ของใช้ในชีวิตประจำวันหลายอย่างก็มีให้เราใช้กันอย่างสะดวกจนไม่ได้สนใจที่มา ไม่แคร์ว่าทิ้งแล้วจะไปลงเอยตรงไหน หรือความมักง่ายจะกลายเป็นปัญหาที่ต้องมาตามแก้กันให้วุ่นวาย

ซ้ำร้ายเงินที่ลงไปกับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก็เป็นเงินก้อนใหญ่ และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่า หากนำไปใช้สร้างสาธารณประโยชน์

เหมือนที่รัฐบาลอังกฤษประกาศผลักดันแผนสั่งห้ามผลิตและจำหน่ายทิชชูเปียก เพราะต้องใช้จ่ายในการกำจัดปัญหาท่อระบายน้ำอุดตันจากทิชชูเปียกไปถึงปีละ 124 ล้านดอลลาร์ (ราว 4,300 ล้านบาท)

ทว่า ทิชชูเปียกก็ไม่ได้เลวร้ายไปเสียหมด เพราะนอกจากช่วยให้ชีวิตของเราง่ายขึ้นมากตามที่ได้กล่าวไปแล้ว นี่ยังเป็นนวัตกรรมช่วยลดงานของพ่อ ๆ แม่ ๆ กับแพทย์-พยาบาลในการทำความสะอาด โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันยังเป็นตัวอย่างที่ดีของการเห็นช่องทางทำธุรกิจ และการเชื่อมโยงกับแบรนด์ดังเพื่อชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของผลิตภัณฑ์โดยไม่ต้องเสียงบโปรโมตเลยอีกด้วย

Arthur Julius อดีตพนักงานบริษัทเครื่องสำอาง คิดค้นทิชชูเปียกขึ้นมาในปี 1957 เล็งเห็นว่าผ้าชุบน้ำขนาดพกพาน่าจะเป็นที่ต้องการของสาว ๆ เพราะลดเวลาล้างเครื่องสำอางและ Make-up ต่าง ๆ บนหน้าลงไปได้มาก  

Arthur Julius ลงทุนกับการตั้งต้นธุรกิจโดยเฉพาะดัดแปลงเครื่องจักรไปถึง 5,000 ดอลลาร์ (ราว 172,000 บาทตามค่าเงินปัจจุบัน) แม้ความคิดตั้งต้นดังกล่าวยังไม่สามารถทำเงินให้ได้ แต่เขาก็ไม่ท้อและยังหาช่องทางไปให้ผลิตภัณฑ์ต่อไปอย่างไม่ลดละ

ปี 1963 Arthur Julius เล็งเห็นว่า หากสามารถโน้มน้าวให้ผู้พัน Harland Sander ผู้ก่อตั้งร้านไก่ทอด Kentucky Fried Chicken ซึ่งต่อมาเป็นรู้จักภายใต้แบรนด์ KFC สั่งผลิตล็อตใหญ่ได้ ทิชชูเปียกอาจแจ้งเกิดได้

ผู้พัน Harland Sander ซื้อไอเดียดังกล่าว เพราะมองแล้วว่า ถ้ามีผ้าเช็ดผืนเล็ก ๆ แถมให้ลูกค้าไปเช็ดมือหลังกินไก่ทอด ยอดขายน่าจะเพิ่มขึ้นอีกมาก

จากจุดนี้เอง ทิชชูเปียกแบรนด์ Wet Nap ของบริษัท Nice Pak ที่ Arthur Julius ก่อตั้งและมีลูกชายมาช่วยบริหาร จึงเริ่มเป็นที่รู้จัก มีการสั่งผลิตเฉพาะแค่ในสหรัฐฯ ปีละหลาย 10 ล้านแผ่น จนแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดอื่น ๆ มาติดต่อให้ผลิตล็อตใหญ่บ้าง

ข้ามมายุค 90 มีการคิดค้นเทคโนโลยีลดต้นทุน มีบริษัทและแบรนด์ใหญ่ ๆ อย่าง Kimberly-Clark และ P&G เข้ามาในตลาด ทำให้ตลาดทิชชูเปียกขยายตัว มีผลิตภัณฑ์ออกมาอีกมากมาย และหลายขนาด เช่น ทิชชูเปียกเช็ดหน้า ทิชชูเปียกทางการแพทย์ หรือทิชชูเปียกแผ่นเล็กผสมสารกันยุง

ความสะดวกและการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ออกมาหลากหลาย ทำให้ทิชชูเปียกเป็นหนึ่งในสินค้ากลุ่ม FMCG ที่ซื้อง่ายขายคล่องและมีขายอยู่ทั่วไปตั้งแต่ร้านขายของชำเล็ก ๆ ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา ไปจนถึงห้างสรรพสินค้า  

