อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีเกือบ 3 ล้านล้านดอลลาร์ มีรถยนต์มากกว่า 1 พันล้านคันวิ่งอยู่บนท้องถนนทั่วทุกมุมโลก มีค่ายรถยนต์น้อยใหญ่เกิดขึ้นบนโลกมากกว่า ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ทั้งจากยุโรป อเมริกา และเอเชีย

คำถามสำคัญในตอนนี้ที่เราเห็นสตาร์ตอัปผลิตรถยนต์หน้าใหม่เกิดขึ้นมากมายก็คือ วงการนี้จะเดินอย่างไรต่อไป สเต็ปต่อไปของหน้าประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังจะเปลี่ยนไปจะมีหน้าตาอย่างไร โดยเฉพาะนอกจากค่ายรถยนต์จากยุโรปและอเมริกาแล้ว เรายังจะได้เห็นค่ายรถยนต์สัญชาติจีนโผล่ขึ้นมาท้าทายบรรดายักษ์ใหญ่จากซีกโลกฝั่งตะวันตกให้ต้องอกสั่นขวัญแขวนในเร็ววันนี้

จริงอยู่ที่อเมริกายังมี Tesla ของ Elon Musk ที่เปรียบเสมือนผู้ริเริ่มทำให้รถยนต์ไฟฟ้าบูมขึ้นมา แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ห้ามประมาทจีน ผู้ซึ่งถึงแม้ยังใหม่ในวงการรถยนต์ แต่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว หากเอ่ยชื่อ BYD, Lucid Motor, GWM เมื่อก่อนหลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก แต่ถ้าถามวินาทีนี้หลายคนก็เริ่มคุ้นเคย

อย่างในเมืองไทยค่ายรถยนต์สัญชาติจีนก็เริ่มเข้ามาตีตลาดโดยชูรถยนต์ไฟฟ้าหลายค่ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็น BYD ATTO3, ORA Goodcat จาก GMW NETA Motor ที่ส่ง NETA V ลงชิงชัย

การถือกำเนิดขึ้นของ Tesla และค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ในฐานะคู่แข่งทางตรง สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในอุตสาหกรรมยานยนต์ การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนประการหนึ่งคือการเปลี่ยนจากการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ Internal-combustion Engine (ICE) ที่ใช้พลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานหลักมาเป็นเครื่องยนต์แบบมอเตอร์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เป็นหลัก

แม้ว่าผู้ผลิตรถยนต์บางรายยังคงอยากทดลองที่จะใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนแต่เรื่องความเสถียรและความง่ายในการจัดหาพลังงานให้กับรถก็คงต้องยกให้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่จะกลายเป็นเทคโนโลยีตัวจ่ายพลังงานหลักในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน

สถิติในปี 2022 บอกว่าในรถยนต์ใหม่ที่ออกจำหน่ายทั่วโลกทุก ๆ 10 คันจะมี 1 คันที่เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ (EV) และปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) (รวมแบตเตอรี่ขนาดเล็กเข้ากับระบบสันดาป) โดยถ้าคิดจากยอดขายประมาณ 13% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในโลกหรือประมาณ 10.5 ล้านคัน ก็ล้วนเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดแล้ว

ปี 2022 จีนมียอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบใหม่ (NEVS และ PHEVS) อยู่ที่ 6.1 ล้านคัน สวนทางกับ Tesla ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลกกลับขายรถยนต์ได้เพียง 1.3 ล้านคัน ส่วนกลุ่มโฟล์คสวาเกน (VW) ทำยอดขายตามมาเป็นอันดับ 3 ด้วยยอดขาย 570,000 คิดเป็น 7% ของยอดขายทั้งหมด

เรื่อง พลังงานไฟฟ้า กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงการผลิตรถยนต์ ในอดีตค่ายรถยนต์แบรนด์เก่าแก่มักจะใช้ความได้เปรียบของความซับซ้อนและต้นทุนการผลิตเครื่องยนต์สันดาปเพื่อมาเป็นเกราะป้องกันไม่ให้คู่แข่งเข้ามาในอุตสาหกรรมได้ง่ายจนเกินไป การต้องใช้จ่าย 1 พันล้านดอลลาร์เพื่อหมดไปกับพัฒนาเครื่องยนต์สันดาป และอีก 1 พันล้านดอลลาร์สำหรับการโปรโมตและตกแต่งโชว์รูม และเพื่อขยายสายการผลิตเพื่อขยายขนาดบริษัทใหม่เป็น 150,000-200,000 หน่วยต่อปี สิ่งเหล่านี้สร้างอุปสรรคอย่างมากให้กับบรรดาผู้ผลิตรถยนต์หน้าใหม่ที่จะเข้ามาในตลาด

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 มาจนถึงการมาของ Tesla แบรนด์ใหม่ ๆ ที่เข้ามาและสามารถประสบความสำเร็จจึงมีน้อยมาก พวกที่ทำสำเร็จอย่าง Toyota และ Nissan ในญี่ปุ่น และ Hyundai และ Kia ในเกาหลีใต้ ก็ล้วนต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐบาลและปกป้องตลาดในประเทศทั้งนั้น (ตั้งภาษีนำเข้ารถยนต์สูง ๆ) ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถจะตีตลาดรถยนต์ได้เลย

ความสัมพันธ์ที่เรียบง่ายของแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญช่วยลดอุปสรรคก้อนโตในการเข้าสู่ตลาดของบริษัทสตาร์ตอัปหลายแห่งในจีน อย่าง Li Auto, Nio และ Xpeng และสตาร์ตอัปรถไฟฟ้าในอเมริกา อย่าง Fisker, Lordstown, Lucid และ Rivian ต่างกำลังเดินตามหลังพี่ใหญ่อย่าง Tesla ในการรันวงการยานยนต์ไฟฟ้า

การใช้พลังงานไฟฟ้าของรถยนต์รุ่นใหม่เข้ามาสร้างความได้เปรียบให้กับผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน ซึ่งถูกกีดกันจากตลาดโลกมาอย่างยาวนานด้วยอุปสรรคใหญ่ของเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาป บวกกับรัฐบาลจีนเองยังได้โน้มน้าวให้บริษัทพลังงานของรัฐและเอกชนร่วมกันสร้างอุตสาหกรรม EV ในประเทศให้เฟื่องฟูแข่งกับชาติตะวันตก เพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาพลังงานน้ำมันในอนาคต และลดความเสี่ยงในด้านเสถียรภาพทางพลังงานอันเกิดจากความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของชาติผู้ผลิตน้ำมัน

ผู้ผลิตเยอะสวนทางกับความต้องการที่ลดลง

การเข้ามาในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของคู่แข่งรายใหม่จะยิ่งทำให้อุตสาหกรรมนี้มีการแข่งขันที่สูงยิ่งขึ้น เพราะยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าอาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ผู้ซื้อที่เห่อเทรนด์ใหม่ของจีนทำให้ตลาดมีอัตราเร่งที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

แต่ในช่วงเวลานี้ยอดขายรถยนต์ลดลงมากกว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2018 เนื่องจากตลาดอิ่มตัว เศรษฐกิจที่ถดถอย และผลกระทบของโควิด-19 อีกทั้งการผลิตรถยนต์ทั่วโลกก็ถึงจุดสูงสุดแล้วด้วย ซึ่งตัวเลขยอดขายรถยนต์ในปี 2017 อยู่ที่ประมาณ 73 ล้านคัน เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการลดลงของอุปสงค์การซื้อรถยนต์ของจีน ประกอบกับการขาดแคลนชิปที่ใช้สำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ทำให้ปี 2022 ที่ผ่านมาการผลิตรถยนต์ทั่วโลกลดลงเหลือประมาณ 62 ล้านคัน

การเติบโตของยอดขายรถยนต์ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะซบเซาลงกว่าทุกวันนี้ โดย Pedro Pacheco จากบริษัทที่ปรึกษา Gartner คาดการณ์ว่าที่สุดแล้ว  ยอดขายรถยนต์จะกลับมาแตะที่ระดับเดียวกับในปี 2019 แต่จะไม่สูงไปกว่านี้อีกแล้ว

เช่นเดียวกับ McKinsey ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังระดับโลก คาดการณ์ว่าตัวเลขยอดขายรถยนต์จะอยู่ระหว่าง 70-95 ล้านคัน ภายในปี 2035 และการเติบโตส่วนใหญ่จะอยู่ในตลาดเกิดใหม่อย่างในแอฟริกา อินเดีย ลาตินอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งความต้องการส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์ราคาถูก

