ตลาดความงาม เป็นอย่างไร ในวันที่ ลอรีอัล ขอแปลงตัวเองเป็น Unicornnus Rex

คาดการณ์ว่าในปีนี้ตลาดความงามเติบโตต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 หลังจากตลาดนี้ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงของโควิด-19

ในปีที่ผ่านมา ลอรีอัลอ้างอิงข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ว่า ตลาดความงามไทย มีมูลค่า 149,300 ล้านบาท เติบโต 9.5% มูลค่านี้ไม่รวมผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย ระงับกลิ่นกาย และโกนหนวดชาย

และในปีนี้ แพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา คาดการณ์ว่า ตลาดความงามจะเติบโต 10 – 20% ด้วยมูลค่า 164,230 – 179,160 ล้านบาท

มองลึกลงไปตลาดความงามประเทศไทยมูลค่า 149,300 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าหลักมาจากผลิตภัณฑ์ดูแลผิวเป็นหลัก ด้วยมูลค่า 89,000 ล้านบาท เติบโต 11%

รองลงมาได้แก่

เส้นผม 30,000 ล้านบาท เติบโต 10.5%

เครื่องสำอาง 20,800 ล้านบาท เติบโต 3%

น้ำหอม 9,500 ล้านบาท เติบโต 11%

 

การเติบโตของตลาดความงามในประเทศไทย เป็นการเติบโตที่มาจาก

  1. การขับเคลื่อนของชนชั้นกลางที่คนกลุ่มนี้มีอำนาจการจับจ่ายมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีชนชั้นกลางอยู่ที่ 7 ล้านคน
  2. ผู้บริโภคไทยมองหาสินค้าที่มีคุณภาพ และพร้อมที่จะจ่ายมากขึ้น
  3. ตลาดความงามไทยในปัจจุบันไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์แต่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค เช่น นวัตกรรมลดเลือนริ้วรอย และอื่นๆ

 

ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักของลอรีอัล คือชนชั้นกลาง และใช้นวัตกรรมเข้าถึงผู้บริโภค และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง

สำหรับลอรีอัล ประเทศไทย ในปีที่ผ่านมามีการเติบโต 10.9% เป็นการเติบโตมากกว่าตลาด

และในปีนี้แพทริควางแผนการเติบโตมากกว่าตลาดเช่นกัน

การเติบโตมากกว่าตลาดของลอรีอัล แพทริค กล่าวว่า ลอรีอัล ต้องวางตัวเป็น Unicornnus Rex ที่มาจากการผสมผสานระหว่าง Unicorn กับ T-Rex

ในส่วนของ Unicorn  คือการสร้างรายได้ให้เติบโตเหมือนกับ Unicorn ในกลุ่ม Startup

ส่วน T-Rex สื่อถึงแบรนด์ที่อยู่มานาน แต่เป็นแบรนด์ที่ไม่แก่ และพร้อมที่จะพุ่งไปข้างหน้าเปิดโอกาสในอนาคต

การเป็น Unicornnus Rex ของลอรีอัล จะประกอบด้วย

1. การรักษาความเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดเดิม และขึ้นชิงที่หนึ่งในตลาดที่ยังเป็นเบอร์สองจากคู่แข่ง

ที่ผ่านมากลุ่มแบรนด์ในเครือ ลอรีอัล ประเทศไทย เป็นเบอร์หนึ่งในตลาดความงามและดูแลผิวผ่านแบรนด์การ์นีเย่

เป็นเบอร์หนึ่งในตลาดเครื่องสำอางผ่านแบรนด์เมย์เบลลีน นิวยอร์ก

เป็นเบอร์หนึ่งในตลาดเส้นผมสำหรับช่างผมมืออาชีพผ่านแบรนด์ลอรีอัล และเคเรสตาส รวมกัน

ส่วนกลุ่มเวชสำอางในสิ้นปีที่ผ่านมาแบรนด์ยอดจำหน่ายของแบรนด์ ลาโรช-โพเซย์, วีซี่ และเซราวี รวมกันยังเป็นเบอร์สองรองจากกลุ่มยูเซอรีน

และน้ำหอม เป็นเบอร์สองรองจากกลุ่ม  LVMH

แพทริค ให้ข้อมูลว่าในไตรมาสแรกของปี 2023 ลอรีอัลสามารถทำขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในกลุ่มเวชสำอาง และน้ำหอมเป็นที่เรียบร้อย และเขาต้องการรักษาความเป็นเบอร์หนึ่งต่อเนื่องทั้งปี 2023

