พัทยาฟู้ด ทำความรู้จักบริษัทขายปลากระป๋องที่โตเงียบรายได้ 8.8 พัน ลบ.
พัทยาฟู้ด – PFG เป้ารายได้ปี 2566 โต 7% หรือ 8,800 ล้านบาท สบช่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หันมาโฟกัส พัฒนา 9 แบรนด์ในเครือให้แข็งแกร่ง ลดเสี่ยงรับจ้างผลิตผันผวน ทุ่มตลาด Pet Humanization ด้วยแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงพรีเมียม เหตุมีโอกาสชิงแชร์มากกว่า ตลาดแมสที่แข่งเดือด
วิชัย กรณปกรณ์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทพัทยาฟู้ด (PFG-Pataya Food Group) กล่าวว่า PFG เป็นกลุ่มบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายอาหารทะเลกระป๋องและอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ดำเนินธุรกิจในไทย มาถึง 44 ปี ปัจจุบันมีพนักงานรวมกว่า 4,000 คน
ช่วง 10 ปีแรก บริษัทเน้นด้านการลงทุนพัฒนาระบบการผลิต จนเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลกระป๋อง ประเภททูน่า รายแรกในไทยที่ได้รับมาตรฐานสากล ISO ช่วง 10 ปีที่สอง บริษัทสร้างแบรนด์ทูน่ากระป๋องแรกเริ่มของตัวเอง อย่าง นอติลุส (Nautilus) จนมีฐานลูกค้าหนาแน่นมาถึงปัจจุบัน และเป็นโปรดักต์ต้นตำรับ ที่บอกตัวตนของ PFG ได้อย่างดี
ช่วง 10 ปีที่สาม บริษัทต้องเผชิญกับวิกฤตวัตถุดิบและแรงงาน จึงตัดสินใจขยายฐานผลิต ด้วยการไปจัดตั้งโรงงาน ที่ประเทศเวียดนาม เนื่องจากมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลค่อนข้างสมบูรณ์
และด้วยสภาวะอากาศที่ผันผวน กับปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งส่งผลให้วัตถุดิบหลัก อย่าง ปลาทูน่า มีราคาพุ่งสูงขึ้น ทำให้หลังช่วง 10 ปีที่สี่เป็นต้นมา บริษัทก็หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ของตัวเอง ให้มีความแข็งแรงขึ้น และมุ่งเน้นพัฒนาแบรนด์อื่น ๆ นอกเหนือจากอาหารทะเลกระป๋อง
ปี 2565 PFG ทำยอดขายรวมทั้งกลุ่มบริษัท อยู่ที่ 8,200 ล้านบาท CAGR ปี 2560-65 อยู่ที่ 11% สัดส่วนยอดขาย มาจาก 2 โรงงานผลิตหลัก 1. โรงงานที่ ต. มหาชัย อ. เมืองสมุทรสาคร จ. สมุทรสาคร 6,800 ล้านบาท และ 2. โรงงานที่เวียดนาม 1,400 ล้านบาท
แบ่งเป็นสัดส่วนส่งออก 75% กระจายตัวอยู่ในโซน อาทิ สหภาพยุโรป, อเมริกา, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กับผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 25% ส่วนรูปแบบการผลิตสินค้าทั้งหมด เป็น OEM 45%, ODM 30% และ OBM 25%
จำแนกตามเซกเมนต์อาหาร Human Food 75% และ Pet Food 25% มี 9 แบรนด์อาหารทะเล และอาหารเพื่อสุขภาพ ภายใต้การผลิตและจัดจำหน่ายโดย PFG เอง
ดังนี้ แบรนด์ทูน่ากระป๋อง นอติลุส (Nautilus) โปรดักต์ต้นตำรับ ที่ผู้บริโภคคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว และแชร์ส่วนแบ่งตลาดทูน่ากระป๋องในประเทศเป็นอันดับต้น ๆ และนอติลุสไลท์ (Nautilus Lite) ทูน่ากระป๋องที่ลดปริมาณโซเดียมลงจากสูตรปกติ 30%
แบรนด์มัลติเกรนโอ๊ตมีล นอติลุสเอ็กซ์เท็น (Nautilus X-Ten) ตอบสนองเทรนด์ ซุปเปอร์ฟู้ด และไลฟ์สไตล์อันเร่งรีบในชีวิตประจำวัน
แบรนด์ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล ในซอส มงกุฎทะเล (Mongkut Talay) และ ซีคราวน์ (SEACROWN)
แบรนด์ขนมขบเคี้ยว ไททัน (TITAN) เปิดตัวด้วยผลิตภัณฑ์หนังปลาแซลมอนทอดกรอบ อุดมไปด้วยโปรตีน และโอเมก้า 3, 6 และ 9 วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ เช่น ท็อปส์ โลตัส
แบรนด์อาหารพร้อมรับประทาน ม่อนชะเมา (Mont Shamau) ซึ่งใช้วัตถุดิบจากพื้นที่เกษตรกรรมเล็ก ๆ ใกล้ ๆ อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา จังหวัดระยอง มาทำเป็นฟาร์มปลูกผัก-ผลไม้ ที่ได้รับการรับรองเป็นออร์แกนิก และมีหน้าร้าน แบบ Grab & Go เปิดบริการอยู่ที่ชั้นล่างของตึกสยามสเคป ณ สยามสแควร์ และมีแผนเปิดหน้าร้านเพิ่มขึ้นในอนาคต
แบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงพรีเมียม อย่างแบรนด์รีกาลอส (Regalos) ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ คุณภาพสูงระดับเดียวกับอาหารคน และ แบรนด์เรมี่ (Remy) ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ พัฒนาสูตรอาหารโดยทีมนักโภชนาการสัตวแพทย์
โดยบริษัทพยายามวางตัวแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยง ให้อยู่ในกลุ่มพรีเมียม เพราะยังมีโอกาสเติบโตของส่วนแบ่งตลาดอยู่ ทั้งคู่แข่งยังไม่เยอะ และดุเดือดเท่าตลาดแมส
ปี 2566 บริษัทตั้งเป้าเติบโต 7% หรือ 8,800 ล้านบาท งบลงทุนตลอดทั้งปี 500 ล้านบาท รวมงบต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว
สาเหตุที่ตั้งเป้าเติบโตระดับซิงเกิล ดิจิต ซึ่งน้อยที่สุดในรอบ 4-5 ปี เพราะสภาวะเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ที่ยังอยู่ในช่วงชะลอตัว ซึ่งบริษัทยังมองในแง่ดี ว่าเป็นโอกาสในการหันกลับมาทำเรื่องพัฒนาคุณภาพสินค้า
และสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงาน ด้วยการเน้นพัฒนา 9 แบรนด์ของบริษัทเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงผันผวน จากการพึ่งพึงรายได้ในส่วนรับจ้างผลิตเป็นหลัก
ทั้งเพื่อเตรียมความพร้อมในวันที่ผู้บริโภค กลับมามีกำลังซื้อเป็นกราฟรีบราวน์ดีดขึ้นอีกครั้ง โดยบริษัทมองเห็นโอกาสใหญ่ ในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง หลัง ปี 2565 มีอัตราเติบโต ถึง 30% จากเทรนด์เวิร์กฟอร์มโฮม ที่ทำให้ผู้บริโภค มีเวลาหันมาใส่ใจ และได้ใช้เวลากับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น
ทั้งเทรนด์ Pet Humanization หรือการเลี้ยงสัตว์เหมือนสมาชิกในครอบครัว ก็เป็นแนวทางสำคัญ ที่ทำให้บริษัทจะดำเนินแผนงานด้านการตลาด เพื่อเจาะผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นพิเศษ
ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงไทย
หมื่นล้านบาท อาหารแมว ครองแชร์ 3 พันล้านบาท |
|
มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในไทย ปี 2565 | 10,000 ล้านบาท |
รายได้แบ่งตามเซกเมนต์ | |
อาหารเม็ด | 60% |
อาหารเปียก | 30% |
ขนม | 10% |
อาหารสัตว์สำหรับ แมว แชร์ส่วนแบ่งมูลค่าตลาดรวมได้ถึง 3,000 ล้านบาท | |
ที่มา: Pataya Food Group/พฤษภาคม 2566 |
แผนการตลาดล่าสุด บริษัทเตรียมสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคในหลากหลายกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการออกสินค้าใหม่ ๆ ภายใต้ 9 แบรนด์ข้างต้น ในงาน THAIFEX-Anuga Asia 2023 ระหว่างวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2566
ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี Challenger 3 Booth No: 3-G59 พร้อมเตรียมสินค้านวัตกรรมใหม่ของทางบริษัทไปเปิดตัว เพื่อสร้างการเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าต่าง ๆ ทั่วโลก หรือ B2B ที่จะเข้ามาเยี่ยมชมงานอีกด้วย
การดำเนินงานในด้าน ESG พัทยาฟู้ด ตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ จากปีฐาน 2565 ลงให้ได้ 50% ภายในปี 2575 ควบคู่ไปกับการดําเนินธุรกิจภายใต้นโยบาย ปกป้องคุ้มครองสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล และสวัสดิการที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่พนักงาน
ทั้งการหันมาใช้พลังงานทดแทนในโรงงาน อย่าง โซลาร์เซลล์ เป็นหลัก ก็มีส่วนทำให้บริษัท รับมือกับต้นทุนพลังงานไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นได้เป็นอย่างดี
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