ส่วนในยุโรปและอเมริกาความต้องการรถยนต์อยู่ในระดับเกือบจะถึงจุดสูงสุดแล้ว ส่วนจีนก็มีแนวโน้มที่ความต้องการรถยนต์จะถึงจุดสูงสุดในเร็ว ๆ นี้เช่นกัน แม้แต่นักวิเคราะห์ที่มองโลกในแง่ดีก็ยังมองว่าการเติบโตของจีนจะอยู่ที่ระดับ 2.3% ต่อปีเท่านั้นในช่วงทศวรรษหลังปี 2019 เป็นต้นไป โดยเมื่อเทียบกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ความต้องการโตปีละ 7% ก็ถือว่าหายไปเยอะเช่นกัน

ผู้ผลิตรถยนต์เจ้าเก่า ๆ ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่เนื่องจากผู้มาใหม่โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนที่มีแนวโน้มที่จะกุมความได้เปรียบอย่างชัดเจนจากเรื่องทรัพยากรและเทคโนโลยีในมือ

Ola Kallenius CEO ของ Mercedes-Benz แสดงออกชัดเจนว่าเขาจะ “ไม่ประมาทการมาถึงของยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านจากการใช้เครื่องยนต์สันดาปที่อยู่มายาวนานกว่า 130 ปี ไปเป็นการใช้มอเตอร์และไฟฟ้า 100%”

แต่เขาคิดว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์นั้นมีผลกระทบที่ใหญ่กว่าในอุตสาหกรรมรถยนต์” ในอดีตรถยนต์แบรนด์ต่าง ๆ จะขายดี จะถูกจะแพง หรือได้รับความนิยมหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับชำนาญของวิศวกรรมเครื่องกล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความนุ่มนวลของการควบคุมรถ แรงม้า หรือแม้แต่เรื่องแบรนดิ้ง แต่ในปัจจุบันไม่ใช่แล้ว จะเห็นว่า รถยนต์ที่มาจากจีนมีคุณภาพที่ดีทัดเทียมรถที่มาจากยุโรปมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น แม้แต่ค่ายรถยนต์หรูยักษ์ใหญ่ก็จะไม่ประมาทในเกมนี้

อนาคตข้างหน้าของวงการยานยนต์

ในอนาคตรถยนต์จากแบรนด์ต่าง ๆ จะถูกนิยามความแตกต่างที่มาจากประสบการณ์การใช้งานเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันถูกกำหนดโดยซอฟต์แวร์มากกว่าฮาร์ดแวร์ ยานพาหนะที่กำหนดโดยซอฟต์แวร์ในปัจจุบันมีลักษณะคล้ายกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีล้อ ซึ่งจะมีคุณลักษณะและฟังก์ชันต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ความบันเทิงในรถ (Tesla มีเกมให้เล่นบนรถได้ ดู Netflix ได้)  ระบบไฟส่องสว่างโดยรอบ (ไฟแอมเบี้ยน) และการสั่งการการควบคุมด้วยเสียง ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับการปรับปรุงโดยการอัปเดตผ่านระบบอินเทอร์เน็ต  หลังจากที่รถออกจากโรงงานแล้ว (คล้ายกับที่เราอัปเดตเฟิร์มแวร์ iPhone) ซึ่งก็เท่ากับว่ารถยนต์สามารถมีช่องทางการหารายได้ใหม่ ๆ จากการเปิดระบบ Subscription บางฟังก์ชันในรถก็ได้ ไม่จำเป็นว่าขายรถครั้งเดียวแล้วจบ

ค่ายรถค่ายใหม่ ๆ ที่เพิ่งก่อตั้ง กำลังมองไปที่ Tesla ด้วยความอิจฉา สาเหตุที่กล่าวเช่นนี้ก็เป็นเพราะว่า Tesla เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ผลิตรถยนต์ซึ่งมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ซิลิคอนแวลลีย์ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ Tesla จะเป็นผู้นำในด้านซอฟต์แวร์

ในอเมริกา Tesla อาจถูกมองว่ามีความได้เปรียบเรื่องเทคโนโลยี แต่ในจีนพวกเขามองว่า Tesla ก็เป็นเพียงหนึ่งในผู้ผลิต EV จากผู้ผลิตหลายรายเท่านั้น ผู้ผลิตรถยนต์สตาร์ตอัปของจีนได้จับมือเป็นพันธมิตรกันกับบริษัทเทคโนโลยี ส่งมอบประสบการณ์ที่เหนือกว่าที่ Tesla ทำได้

