ไม่ต้องแปลกใจ ถ้าจะมองไปทางไหนก็เห็นแต่คนใส่กางเกงช้าง บางทีเดินมาเป็นคู่ก็ใส่ทั้งคู่ บางทีเดินมาเป็นกลุ่มก็ใส่กันทั้งแก๊ง แถมมองไปทางไหน แผงขายกางเกงช้างก็เต็มไปหมด

เพราะตอนนี้กางเกงช้างของไทยกำลังกลายเป็นไอเทมฮิต ที่ไม่ว่าคนชาติไหนก็หยิบหามาใส่ ราวกับว่าถ้าไม่ได้ใส่เหมือนมาไม่ถึงเมืองไทย

ความนิยมในวงกว้างไปเข้าตา James Brooks และ Nathan Coleman สองเพื่อนซี้ ที่เอาแรงบันดาลใจจากประเทศไทยไปต่อยอดเป็นธุรกิจ เข้าเเข่งขันในรายการ Shark Tank

กางเกงช้าง ที่ไทยผลิต ไทยฮิต เเละต่างชาติก็แห่ซื้อใส่ด้วย กำลังกลายเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการที่มองเห็นช่องทางทำเงิน

กางเกงช้างในรายการ Shark Tank

 

กางเกงช้างที่คนไทยใส่จนชิน เเต่ต่างชาติมองว่า Amazing Thing in Thailand

“กางเกงช้าง” หรืออีกชื่อว่ากางเกงฮิปปี้ หรือกางเกงฮาเร็ม กลายเป็นเเรงบันดาลใจให้กับ Nathan Coleman หลังได้เดินทางมายังประเทศไทยปี 2013  Nathanได้ซื้อกางเกงช้างให้ตัวเองเเละซื้อไปฝากเป็นของขวัญให้เพื่อน ๆ ปรากฏว่าทุกคนต่างชื่นชอบเเละถามหากางเกงตัวนี้เต็มไปหมด จึงมองเห็นโอกาสในการต่อยอดสู่ธุรกิจ

เดิมทีทั้ง James และ Nathan ต่างก็รักช้างมาตั้งแต่เด็ก พวกเขาตระหนักดีถึงปัญหาการทารุณช้าง จึงตัดสินใจก่อตั้งธุรกิจ อนึ่ง เพื่อช่วยเหลือสัตว์ที่ถูกทรมาน

พวกเขาเริ่มต้นธุรกิจด้วยการระดมทุนได้ 8,426 ดอลลาร์ใน kickstarter เเละเริ่มขายกางเกงเเบบ Free size ก่อน ขณะนั้นมีกางเกง 6 รูปแบบ เเต่มีขนาดเดียว ราคาขายอยู่ที่ประมาณ 24.95 ดอลลาร์ ขายใน Amazon เเละตามสตูดิโอโยคะหลายสิบแห่ง รวมถึงร้านเสื้อผ้าเล็ก ๆ ทั่วประเทศ

จะเรียกว่าโชคก็ได้ เพราะ Elephant Pants เติบโตได้ง่ายเป็นพิเศษตั้งแต่วันแรก  พวกเขาสามารถทำกำไรได้ดีในสองเดือนแรก ขายกางเกงไปได้มากกว่า 400,000 ชิ้น เเละมอบเงินมากกว่า 127,000 ดอลลาร์ ให้กับองค์กรช่วยเหลือช้างไม่แสวงผลกำไรทั่วโลก

แม้กางเกงจะมีรูปแบบคล้ายกันนับสิบตัวแต่กลับมียอดขายถึง 7 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลาเพียงสองปี และยังไม่ได้เข้าร่วมรายการ Shark Tank เลย

มูลค่าธุรกิจสุทธิของกางเกงช้างก่อนที่จะปรากฏใน  Shark Tank อยู่ที่ 5 ล้านดอลลาร์

เเต่เมื่อ James Brooks และ Nathan Coleman เข้าร่วมในรายการ Shark Tank เพื่อลองเสนอขายกางเกงช้าง ในชื่อ The Elephant Pants โดยมีความเเตกต่างจากบริษัทเครื่องแต่งกายอื่น ๆ เพราะมาพร้อมกับสโลแกน “ช่วยช้าง อุ่นใจ” โดยนำกำไรจากการขาย 10% ส่งตรงไปยังมูลนิธิอนุรักษ์สากล เปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการรณรงค์เพื่อช่วยเหลือช้าง