ขณะเดียวกันก็เป็นหลักฐานแสดงความเหลื่อมล้ำและหนึ่งในเกณฑ์วัดว่าฐานะของประชากรในประเทศต่าง ๆ โดยข้อมูลจากสื่ออังกฤษที่อ้างจากบริษัทวิจัยทางการตลาดระบุว่า ประเทศยากจนจะไม่มีทิชชูเปียกขายอยู่เลย เพราะถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย

แต่ในประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจดีหรือพัฒนาแล้ว จะมีทิชชูเปียกขายอยู่ทั่วไป และถ้าในมุมมองด้านประชากรเด็กที่เคยเห็นทิชชูเปียกจากการที่พ่อแม่ใช้ทำความสะอาดตัว เมื่อโตมาก็จะเล็งเห็นถึงความสะดวกและซื้อมาใช้บ้างจนเป็นเรื่องปกติ

การมีขายอยู่ทั่วไปเช่นนี้ ทิชชูเปียกจึงถือเป็นสินค้าขายดี ทำยอดขายได้มหาศาลในแต่ละปี โดยมีการประมาณกันว่า ทุกวินาทีในแต่ละวันมีการใช้ทิชชูเปียกมากถึง 14,000 แผ่นทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ทิชชูเปียกแทบทุกประเภทมีส่วนผสมของพลาสติก จับตัวเป็นก้อน และย่อยสลายยาก เมื่อทิ้งลงชักโครกก็ไปเป็นขยะอุดตันตามท่อระบายน้ำ จนกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม

ปี 2014 มีการฟ้องแบบกลุ่มขึ้นในสหรัฐฯ และที่สุดในปี 2018 บริษัทที่ถูกฟ้องก็ยอมจ่ายค่าเสียหายเพื่อจบเรื่อง

ปี 2022 ห้างค้าปลีก Tesco ในอังกฤษ ยกเลิกขายทิชชูเปียกผสมพลาสติกเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาท่อน้ำอุดตัน แม้เป็นสินค้าขายดีทำยอดขายทั่วโลกได้ถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 688,000 ล้านบาท)

ท่ามกลางข้อมูลน่าตกใจว่า ทิชชูเปียกจับตัวกับไขมันจนไปค้างตามท่อระบายน้ำหรือที่เรียกว่า Fatberg บางก้อนขนาดเท่ากับรถบัสแดง 2 ชั้น 11 คันรวมกัน

และเศษทิชชูเปียกเหล่านี้จะกระจายไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีสัตว์น้ำอยู่ โดยเมื่อสัตว์น้ำกินเข้าไปบางส่วนจะตาย บางส่วนที่รอดแล้วถูกจับมาขาย มนุษย์อย่างเราเองจะกินเศษทิชชูเปียกจากสัตว์น้ำกินเหล่านี้เข้าไป

และงบที่เสียไปในการเก็บ Fatberg ตามท่อระบายน้ำก็สูงถึงปีละ 124 ล้านดอลลาร์ (ราว 4,300 ล้านบาท)

นี่เองทำให้ล่าสุดกระทรวงสิ่งแวดล้อมอังกฤษในยุคของนายกรัฐมนตรี ริชชี ซูนัก เดินหน้าแผนสั่งแบนเพื่อไม่ให้ทิชชูเปียกผสมพลาสติกผลิตและมีขายอยู่ในประเทศ ภายในปี 2024  

นายกรัฐมนตรี ริชชี ซูนัก ของอังกฤษ 

จากนี้ต้องติดตามว่า รัฐบาลอังกฤษจะจริงจังแค่ไหนกับการกำจัดขยะพลาสติกจากทิชชูเปียกที่มีส่วนผสมของพลาสติก เพราะก่อนหน้านี้ประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มสหราชอาณาจักร ทั้งเวลส์และสกอตแลนด์ต่างก็ผลักดันแผนลักษณะเดียวกันแล้ว แต่ยังไม่มีประเทศไหนเลยที่กฎหมายสั่งแบนได้บังคับใช้

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็เป็นการย้ำให้เรารู้อีกครั้งว่า ควรใช้ทิชชูเปียกเฉพาะที่จำเป็น ไม่ทิ้งลงชักโครกให้กลายไปเป็นขยะอุดตัน

และการแก้ไขปัญหาขยะอุดตันจากทิชชูเปียกต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ไล่จากผู้บริโภคทั่วไป การตัดส่วนผสมพลาสติกของผู้ผลิต ไปจนถึงการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาล

เพราะต้องยอมรับว่า นวัตกรรมอายุเกือบ 70 ปีที่ Arthur Julius เป็นคนต้นคิด และ KFC ช่วยปั้นให้ดัง  ยังมีประโยชน์ช่วยลดงาน และจำเป็นในยุคที่เรายังต้องใส่ใจเรื่องสุขอนามัย/bbc, theguardian, wikipedia, eater, nicepak

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online