ผู้ผลิตรถยนต์หน้าใหม่อย่าง BYD, Nio และ Xpeng ต่างเอาชนะ Tesla ในตลาดจีนด้วยการจัดหาไมโครโฟนคาราโอเกะในรถยนต์ ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการที่เฉพาะเจาะจงกับคนจีนมากกว่าค่ายรถจากอเมริกา เพราะพวกเขาเข้าใจไลฟ์สไตล์ของคนจีนมากกว่า

ตัดมาที่อีกเรื่องที่ก่อนหน้านี้ยังไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงในวงการรถยนต์มากนัก นั่นก็คือการแข่งขันการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบไร้คนขับ ที่ซึ่งตลาดนี้ยังเปิดกว้างอยู่เพราะมีผู้ผลิตรถยนต์น้อยรายที่ซุ่มพัฒนาฟีเจอร์นี้ ขนาด Tesla ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำยังเจออุปสรรคมากมาย อย่างการที่รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติแล้วไปชนคนเสียชีวิตก็เป็นเรื่องความนิ่งและความแม่นยำในระบบเซนเซอร์ของรถยนต์

และแม้ว่าหนทางสู่รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (ไม่มีคนขับอยู่บนรถเลย) จะเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบ “แฮนด์ออฟ” หรือมีคนขับอยู่บนรถยนต์ แต่ไม่ต้องจับพวงมาลัย ก็มีแววว่าจะได้รับความนิยมและดูจะเป็นจริงได้มากกว่า โดยเฉพาะในเขตมอเตอร์เวย์และบางพื้นที่ในเขตเมือง (ที่มีถนนหนทางและมีสิ่งก่อสร้างที่วางผังไว้ชัดเจน) เรื่องนี้ก็ใกล้ที่จะสามารถทำให้อยู่ในรูปแบบเชิงพาณิชย์ได้แล้ว

ในขั้นตอนนี้เหลือเพียงผู้ผลิตรถยนต์กำลังทบทวนว่า พวกเขาจะมีส่วนร่วมในวงจรนี้อย่างไร โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถร่วม (เช่น Uber , Grab) และการแบ่งปันรถยนต์ (Car Sharing) โดยมีคำถามใหญ่อยู่ที่พวกเขาจะสามารถสร้างรายได้จากการให้เช่าใช้งานรถยนต์มากกว่าการขายสิทธิ์ความเป็นเจ้าของรถยนต์เพียงอย่างเดียวได้อย่างไร ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ในการขายปลีกรถยนต์ขึ้นมา

บททดสอบด่านสุดท้ายมาจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังมาระลอกใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างอเมริกากับจีน อัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น ข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นในการถ่ายโอนเทคโนโลยี การฟื้นฟูห่วงโซ่อุปทาน และการอุดหนุนที่มากขึ้นสำหรับการผลิตในประเทศ ล้วนเป็นภัยคุกคามที่มีผลกระทบที่สามารถจะหยุดการพัฒนาไปสู่โลกใหม่แห่งยานยนต์หรือแม้แต่พาวงการนี้ย้อนกลับไปสู่โลกยุคเก่าได้เลย ดังนั้น ผู้ผลิตรถยนต์จะต้องพบกับการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

สำหรับบริษัทเดิม ทั้งหมดนี้ต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และการวางระบบใหม่ พวกเขายังคงรักษาข้อได้เปรียบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นทักษะในการผลิต แบรนด์ที่ได้รับความนิยมและทรงพลัง รวมถึงการเข้าถึงเงินทุนจำนวนมหาศาล

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผู้ผลิตหน้าเก่าประมาทไม่ได้ก็คือ คนรุ่นใหม่ไม่ได้มีรสนิยมยึดติดกับสิ่งเดิม พวกเขาไม่ได้เชื่อหรือศรัทธาที่แบรนด์เป็นแบรนด์ที่อยู่มานาน แต่พวกเขานิยมชมชอบการทดลองสิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะการให้ค่าประสบการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้น สตาร์ตอัปหน้าใหม่ผู้ผลิตรถยนต์ก็ยังคงมีที่ว่างให้เติบโตได้เสมอตราบใดที่พวกเขาไม่หยุดพัฒนา

 

อ้างอิง

 

https://www.economist.com/special-report/2023/04/14/all-change



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน