ตลาดรองเท้าวิ่งไทยจะวิ่งสนุกขึ้น

เมื่อแบรนด์ Craft หนึ่งในรองเท้าวิ่งกลุ่มไรซิ่งสตาร์ หรือรองเท้าวิ่งแบรนด์ทางเลือก ด้วยการเปิดแฟลกชิปสโตร์ครั้งแรกในไทย และโลกที่สยามดิสคัพเวอรี่ ในรูปแบบ Experience Store ที่โชว์และจำหน่ายรองเท้าวิ่งและเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ Craft อย่างเต็มรูปแบบ

พร้อมกับวางกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกเพื่อเข้าถึงกลุ่มนักวิ่งโดยเฉพาะนักวิ่งที่วิ่งอย่างจริงจัง

การเข้ามาของ Craft เป็นการเข้ามาในช่วงที่กิจกรรมวิ่งเริ่มกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง มีงานวิ่งใหญ่ ๆ จัดในประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่จำกัดเฉพาะกรุงเทพฯ หลังจากที่เว้นระยะการจัดไป 2-3 ปีที่ผ่านมาในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด

ตลอดจนมีนักวิ่งหน้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวัน และเป็นนักวิ่งที่อายุน้อยลง

การเข้ามาทำตลาดของ Craft ในวันนี้จึงเหมือนเป็นโอกาสในการสร้างตลาดในประเทศไทย

แต่การสร้างตลาดของ Craft มีความท้าทายที่สำคัญหลากประการ

โดยเฉพาะความท้าทายในเรื่องของ

– Brand Awareness ที่คนไทยยังไม่รู้จักนัก โดยในวันนี้แบรนด์ Craft เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักวิ่งไม่มากนัก ขวัญพงษ์ ชื่นฤดีมล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพลย์กราวน์ สามหกศูนย์ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายแบรนด์ Craft ยอมรับว่า ในปัจจุบันตลาดเอเชียและไทยยังไม่รู้จักแบรนด์ Craft มากนัก ในประเทศไทยมีนักวิ่ง 3 ใน 10 คนที่รู้จักแบรนด์นี้ จากการฝากหิ้วมาจากต่างประเทศ หรือซื้อจากเรฟ รันเนอร์ ร้านรองเท้าวิ่งมัลติแบรนด์ที่ Craft นำรองเท้าวิ่งเข้ามาจำหน่ายทดลองตลาด 1 รุ่นในปีที่ผ่านมา

เนื่องจากแบรนด์ Craft เป็นแบรนด์ที่เกิดจากสวีเดน ที่เริ่มเข้าสู่ธุรกิจรองเท้าวิ่งเพียง 4-5 ปีที่ผ่านมา จากเดิมที่แบรนด์ Craft เป็นแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับนักวิ่ง เทรนนิ่ง ยิม และจักรยาน

การเข้าสู่ธุรกิจรองเท้าของ Craft มาจากลูกค้าส่วนใหญ่ของ Craft เป็นนักวิ่ง การมีรองเท้าวิ่งทำให้ Craft สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า และเป็นการป้องกันไม่ให้นักวิ่งไปใช้เสื้อผ้าของแบรนด์อื่นเพื่อให้ใส่เป็นแบรนด์เดียวครบชุดอีกด้วย ตลาดรองเท้ากลุ่มไรซิ่งสตาร์ เป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันกับแบรนด์รองเท้าในกลุ่มไรซิ่งสตาร์เหมือนกันที่มีอยู่ประมาณ 8-10 แบรนด์ เช่น Hoka และ Saucony

ซึ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาแบรนด์ Saucony เรฟ อีดิชั่น ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เริ่มทำตลาดอย่างจริงจังผ่านการนำสินค้า และการตลาดอย่างต่อเนื่อง

เพราะเรฟ อีดิชั่นวางเป้าหมายว่าจะพาแบรนด์ Saucony ติดทอป 3 ในตลาดรองเท้าวิ่งในปี 2024 จากปัจจุบันที่อยู่ในทอป 5 ตลาดรองเท้าวิ่งรวม

และ Craft ยังต้องแข่งขันกับแบรนด์รองเท้าวิ่งระดับแมสอย่าง Nike, Adidas Asics, New Balance, Mizuno ซึ่งเป็นแบรนด์ที่คนไทยรู้จักดี

จากความท้าทายที่ได้กล่าวมา Craft จะทำตลาดเพื่อก้าวข้ามความท้าทายอย่างไร

1. สร้าง Brand Awareness ให้นักวิ่งรู้จัก Craft มากขึ้น

การสร้าง Brand Awareness ของ Craft ประกอบด้วย

– เปิดแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกในไทยและโลก เหตุผลที่เลือกไทยเป็นประเทศแรกที่เปิดแฟลกชิปสโตร์มาจากพฤติกรรมคนไทยนิยมซื้อสินค้าจากร้านจำหน่ายที่เป็นซิงเกิลแบรนด์ที่เปิดโดยเจ้าของแบรนด์หรือตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการมากกว่าซื้อสินค้าในร้านมัลติแบรนด์เหมือนในต่างประเทศ

การเปิดแฟลกชิปสโตร์นอกเหนือจากเป็นช่องทางการขายยังสร้างความมั่นใจและการรับรู้ถึงแบรนด์ให้กับคนทั่วไปที่เข้ามาใช้บริการในสยามดิสคัพเวอรี่และนักวิ่งได้ทางหนึ่ง

