เอไอเอส Ecosystem Economy บนธุรกิจ 4 ขา ในวันที่ True และ dtac รวมเป็นหนึ่ง

นับเป็นการประกาศทิศทางครั้งแรกของเอไอเอส หลังจากทรูและดีแทคควบรวมเป็นหนึ่งบริษัทเดียวกัน

การควบรวมของทรูและดีแทคเบอร์หนึ่งในธุรกิจมือถือตลอด 33 ปีที่ผ่านมาอย่างเอไอเอส จะทำอย่างไรต่อไป

วันนี้สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส เปิดเผยถึงแนวทางเดินหน้าพร้อมการเติบโตในอีก 3 ปีต่อจากนี้ว่า เอไอเอสยังคง Transform ตัวเองจากบริษัท Internet Life Service Provider สู่ Cognitive Tech-Co ซึ่งเป็นแนวทางที่สมชัยวางไว้เมื่อปีที่ผ่านมา

Cognitive Tech-Co ในความหมายของสมชัยคือ องค์กรที่ไม่ได้ให้บริการเพียงการติดต่อสื่อสาร แต่บริษัทที่ส่งมอบ Digital Service ต่าง ๆ ไปให้กับคนไทยทุกคน ทั้งบุคคลและองค์กรให้สามารถใช้ชีวิตส่วนตัวและทำงานให้มีประสิทธิภาพและประโยชน์มากยิ่งขึ้น

การให้บริการของเอไอเอสบน Cognitive Tech-Co จะมาจาก 4 ขาธุรกิจหลัก ได้แก่

– Mobile ที่ในปัจจุบันมีลูกค้ารวม 46 ล้านเลขหมาย พร้อมส่วนแบ่งตลาด 46% สิ้นปี 2565

– Fixed Broadband ธุรกิจที่ให้บริการเมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีลูกค้า 2.2 ครัวเรือน และส่วนแบ่งตลาด 16% ในธุรกิจ Fixed Broadband เอไอเอสกำลังอยู่ในกระบวนการซื้อธุรกิจ 3BB จากบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นเดิม

และถ้าเอไอเอสซื้อ 3BB เข้ามาในพอร์ตให้บริการได้ จะมีฐานลูกค้าจาก 3BB เพิ่มขึ้นอีก 2.4 ล้านราย ในขณะที่ทรูออนไลน์มีฐานลูกค้า 5 ล้านราย

ฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อ 3BB จะสามารถทำให้เอไอเอสมีความแข็งแกร่งในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น

– Enterprise Business เน้นไปยังบริการ 5G ที่สมชัยมองว่าเป็นเทคโนโลยีอนาคตที่ช่วยให้องค์กรต่าง ๆ มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายลง ในปัจจุบันเอไอเอสวางโครงสร้าง 5G ครอบคลุม 87% ของพื้นที่ให้บริการทั้งหมด และครอบคลุม 92% ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ EEC

– Digital Service บริการที่เอไอเอสเห็นความสำคัญ และเข้าสู่ตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไปในทิศทางที่ลูกค้าต้องการผ่านการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์

4 ขาธุรกิจที่ได้กล่าวมา ในปัจจุบันเอไอเอสมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ Mobile 85%

Fixed Broadband และ Enterprise Business รวมกัน 15%

ส่วน Digital Service ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ซึ่งถ้า Digital Service ประสบความสำเร็จจะกลายเป็น New S Curve ใหม่ที่จะสร้างการเติบโตให้กับเอไอเอสอย่างยั่งยืนในอนาคตได้

และในอีก 3 ปีข้างหน้า สมชัยต้องการปรับสัดส่วนรายได้จาก Mobile เหลือเพียง 70% และ Fixed Broadband, Enterprise Business และ Digital Service รวมกัน 30%

นอกเหนือจาก 4 ขาธุรกิจที่ได้กล่าวมา เอไอเอสยังมีแนวทางในการสร้างการเติบโตด้านรายได้ และดึงดูดลูกค้าให้อยู่ในระบบผ่านแคมเปญการตลาด และความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์อย่างต่อเนื่อง

เช่น การจับมือกับ UOB ให้ลูกค้า UOB ใช้ไอโฟน 14 ฟรี เพียงจ่ายค่าบริการเดือนละ 850 บาท สัญญา 2 ปี ครบกำหนดสามารถเลือกคืนมือถือ หรือรับเครื่องใหม่พร้อมต่อสัญญาใช้บริการได้

ร่วมมือกับซัมซุงให้ลูกค้ารับทีวีซัมซุงไปใช้ฟรี เพียงจ่ายค่าบริการแพ็กเกจ อินเทอร์เน็ต พร้อมคอนเทนต์ 1,299 บาทต่อเดือน

ซึ่งการจับมือกับพาร์ตเนอร์ทั้ง UOB หรือซัมซุง เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สร้างลูกค้าใหม่ รักษาฐานลูกค้าเก่าให้อยู่กับเอไอเอสอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับสร้างรายได้ให้เติบโตจากการดึงดูดลูกค้าใช้บริการในแพ็กเกจที่สูงขึ้นกว่าปัจจุบันที่ลูกค้าใช้เป็นประจำ

จับมือกับ Netflix ให้บริการแพ็กเกจ Netflix ในราคา Exclusive จากที่ผ่านมา เอไอเอสเคยจับมือกับ Disney + Hotstar ให้บริการกับลูกค้า พร้อมจับมือกับผู้ให้บริการคอนเทนต์อื่น ๆ เช่น 3Plus, MonoMax และ beIN Sports ให้บริการกับลูกค้าเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งเช่นกัน

นอกจากนี้ เอไอเอสยังร่วมมือกับ NT ขยายเครือข่าย 5G บนคลื่นความถี่ 700MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่ 1 สถานีฐานกระจายสัญญาณได้ไกลอีกด้วย

จับมือกับพาร์ตเนอร์นำเอไอเอสพอยต์ไปใช้ในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงนำพอยต์ของพาร์ตเนอร์เปลี่ยนเป็นเอไอเอสพอยต์เพื่อใช้บริการ

เช่น เดินหน้าจับมือกับธนาคารกรุงไทยให้ร้านค้าถุงเงิน ร้านธงฟ้า ร้านค้ารายย่อย โชห่วย ร้านสตรีทฟู้ด รวมกว่า 1.8 ล้านร้านค้าทั่วประเทศรับชำระเงินผ่านเอไอเอสพอยต์ได้

จับมือร่วมกับธนาคารกรุงเทพเปิดบัตรเดบิต Be1st Digital AIS POINTS ให้สะสมเอไอเอสพอยต์ เป็นต้น

การขยายขอบเขตการใช้งานและสะสมเอไอเอสพอยต์เป็นหนึ่งในแนวคิดที่ให้ลูกค้ารู้สึกถึงประโยชน์ในการใช้งานพอยต์ และดึงดูดลูกค้าของพาร์ตเนอร์ให้เข้ามาเป็นลูกค้าเอไอเอสได้อีกวิธีหนึ่งเช่นกัน

อย่างไรก็ดี กลยุทธ์สู่ Cognitive Tech-Co ของ เอไอเอส เป็นกลยุทธ์ที่สมชัยมองว่าต้องทำควบคู่ไปกับแนวทาง Ecosystem Economy ที่สร้างการเติบโตทุกภาคส่วน ผ่าน 3 พายหลัก ได้แก่

Digital Intelligence Infrastructure ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งการลงทุนนี้ 3 เครือข่ายเป็นผู้ผลักดันให้เกิด Digital Intelligence Infrastructure ทั้งหมด และเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดในเวลานี้เพื่อรองรับบริการต่าง ๆ ที่ตามมา

Cross Industries Collaboration การเติบโตกับพาร์ตเนอร์

และ Human Capitan & Sustainability เน้นที่คนและการให้โอกาสทางการศึกษา

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจของเอไอเอสเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจและความแข็งแกร่งในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน