คาดการณ์ตลาดพรินเตอร์ปีนี้หดตัวลงประมาณ 5-10%
การหดตัวลงของตลาดพรินเตอร์เป็นการหดตัวจากตลาดอิงค์เจ็ท ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดในตลาดพรินเตอร์
ในปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากแคนนอนพบว่าตลาดอิงเจ็ทรวมมียอดจำหน่าย 840,000 เครื่อง ลดลงเหลือ 770,000 เครื่องในปีนี้
การลดลงของตลาดอิงค์เจ็ทมาจากพรินเตอร์หมึกตลับที่หดตัวลงอย่างเห็นได้ชัดจากปี 2022 ที่มียอดขาย 200,000 เครื่อง เหลือเพียง 70,000 เครื่องในปีนี้
การลดลงของตลาดพรินเตอร์หมึกตลับเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากแบรนด์พรินเตอร์บางแบรนด์ยุติการทำตลาดและหันมาโฟกัสพรินเตอร์แท็งก์ ซึ่งเป็นเซกเมนต์ที่มีโอกาสการเติบโตที่มาก
จากปีที่ผ่านมาพรินเตอร์อิงค์เจ็ทรูปแบบแท็งก์มียอดจำหน่าย 640,000 เครื่อง เพิ่มขึ้นเป็น 700,000 เครื่อง
การเติบโตของพรินเตอร์อิงค์เจ็ทรูปแบบแท็งก์ เนตรนรินทร์ จันทร์จรัสสุข ผู้อำนวยการอาวุโสกลุ่มผลิตภัณฑ์คอนซูมเมอร์อิมเมจจิ้งอินฟอร์เมชั่น แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) ให้ข้อมูลว่ามาจากผู้บริโภคถูกสร้างการรับรู้ว่าพรินเตอร์อิงค์เจ็ทรูปแบบแท็งก์เป็นพรินเตอร์ที่มีต้นทุนต่อแผ่นที่ถูกกว่าพรินเตอร์อิงค์เจ็ทแบบหมึกตลับ ทำให้ผู้บริโภคคิดที่จะเลือกซื้อพรินเตอร์ในรูปแบบอิงค์แท็งก์มากกว่า
ทั้ง ๆ ที่ผู้บริโภคบางคนใช้งานพิมพ์จำนวนไม่มากนัก
แม้ตลาดพรินเตอร์อิงค์เจ็ทจะหดตัวลงแต่ในปีนี้แคนนอนให้ข้อมูลว่าตลาดเลเซอร์พรินเตอร์และตลาดพรินเตอร์หน้ากว้างจะมีการเติบโต
ตลาดพรินเตอร์เลเซอร์จะเติบโตประมาณ 5% จาก 210,000 เครื่อง เพิ่มเป็น 230,000 เครื่อง
และตลาดเครื่องพิมพ์หน้ากว้างจะเพิ่มจาก 1,200 เครื่อง เป็น 1,400 เครื่อง
แม้ตลาดพรินเตอร์รวมในปีนี้จะหดตัวลงแต่แคนนอนเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจพรินเตอร์มากถึง 10%
ด้วยการเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ พร้อมแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง
การเข้าถึงตลาดใหม่ที่แคนนอนต้องการคือการให้ความสำคัญกับตลาด B2B หรือ Business to Business และตลาด B2G หรือ Business to Government
เนื่องจากตลาด B2C เป็นตลาดที่มีการใช้งานพรินเตอร์น้อยลง มีเพียงนักเรียนที่มีการใช้พรินเตอร์เป็นหลัก
และที่ผ่านมา แคนนอน มีสัดส่วนลูกค้าจากกลุ่ม B2C หรือ Business to Consumer มากถึง 90%
และสัดส่วน B2B และ B2G เพียง 10% เท่านั้น
การมีสัดส่วนในตลาด B2B และ B2G ที่น้อยมาจากที่ผ่านมาแคนนอนยังให้ความสำคัญไม่มากนัก
และในปีนี้เนตรนรินทร์เห็นโอกาสการเติบโตของ B2B จากผู้บริโภคกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้าน และออกไปทำงานตามปกติมากขึ้น และการเติบโตของธุรกิจ SME ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อย
แคนนอนอ้างอิงข้อมูลจากงานส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมว่าในปี 2022 มีธุรกิจ SME ที่จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นถึง 72,480 ราย จากปี 2021 ที่มีธุรกิจ SME จดทะเบียนใหม่ 58,058 ราย
ซึ่งการเติบโตของ SME คือโอกาสของธุรกิจพรินเตอร์ของแคนนอนที่จะเข้าไปตอบโจทย์ SME ใช้งานพรินเตอร์เพื่อธุรกิจ
ไม่รวมถึงตลาด B2G ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องพรินเตอร์ใหม่ในแต่ละปี และเป็นตลาดที่แคนนอนยังไม่ได้เข้าไปสร้างการเติบโตด้วยเช่นกัน
การเข้าไปในตลาด B2B และ B2G ของแคนนอน จะประกอบด้วยกลยุทธ์ที่สำคัญได้แก่
1. เปิดตัวพรินเตอร์ทั้งอิงค์เจ็ทและเลเซอร์อย่างต่อเนื่องทั้งปี
โดยในส่วนของอิงค์เจ็ท ล่าสุดเปิดตัว 2 รุ่น ได้แก่ GX3070 และ GX4070 เจาะกลุ่ม SME และ Home Office ตอบโจทย์การใช้งานที่มีต้นทุนต่อแผ่นที่ถูกกว่าเลเซอร์