– เป็นผู้สนับสนุนอีเวนต์วิ่ง 1 งานในปีนี้ เพื่อให้นักวิ่งที่เข้ามาร่วมงานอีเวนต์เห็นและรู้จักแบรนด์

– จัดให้การสนับสนุนและจัดตั้งทีมนักวิ่งหน้าใหม่ในรูปแบบ Club Member ด้วยการเปิดรับสมัครเยาวชนที่สนใจการวิ่ง 10 คน แบ่งเป็นชาย 5 คน หญิง 5 คน เพื่อนำมาฝึกฝนพัฒนาการวิ่งผ่านโปรแกรมวิ่งต่าง ๆ และเป็นตัวแทนแบรนด์ สร้างการรับรู้ผ่านการวิ่งของเยาวชนกลุ่มนี้ และยังพาแบรนด์เข้าถึงกลุ่มนักวิ่งที่มีอายุน้อยตามเทรนด์การเติบโตของจำนวนนักวิ่งอีกด้วย

– สนับสนุนนักวิ่งที่มีชื่อเสียงทดสอบและรีวิวสินค้าเพื่อให้เกิดการรับรู้ในกลุ่มนักวิ่ง

– Collab กับนักวิ่งระดับโลกอย่าง Tommy Rivs นักวิ่งที่เป็นมะเร็งและพาตัวเองกลับมาวิ่งได้อีกครั้ง จนล่าสุดได้แชมป์ World Trail Championships 2022 และเรื่องราวของ Tommy ยังถูก Netflix มาทำเป็นซีรีส์เพื่อเล่าเรื่องราวของเขาอีกด้วย

นอกจากนี้ ในอนาคต Craft ยังมีแผนที่จะ Collab กับนักวิ่งและศิลปินอื่น ๆ อีกด้วย

2. สร้างประสบการณ์กับสินค้าที่มีจุดขายเทคโนโลยีและดีไซน์มินิมอลที่สามารถใส่ได้ทุกโอกาส

ขวัญพงษ์วางกลยุทธ์การตลาดสร้างประสบการณ์เข้าถึงนักวิ่งโดยตรง ด้วยการเปิดให้นักวิ่งหรือผู้สนใจเข้ามาที่แฟลกชิปสโตร์เพื่อขอยืมรองเท้าไปทดลอง 3 วัน 2 คืน เพื่อทดลองใช้งานจริง การเปิดให้ทดลองใช้สินค้านอกเหนือจาก Craft จะได้ลูกค้าใหม่จากการทดลองใช้งานจริงและประทับใจในสินค้า ยังสามารถสร้าง Awareness ผ่านการบอกต่อไปยังบุคคลอื่นได้อีกทางหนึ่ง

3. ช่องทางจัดจำหน่ายที่เข้าถึงนักวิ่ง

นอกเหนือจากแฟลกชิปสโตร์ Craft ยังมีการจำหน่ายสินค้าผ่านเว็บไซต์ และพาร์ตเนอร์อย่างซูเปอร์สปอร์ต เรฟรันเนอร์ รวมถึงการขยายไปยังช่องทางขายที่เป็นพาร์ตเนอร์อื่นๆ ในอนาคต โดยปัจจุบันเน้นไปยังกรุงเทพฯ เป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังมีแผนเข้าถึงตลาดต่างจังหวัดจากการมองเห็นนักวิ่งมีอยู่ทุกที่ ด้วยการจับมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อเข้าถึงตลาดกลุ่มนี้ โดย 3 จังหวัดแรกที่ Craft ต้องการไป ได้แก่ ภาคเหนือ-เชียงใหม่ อีสาน-ขอนแก่น และภาคใต้-ภูเก็ต

การเข้ามาทำตลาดของ Craft ในวันนี้ได้ใช้งบการตลาด 120 ล้านภายใน 3 ปี โดยคาดหวังว่าจะสามารถสร้างรายได้ 200 ล้านบาทในปีนี้ และเติบโตอย่างต่อเนื่อง 30% ในอีก 3 ปีต่อจากนี้

อย่างไรก็ดี ตลาดรองเท้าประเทศไทยในปี 2023 Statista คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่า 2,650 ล้านดอลลาร์ หรือ 90,000 ล้านบาท)

แบ่งเป็น

สนีกเกอร์ 290 ล้านดอลลาร์ (9,900 ล้านบาท)

รองเท้ากีฬา 180 ล้านดอลลาร์ (6,100 ล้านบาท)

รองเท้าหนัง 1,030 ล้านดอลลาร์  (35,000 ล้านบาท)

รองเท้ายาง และอื่น ๆ  เช่น Crocs 1,160 ล้านดอลลาร์ (39,000 ล้านบาท)

โดยในตลาดรองเท้ากีฬา รองเท้าวิ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด โดยนักวิ่งที่จริงจังกับการวิ่งแต่ละคนมีรองเท้าเฉลี่ย 3-5 คู่ต่อปี

แบ่งเป็นรองเท้าซ้อม 2-3 คู่ และรองเท้าวิ่งแข่ง 1-2 คู่

และนักวิ่งเหล่านี้ไม่ได้เลือกซื้อรองเท้าจากแบรนด์ แต่เลือกซื้อจากเทคโนโลยีเป็นหลัก ซึ่งพฤติกรรมนี้เป็นโอกาสที่ Craft จะเข้ามาบุกตลาดและเข้าถึงนักวิ่งได้อย่างน่าสนใจ

แต่ Craft จะวิ่งให้คนรู้จักได้มากแค่ไหนคงต้องดูกันต่อไปยาว ๆ



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน