ทีทีบี เผยความท้าทายของผู้ประกอบการไทย ทั้งรายใหญ่-SME พบ 4 ประเด็นหลักต้องเผชิญ วิถี ESG-ดิจิทัล ดิสรัปชัน-สงครามแย่งคนทำงานเก่ง-การค้าระหว่างประเทศผันผวน แนะข้อมูล-โซลูชัน เพื่อรับมืออย่างมั่นคง

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เผยว่า ปัจจุบันลูกค้าธุรกิจของ ทีทีบี แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate) ที่มียอดเงินหมุนเวียนอยู่ในธนาคาร 400 ล้านบาทต่อปีขึ้นไปอยู่ที่ 45,000 บริษัท และลูกค้าธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก (SME) อยู่ที่ประมาณ 200,000 บริษัท ซึ่งเป็นฐานลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่สุดของทีทีบี

ผลการดำเนินงานปี 2565 คุณภาพสินเชื่อ (Risk Cost) ปรับตัวลดลงจาก 1.6% เหลือ 1.2% รายได้ค่าธรรมเนียม โต 10% เงินฝากจากบัญชีเพื่อทำธุรกรรม เติบโต 10% แบ่งเป็น 80% ของเงินฝาก และลูกค้า Payroll กว่า 11,000 บริษัท และมีพนักงาน กว่า 1 ล้านคนที่ใช้บริการ Payroll กับทาง ทีทีบี

ขณะที่ในส่วนของดิจิทัลแพลตฟอร์ม มีจำนวนลูกค้าธุรกิจใช้บริการ โต 54% ปริมาณทำธุรกรรม โต 33% ยอดทำธุรกรรม 40 ล้านธุรกรรม ตลอดจนมีธุรกรรมผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เป็น 96% ของการทำธุรกรรมจากลูกค้าธุรกิจทั้งหมด

โดย ทีทีบี ตระหนักว่าผู้ประกอบการธุรกิจ ไม่ว่าขนาดใหญ่หรือเล็ก กำลังเผชิญอยู่ในโลกธุรกิจ ผ่าน 4 ความท้าทาย ทั้งด้านการทำธุรกิจด้วยวิถี ESG, การปรับตัวสู่ดิจิทัล เพื่อรับมือกับโลกยุคดิจิทัล ดิสรัปชัน, สงครามแย่งคนทำงานที่มีศักยภาพ และความท้าทายของโลกการค้าระหว่างประเทศที่ผันผวน

จึงมุ่งเน้นการสนับสนุนลูกค้าธุรกิจ และ SME ด้วย ผลิตภัณฑ์ บริการ ดิจิทัลโซลูชัน และองค์ความรู้ เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้อย่างมั่นคง ดังนี้ เริ่มจากด้าน ESG ตั้งเป้าสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวและสีฟ้า (Green and Blue Loan) ภายใน 5 ปี ในวงเงินกว่า 50,000 ล้านบาท และมีนโยบายสร้างแรงจูงใจให้กับธุรกิจที่สามารถบรรลุ KPI ของ ESG ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงายใต้ผลิตภัณฑ์ Sustainability Linked Loan และ Sustainability Linked Derivatives

ส่วนของลูกค้า SME ธนาคารมีแผนการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว พร้อมตั้งเป้าที่จะสนับสนุนสินเชื่อ วงเงินกว่า 30,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ภายใต้ Transformation Loan Supply Chain Solutions และ Refinance Program

ด้านการปรับตัวของธุรกิจในยุคดิจิทัล ดิสรัปชัน ทีทีบี จะออกโซลูชันการจ่ายเงินเดือน และดูแลสวัสดิการพนักงานแบบครบวงจร (ttb payroll plus) ที่ครอบคลุมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นของพนักงาน ตั้งแต่ รองรับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการบริหารสภาพคล่อง

รวมถึง Digital HRM ที่กำลังจะเปิดตัวในช่วงไตรมาสที่ 3/2566 ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME สามารถบริหารจัดการงานบุคคลได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่บันทึกเวลาเข้าออกงาน ส่งใบลา และเบิกค่าใช้จ่าย เป็นต้น

 