กรรมการได้รับสินค้ากางเกงช้าง ในรายการ Shark Tank

การปรากฏตัวในรายการ Shark Tank

James และ Nathan เปิดตัวในรายการตอนสุดท้ายของซีซั่น 8  พร้อมช้างกระดาษตัวโต เพื่อระดมทุน 500,000 ดอลลาร์ เเละได้ Daymond เป็นนักลงทุน เขาชื่นชอบแนวคิดเบื้องหลังแบรนด์ และเสนอเงินให้ 500,000 ดอลลาร์ แลกหุ้น 20% เเต่ James และ Nathan ก็เจรจาลดลงเหลือ 17.5% สำหรับเงินลงทุนเท่ากัน

กางเกงช้างค่อนข้างมีเอกลักษณ์ ได้รับการออกแบบตามสไตล์แฮนด์เมดที่จดสิทธิบัตรในประเทศไทย

ด้วยความเบาบางสบาย เเต่ลวดลายที่อินเทรนด์ จึงสวมใส่ได้หลายโอกาส ทั้งออกกำลังกาย พักผ่อน ตลอดจนออกไปเที่ยวข้างนอก

โดยที่กลุ่มลูกค้าเเบรนด์จะเน้นผู้หญิงอายุ 18-24 ปีเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันแบรนด์ก็เล็งขยายไปยังลูกค้าผู้ชายด้วย

หลังการปรากฏตัวใน Shark Tank กางเกงช้างก็เติบโตเเละขยายไลน์ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ กางเกงฮาเร็ม เก้าอี้นวม กางเกงผ้ายืด กางเกงโยคะ กางเกงอัดพลีต กางเกงขาสั้น ชุดกิโมโน

กางเกงช้างที่ขายบนเว็บไซต์ TheElephantPants.com

พึ่งพาช่องทางการขายแห่งเดียวมากเกินไป

ทั้งนี้ ยอดขายของ The Elephant Pants ใน 7 ล้านดอลลาร์  95% ของยอดขายทั้งหมดมาจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ในขณะที่อีก 5% มาจากตลาดค้าส่ง

การตลาดที่พึ่งพาโซเชียลมากเกินไปเป็นที่น่ากังวลเมื่อต้องพึ่งพาช่องทางการขายเพียงช่องทางเดียว The Elephant Pants ทำการตลาดใน Facebook เพราะ related กับกลุ่มลูกค้ามากที่สุด

เหมือนต้องทุ่มเงินโฆษณาเเลกกับยอดซื้อ

Nathan เผยว่าพวกเขาต้องทุ่มงบ 75,000 ดอลลาร์ลงโฆษณาใน Facebook เพื่อให้ได้ยอดขาย 434,000 ดอลลาร์

ไปต่อไม่ไหว หายออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ธุรกิจเเล้ว

เเละในปี 2017 ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้น เมื่อ James Brooks หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งได้ออกจาก The Elephant Pants ปัจจุบันเขาไปดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าของ JB Financial

Shark Tank เขียนบล็อกอัปเดตข้อมูลและติดตามผู้ประกอบการที่เคยปรากฏตัวในรายการ Shark Tank ตลอด ปัจจุบันไม่มีจำหน่ายใน Amazon แล้ว โดย TheElephantPants.com เลิกกิจการไปเมื่อสิ้นปี 2561 โดยขายธุรกิจให้ซัปพลายเออร์ชาวจีน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 เว็บไซต์ของบริษัทปิดดำเนินการ เเละไม่มีผลิตภัณฑ์ของบริษัทบน Amazon เเล้ว  หน้าโซเชียลมีเดียก็หยุดเคลื่อนไหวไปตั้งเเต่สิ้นปี 2018  ส่วน James Brooks ผู้ร่วมก่อตั้ง ก็ลาออกไปช่วงปี 2017

มีตัวเเทนจากบริษัทออกมาเปิดเผยว่า The Elephant Pants ได้เลิกกิจการเเละขายบริษัทให้กับซัปพลายเออร์ชาวจีนไป  ยังคงไม่มีการยืนยันว่าผู้ที่รับช่วงต่อยังขายโดยใช้ TheElephantPants.com อยู่หรือไม่ เเต่อัปเดตล่าสุดในเดือนตุลาคม 2022 พบว่า The Elephant Pants หายไปจากสารบบธุรกิจเป็นที่เรียบร้อยเเล้ว


อ้างอิง: sharktankblog, theelephantpants, Insidergrowth, sharktankrecap, STS, biznewske, 2paragraphs, reddit, sharktanktales, bizzbucket, gazetereview, KirkTaylor, business2community



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน