ตลาดกาแฟไทย 6 หมื่น ลบ. ปีนี้โต 9% PTG เผย โจทย์ใหญ่ภาคธุรกิจ เร่งส่งเสริมผลผลิตในประเทศ ร่วมมือเกษตรกร และดันงานวิจัยภาคการศึกษา ต่อยอดเชิงพาณิชย์ แง้ม เตรียมส่งพอร์ตกาแฟพันธุ์ไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2568 ขยายแตะ 5,000 สาขาทั่วไทย ปี 2570
ตลาดกาแฟไทย 6 หมื่น ลบ.
ผู้ประกอบการ ร่วมเกษตรกร เสริมผลิตในประเทศ นำงานวิจัยต่อยอดเชิงพาณิชย์ ลดนำเข้าเป็นตัวเลือกรอง |
|
มูลค่ารวมตลาดกาแฟในไทย | 60,000 |
CAGR 2564-66 | 9% |
กาแฟในบ้าน | 40,000 |
กาแฟนอกบ้าน | 20,000 |
มูลค่ากาแฟ ตามผลิตภัณฑ์ | |
ชงสดหน้าร้าน | 27,000 |
ปรุงสำเร็จชนิดผง | 19,000 |
บรรจุกระป๋องพร้อมดื่ม | 14,000 |
หน่วย: ล้านบาท/ที่มา: กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)/พฤษภาคม 2566 |
นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จํากัด (มหาชน) หรือ PTG กล่าวว่า ภาพรวมตลาดกาแฟในไทย ยังมีอัตราเติบโตได้ดี แต่ยังมีความน่ากังวลส่วนการผลิต เพราะปัจจุบันการบริโภคกาแฟในประเทศ 70,000 ตัน/ปี แต่มาจากการผลิตเองในประเทศเพียง 10,000 ตัน ที่เหลือ 60,000 ตันเป็นการนำเข้า
ทำให้หลังจากนี้ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการทำงานเพื่อส่งเสริมเกษตรกรไทย ให้สามารถสร้างผลผลิตเมล็ดกาแฟป้อนตลาดในประเทศให้ได้มากขึ้น และยั่งยืนขึ้น
ทั้งการทำงานร่วมกับภาคการศึกษา เพื่อนำงานวิจัยเกี่ยวกับผลิตผลทางการเกษตร อาทิ เมล็ดกาแฟ มาแปรรูปใช้ในตลาดเชิงพาณิชย์อย่างสร้างสรรค์ และต่อยอดสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในกระบวนการ
โดย กาแฟพันธุ์ไทย พอร์ตธุรกิจ Non-Oil ของ PTG ซึ่งดำเนินธุรกิจมาเป็นปีที่ 11 ในปีนี้ ล่าสุด (12 พ.ค. 2566) ได้ร่วมมือกับคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำงานวิจัยพันธุ์ข้าวโพดหวาน จาก ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ (ไร่สุวรรณ) ของมหาวิทยาลัย
ที่ได้คิดค้น พันธุ์ข้าวโพดหวานอินทรีย์ 2 ข้าวโพดที่ให้ความหวานจากธรรมชาติ เฉลี่ย 14.5 องศาบริกซ์ อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ นำมาแปรรูปเป็นน้ำนมข้าวโพด ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญ
รังสรรค์ 3 เมนูเครื่องดื่มใหม่จากกาแฟพันธุ์ไทย ไม่ว่าจะเป็น โพดลาเต้, โพดชาเขียว และโพดโกโก้ ทอปหน้าด้วยเมล็ดข้าวโพดหวานเคี้ยวเพลิน ทุกเมนู เสิร์ฟ 12 พ.ค.-20 ก.ค. 2566 แก้วละ 69 บาท ตั้งเป้าช่วยเพิ่มยอดขาย 20% ตลอดระยะเวลาการร่วมมือครั้งนี้
และได้จัดกิจกรรมออนกราวด์ สร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภค ด้วยป๊อปอัป สโตร์ งบลงทุน 10 ล้านบาท ณ สยามสแควร์วัน ลานกิจกรรมทางเชื่อม BTS ชั้น 3 วันศุกร์ที่ 12 และวันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม 2566
ป๊อปอัป สโตร์ จะตกแต่งในบรรยากาศไร่สุวรรณ เสนอประสบการณ์ในคอนเซ็ปต์ เทศกาล Cornnival – คอร์นนี้ว้าว โพดจุกใจ ไร่สุวรรณ โดยผู้ซื้อเครื่องดื่มเซตโพดจุกใจในร้าน สามารถร่วมกิจกรรมสนุก ๆ และรับสิทธิ์ลุ้นรางวัลมากมาย
ด้าน ผลการดำเนินงานของกาแฟพันธุ์ไทย ไตรมาส 1/2566 ทำยอดขาย 350 ล้านบาท โต 70% YoY แบ่งเป็นยอดเติบโตจากสาขาเดิม 35%
สัดส่วนยอดขาย กาแฟและเครื่องดื่ม 67% และ Non-Beverage อาทิ เมล็ดกาแฟ, เบเกอรี่, ผลิตภัณฑ์ชุมชน และสินค้าที่ระลึก เป็นต้น 33%
จำนวนสาขา 600 แห่ง แบ่งเป็นสาขาในสถานีบริการน้ำมัน และนอกสถานีฯ 60% และ 40% ตามลำดับ ตั้งเป้าขยายให้ได้ 800 สาขา ภายในไตรมาส 2/2566
ภายในสิ้นปี 2566 ต้องมีให้ได้ 1,500 สาขา ทั่วประเทศ ยอดขายโต 80% YoY กำไรเติบโต 2 เท่าจากปีที่แล้ว
เผยระยะยาว เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2568 และมีจำนวนสาขาทั่วประเทศ 5,000 สาขา ปี 2570
แผนยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งหมดข้างต้น มี 3 ส่วนสำคัญ ดังนี้ 1. ขยายสาขาทั่วประเทศ ด้วยโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ เน้นทำเล CBD ในกรุงเทพฯ, ปริมณฑล และหัวเมืองตามจังหวัดต่าง ๆ
เสนอรูปแบบการลงทุนแฟรนไชส์ ด้วยโมเดลที่หลากหลาย อาทิ ช็อปเฮาส์ หรือ ร้านสาขาที่เข้าไปเปิดใหม่ตามอาคารพาณิชย์ ซึ่งแชร์มากสุด 80% ตามด้วย ร้านสแตนด์อโลน, ฟู้ดทรัก และฟู้ดเทรเลอร์ เป็นต้น
มูลค่าการลงทุน เริ่มต้น 1.25 ล้านบาท/สาขา คืนทุนเร็วสุด 2 ปี และอาจจะถึง 3 ปี ขึ้นอยู่กับโมเดลสาขาที่เปิด
2. ขยายฐานและรักษาฐานลูกค้าสมาชิก Max Card ปัจจุบันมีอยู่ 19 ล้านรายทั่วประเทศ คาดว่าจะเพิ่มได้เป็น 21 ล้านราย ภายในปี 2566
เฉพาะสมาชิก Max Card Plus หรือ บัตรแดง ตั้งเป้าเพิ่มขึ้น 1 ล้านราย เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าประจำที่มี Brand Royalty และมีกำลังซื้อสูงกว่ากลุ่มทั่วไปมากกว่า 2 เท่า
เพื่อนำฐานข้อมูลสมาชิกมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ก่อนนำไปใช้พัฒนากลยุทธ์สร้างยอดขาย และเพิ่มความถี่ในการใช้บริการ ทั้งเน้นสร้างฐานลูกค้าใหม่ ๆ ในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน
3. เพิ่มไลน์สินค้ากลุ่มกาแฟ-เครื่องดื่ม และ Non-Beverage โดยเฉพาะสินค้าจากวัตถุดิบของชุมชนท้องถิ่น มาสร้างสรรค์เป็นเมนูเครื่องดื่มและอาหาร เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต สร้างงานและอาชีพ ให้แก่ชุมชนกับเกษตรกรไทย
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