กลุ่มเลเซอร์พรินเตอร์ เปิดตัว 13 รุ่น เข้าถึงกลุ่ม SME ไปจนถึง Enterprise โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล และหน่วยงานรัฐขนาดใหญ่
กลุ่มเครื่องพรินเตอร์หน้ากว้างแบบตั้งโต๊ะ หรือ Desktop Large Format ทำตลาด 1 รุ่น เจาะกลุ่มงานธุรกิจงานออกแบบ ไซต์ก่อสร้าง โรงเรียน ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก ที่ต้องการพิมพ์งานกระดาษขนาดหน้ากว้าง 24 นิ้ว
ซึ่งแคนนอนเชื่อว่าในปีนี้จะสามารถสร้างยอดขายในกลุ่มเครื่องพรินเตอร์หน้ากว้างแบบตั้งโต๊ะได้มากถึง 500 เครื่องด้วยกัน
สำหรับกลุ่ม Government แคนนอนพยายามคัดเลือกพรินเตอร์ที่สามารถเข้าไปอยู่ในสเปกที่ตรงกับการจัดซื้อจัดจ้างให้มากที่สุด จากปัจจุบันที่มีอยู่ 3 รุ่นตรงตามสเปกการจัดซื้อจัดจ้าง
และการเข้าถึงหน่วยงานราชการได้ทำให้แคนนอนมีโอกาสเติบโตอย่างน่าสนใจ เพราะราชการแม้จะมีการรณรงค์ด้าน Paperless แต่ก็ยังมีการใช้งานพรินเตอร์พรินต์เอกสารต่าง ๆ จำนวนมาก
2. เพิ่มพาร์ตเนอร์ทำตลาดเข้าถึงลูกค้า
ที่ผ่านมาแคนนอนมีพาร์ตเนอร์ในกลุ่ม B2B และ B2G ที่แอคทีฟเพียง 60 ราย และในปีนี้แคนนอนวางแผนคัดเลือกพาร์ตเนอร์เพื่อเป็นตัวแทนแบรนด์เข้าไปจำหน่ายในกลุ่ม B2B และ B2G เพิ่มขึ้น
การคัดเลือกนี้จะคัดเลือกจากพาร์ตเนอร์ที่มีความถนัดในการเข้าถึงธุรกิจ B2B และ B2G ที่ไม่เหมือนกัน เนตรนรินทร์ให้ข้อมูลว่า พาร์ตเนอร์ส่วนใหญ่จะถนัดในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่น พาร์ตเนอร์รายหนึ่งจะถนัดเข้าถึงโรงพยาบาล อีกรายจะถนัดเข้าถึงกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น
3. ทำการตลาดสื่อสารสร้างภาพลักษณ์พรินเตอร์แคนนอนถึง Key Benefit ใช้งานง่าย
ในปีนี้แคนนอนใช้งบการตลาดในกลุ่มพรินเตอร์รวม 50 ล้านบาทเพื่อสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายทั้ง Consumer Business และ Government ผ่านแนวคิด แคนเซิลทุกเรื่องยากด้วยแคนนอนพรินเตอร์
การสื่อสารนี้จะสื่อสารในรูปแบบภาพยนตร์โฆษณา และกิจกรรม Below the Line (การสื่อสารที่นอกเหนือจากสื่อหลัก) ต่าง ๆ เช่น การจัดกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมกับร่วมมือกับพาร์ตเนอร์จัดกิจกรรมเข้าถึง B2B และ B2G
การจัดกิจกรรมร่วมกับพาร์ตเนอร์เป็นเหมือนบันไดที่ช่วยให้แคนนอนประสบความสำเร็จในการเข้าถึงและสร้างยอดจำหน่ายที่รวดเร็วขึ้น เนื่องจากพาร์ตเนอร์เป็นผู้ที่รู้จักลูกค้าเป็นอย่างดี และรู้ว่าการทำกิจกรรมรูปแบบไหนจะสร้างยอดจำหน่ายได้
นอกจากนี้แคนนอนยังให้ความสำคัญกับการดูแลหลังการขายด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการเพิ่มขึ้นเป็น 180 สาขาในปีนี้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 164 สาขา และมี 35 สาขาที่ซ่อมเครื่องพรินเตอร์ขนาดใหญ่ได้
อย่างไรก็ดี การเจาะกลุ่ม B2B และ B2G ของแคนนอนเป็นเพียง 1 ในกลยุทธ์ที่สร้างการเติบโต เพราะการเติบโตของ
ธุรกิจพรินเตอร์ต้องเดินควบคู่ไปทั้ง B2C ซึ่งเป็นตลาดที่แคนนอนแข็งแกร่ง และเพิ่มกำลังในการบุก B2B และ B2G มากขึ้น
เพราะเป้าหมายของแคนนอนคือการรักษาความเป็นผู้นำในตลาดพรินเตอร์อิงค์เจ็ทรวม ที่เป็นผู้นำเกือบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2000 ก่อนที่จะเสียแชมป์ลงมาเป็นอันดับ 3 ในปี 2021 จากสินค้ามีไม่เพียงพอจำหน่าย และกลับขึ้นมาเป็นผู้นำอีกครั้งในปี 2022
ในปีที่ผ่านมา แคนนอนมีส่วนแบ่งตลาดในพรินเตอร์อิงค์เจ็ทรวม 23%
มีส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มพรินเตอร์อิงค์เจ็ทแบบแท็งก์ 22% เป็นอันดับสองในตลาดรองจากเอปสัน
มีส่วนแบ่งเลเซอร์พรินเตอร์ 10% และพรินเตอร์เครื่องพิมพ์หน้ากว้าง 22%
และปีนี้เนตรนรินทร์เชื่อว่าจากกลยุทธ์ต่าง ๆ ของแคนนอนจะทำให้แคนนอนยังคงรักษาความเป็นผู้นำในตลาดอิงค์เจ็ทรวมได้อย่างแน่นอน
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