โดยเฉพาะกลุ่มเวชสำอาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ แพทริค มองว่าเป็นตลาดที่มีโอกาสการเติบโตสูง จากผู้บริโภคหลังโพสต์ควิดที่หันมาให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่ดูแลผิวและสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับประเทศไทยมีคลินิกผิวหนังจำนวนมาก ซึ่งคลินิกเหล่านี้เป็นกระบอกเสียงที่จะแนะนำผลิตภัณฑ์เวชสำอางไปสู่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

2. วางแผนนำผลิตภัณฑ์แบรนด์อื่น ๆ ที่เหมาะสมกับตลาดประเทศไทยเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น

ที่ผ่านมา ลอรีอัล กรุ๊ป ระดับโกลบอลมีผลิตภัณฑ์รวมกันทั้งหมด 30 กว่าแบรนด์ และมีการซื้อธุรกิจแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาเติมเต็มพอร์ตโฟลิโออย่างต่อเนื่อง

แต่ในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายเพียง 15 แบรนด์ได้แก่

กลุ่มผลิตภัณฑ์อุปโภค ประกอบด้วยแบรนด์ ลอรีอัล ปารีส, การ์นิเย่ และ เมย์เบลลีน นิวยอร์ก

กลุ่มผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง: ลังโคม, ไบโอเธิร์ม, จิออร์จิโอ อาร์มานี, คีลส์, ชู อูเอมูระ, อีฟส์ แซ็งต์ โลร็องต์ และ อิท คอสเมติกส์

กลุ่มผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ: ลอรีอัล โปรเฟสชั่นแนล และเคเรสตาส

กลุ่มผลิตภัณฑ์เวชสำอาง: ลา โรช-โพเซย์, วิชี่ และเซราวี

ซึ่งลอรีอัลยังสามารถนำแบรนด์อื่น ๆ ในเครือเข้ามาทำ ตลาดความงาม ได้อีกมาก

และแพทริค มีแผนที่จะนำแบรนด์ต่าง ๆ เข้ามาทำตลาดเพิ่ม ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาโอกาสทางตลาด

แต่แบรนด์ที่มีความเป็นไปได้ในการนำมาทำตลาดอาจจะเป็นแบรนด์เครื่องสำอาง 3CE ที่ลอรีอัลกรุ๊ปซื้อกิจการของ บริษัท NANDA จากประเทศเกาหลีในปี 2018 ในบริษัท NANDA มีแบรนด์แฟชั่น Stylenanda และแบรนด์เมคอัพดังอย่าง 3CE อยู่ในนั้น

ซึ่งในปัจจุบันแบรนด์ 3CE ในประเทศไทยจำหน่ายผ่านดิสทริบิวเตอร์อยู่

แบรนด์สกินแคร์ญี่ปุ่นทาคามิ ที่ลอรีอัลบรรลุข้อตกลงเข้าซื้อกิจการจากบริษัท ทาคามิ โค ในปลายปี 2020

และดูความชัดเจนจากลอรีอัล โกลบอล หลังซื้อแบรนด์เอสอปจากออสเตรเลียเมื่อต้นเมษายน 2023 ที่ผ่านมา

3. ให้ความสำคัญกับ R&D และ Beauty Tech ผ่านแนวคิด Beauty Each

ปรับเปลี่ยนภาพจาก Beauty for All ความงามของทุกคน เป็น Beauty Each ความงามที่แตกต่างเฉพาะบุคคล ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีความแตกต่างทั้งภูมิหลัง วัฒนธรรม และความต้องการที่หลากหลาย ที่ไม่ได้เป็นความงามแบบเหมารวม

ผ่านการทำ R&D ด้วยงบลงทุนมากกว่า 3% ของรายได้ทั้งหมด หรือมากกว่า 1,000 ล้านยูโร และนำเสนอผ่านผลิตภัณฑ์หลาก Category ที่แตกต่างกันไป

รวมถึงใช้ Beauty Tech ในการนำเสนอเทคโนโลยีความงามกว่า 15 บริการแก่ผู้บริโภคไทย เพื่อขับเคลื่อนโอกาสทางการตลาดในอนาคตผ่านดาต้าอีกด้วย

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online