ส่วน ความท้าทายของการค้าระหว่างประเทศที่ผันผวน

จีน คู่ค้าสำคัญ ธุรกิจ-SME ไทย

แต่ยังเน้นใช้ดอลลาร์ ttb ชี้อาจถึงเวลา

ใช้สกุลเงินตามประเทศคู่ค้า ลดเสี่ยงผันผวน

ประเทศคู่ค้าของไทย % ที่ไทยทำการค้าด้วย
1.กลุ่มประเทศอาเซียน 18%
2.จีน 17.9%
3.สหรัฐอเมริกา 10.8%
4.ญี่ปุ่น 10%
5.สหภาพยุโรป-สหราชอาณาจักร 7.8%
6.สิงคโปร์ 3.3%
7.ประเทศอื่น ๆ 32.2%
สกุลเงินที่ไทยใช้ในการนำเข้า-ส่งออกของมากสุด
สกุลเงิน % การใช้
1.ดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) 77.4%
2.บาทไทย (THB) 12%
3.เยนญี่ปุ่น (JPY) 4.3%
4.ยูโร (EUR) 3.5%
5.หยวนจีน (CNY) 1.1%
6.สกุลเงินอื่น ๆ  1.7%
ที่มา : ฝ่ายบริหารลูกค้าธุรกิจ ทีทีบี / มีนาคม 2566

ข้อมูลจะเห็นว่า ไทย ยังเน้นใช้สกุลเงินดอลลาร์ ทั้งที่ประเทศคู่ค้าหลักเป็นกลุ่มอาเซียน และจีน โดยจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งขั้วทางการเมือง สงคราม การชะลอตัวของเศรษฐกิจ และอื่น ๆ จนนำไปสู่ความผันผวนที่สูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์ ที่เป็นสกุลหลักในการค้าขายของไทย มากถึง 77.4%

ทีทีบี เข้าใจ และตระหนักดีว่า ทุก 1% ของความผันผวนที่สูงขึ้น คือทุก 1% ของความเสี่ยงที่กำไรของผู้ประกอบธุรกิจจะลดลง ทีทีบี จึงได้พัฒนาบริการ และผลิตภัณฑ์ในการจัดการเรื่องความผันผวน

ด้วยบริการ ttb local currency ที่จะช่วยลดความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยเครื่องมือบริหารความเสี่ยงสกุลเงินท้องถิ่น ที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย

นอกจากนั้น ยังเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความเสี่ยง ด้วย Pro Rata Forward สำหรับเงินสกุลท้องถิ่น โดยเฉพาะสกุลเงินหยวน ซึ่งถือเป็นธนาคารแรก และธนาคารเดียวที่ทำได้

และยังได้ออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ทำให้ธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ง่าย ไม่ว่าจะเป็น ttb multi-currency account หรือบัญชีบริหารหลายสกุลเงิน

และยังมีบริการการเชื่อมต่อระบบของลูกค้ากับธนาคาร (Host to Host) กับออนไลน์แพลตฟอร์มที่รองรับการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน การเปิด L/C หรือการเบิกใช้สินเชื่อ

และการทำงานทั้งหมดนี้ ยังเพื่อให้เป็นไปตามเป้า ปี 2566 ดังนี้ คุณภาพสินเชื่อ (Risk Cost) ปรับตัวลดลงจาก 1.2% เหลือ 0.9% รายได้ค่าธรรมเนียม โต 12% เงินฝากจากบัญชีเพื่อทำธุรกรรม เติบโต 10% แบ่งเป็น 85% ของเงินฝาก สร้าง Ecosystem Play ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในการพัฒนาโซลูชันมนุษย์เงินเดือน กลุ่มคนมีรถ และกลุ่มคนมีบ้าน

ขณะที่ในส่วนของดิจิทัลแพลตฟอร์มมีจำนวนลูกค้าธุรกิจใช้บริการ โต 20% ปริมาณทำธุรกรรม โต 30% ยอดทำธุรกรรม 52 ล้านธุรกรรม ตลอดจนมีธุรกรรมผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เป็น 96% ของการทำธุรกรรมจากลูกค้าธุรกิจทั้งหมด



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน