันแรก 30 มีนาคม (เริ่มเปิด 17:00 น.) – 1 เมษายน เปิดให้บริการถึงเที่ยงคืน ส่วนวันที่ 2-9 เมษายน เปิดให้บริการ 10:00 – 21:00 น.
และยังได้ผู้สนับสนุนหลักเป็น BOOK☆WALKER นางสาววีรวรรณ พณิชกิจสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการ BOOK☆WALKER (ประเทศไทย) เผยว่า BOOK☆WALKER เป็นแพลตฟอร์มอีบุ๊ก (E-Book) สัญชาติญี่ปุ่น ที่โฟกัสการให้บริการหนังสือประเภทมังงะและไลต์โนเวล ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมมากทั้งในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา
ซึ่ง ประเทศไทย นับเป็นจุดหมายล่าสุดที่เข้ามาลงทุน เนื่องจากเล็งเห็นโอกาส และเพื่อตอบสนองความนิยมของนักอ่านในประเทศไทย ที่เติบโตมาพร้อมกับอิทธิพลของมังงะและไลต์โนเวลจากญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน
จึงตัดสินใจเริ่มต้นทำความรู้จักกับนักอ่านในไทย ด้วยการร่วมสนับสนุนการจัดงานสัปดาห์หนังสือฯ ปีนี้ โดยภายในงานทาง BOOK☆WALKER จะยังมีการร่วมออกบูธ เพื่อแนะนำการให้บริการ และวิธีการใช้งานแพลตฟอร์มทั้งในส่วนของเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน (โหลดได้ทั้ง iOS และ Android) ผ่าน Book Walker Thailand ที่มีเนื้อหาเป็นภาษาไทยทั้งหมด ซึ่งจะเปิดให้ใช้งานตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.นี้ และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานสัปดาห์หนังสือฯ วันแรก (30 มี.ค.นี้)
ด้านภาพรวมของงานจัดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ Bookfluencer : ผู้นำอ่าน แบ่งโซนจำหน่ายหนังสือภายในงานเป็น 7 หมวด ได้แก่ หนังสือเด็กและการศึกษา, หนังสือต่างประเทศ, หนังสือเก่า, หนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น (Book Wonderland), หนังสือนิยายและวรรณกรรม, หนังสือนิยายวาย (Wonder Y) และหนังสือทั่วไป
งานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งที่ 50 (ปี 2565) ซึ่งจัดขึ้นที่ สถานีกลางบางซื่อ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์)
กิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ภายในงานจะมี อาทิ เวทีแนะนำหนังสือใหม่, สนทนาสาระจากหนังสือและนักเขียนชื่อดัง, กิจกรรมทอล์คจากอินฟลูเอนเซอร์, งานเปิดตัวซีรีส์ใหม่ 2 เรื่อง ได้แก่ หัวใจในสายลม และ Pit Babe The Series
ส่วนนิทรรศการน่าสนใจ อาทิ นิทรรศการพระราชนิพนธ์แปลวรรณกรรมข้ามชาติข้ามวัฒนธรรม ในกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ, นิทรรศการแสดงหนังสือดีเด่น ประจำปี 2566, นิทรรศการสื่อสิ่งพิมพ์จีนสัญจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 7 และ นิทรรศการ Following the Readers ตามไปดู รู้จักผู้อ่าน โดย TK Park เป็นต้น
ตลอดจนการแจกโปสเตอร์ในงาน อย่าง ผลงานของศิลปินกราฟฟิตี้ระดับโลก อเล็ก เฟส (Alex Face) โดยมีคาแรกเตอร์เป็น “น้องมาร์ดี” ที่หลายคนรู้จักกันดี
และโปสเตอร์ออกแบบโดย BOOK☆WALKER (ประเทศไทย) เอาใจผู้ชื่นชอบอนิเมะญี่ปุ่น เพราะใช้คาแรกเตอร์ 4 ตัวการ์ตูนชื่อดัง ได้แก่ โตเกียวรีเวนเจอร์ส (Tokyo Revengers), นินจาคาถา โอ้โฮเฮะ (Naruto), ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน (Detective Conan) และ คุณอาเรียโต๊ะข้างๆ พูดรัสเซียหวานใส่ซะหัวใจจะวาย (Alya Sometimes Hides Her Feelings in Russian)
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



