นิยายวิทยาศาสตร์ที่ต่อมาถูกนำมาทำเป็นหนัง มีทั้งส่วนผสมของจินตนาการและความเป็นจริงจากมุมมองของนักเขียน โดยประเด็นที่อยู่ในนิยายวิทยาศาสตร์และหนังหลายเรื่อง คือการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในโลกการทำงาน

ประเด็นดังปรากฏให้เห็นเป็นภาพเร็วยิ่งขึ้น หลัง ChatGPT ถูกนำมาใช้กันกว้างขวางถัดจากการเปิดตัวเพียงไม่นาน ไล่ตั้งแต่ตอบคำถามง่าย ๆ เขียนบท ขยับขึ้นมาสู่การทำการบ้านและวิทยานิพนธ์ ไปจนถึงแต่งเพลง และเขียนประวัติย่อเพื่อใช้สมัครงาน

AI ของ OpenAI ที่บริหารโดย CEO วัยเพียง 38 ปี และ Microsoft ให้การสนับด้านเงินทุน ยังกระตุ้นให้ค่ายเทคทั้งในสหรัฐฯ และจีน พัฒนา AI ของตนขึ้นมา ท่ามกลางการคาดการณ์มากมายที่ชี้ไปทางเดียวกันว่า AI จะทำให้คนวัยทำงานทั่วโลกมหาศาลต้องตกงาน

จนความกังวลว่าจะถูก AI และเทคโนโลยีแย่งงาน (AI Anxiety) ที่เป็นต้นเหตุให้คนทำงานยุคนี้ โดยเฉพาะกลุ่มรุ่นใหญ่แทบทุกบริษัททั่วโลกอย่าง Gen X, Generation Jones และ Babyboom เครียดกันพอสมควร

อย่างไรก็ตาม AI ก็ไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด เพราะเทคโนโลยีดังกล่าวเปรียบได้กับมิตรและศัตรูในออฟฟิศที่เราต้องปรับตัวให้ได้ เพราะไม่ว่าอย่างไรก็คงไม่สามารถฝืนความก้าวไกลไปข้างหน้าได้ และบริษัททั่วโลกมีแนวโน้มนำมาใช้กันมากขึ้น

เพื่อนคู่คิดช่วยต่อยอดไอเดีย: สิ่งที่ AI ทำได้ดีว่ามนุษย์คือการค้นและวิเคราะห์ผ่านคลังข้อมูลมหาศาล (Big data) ที่มี เพราะพลังในการประมวลที่เหนือกว่าสมองมนุษย์นั่นเอง  

Carl Benedikt ผู้อำนวยการศูนย์ Future of Work ในมหาวิทยาลัย Oxford ที่ศึกษาและคาดการณ์อนาคตของโลกการทำงาน กล่าวว่า AI จะเป็นประโยชน์มากในการ วิเคราะห์และต่อยอดไปสู่ไอเดียใหม่ ๆ หลังมนุษย์คิดค้นแผนงานต่าง ๆ

ขณะเดียวกันยังสามารถใช้ผ่าทางตันของโปรเจกต์และปัญหาที่คนขบกันไม่แตกอีกด้วย โดยในอนาคตอันใกล้จะถูกมานำใช้กันมากขึ้น ซึ่งบริษัทที่เข้าใจและใช้ AI เหล่านี้ได้ก่อนก็แซงหน้าคู่แข่ง เพราะเวลาและงบประมาณในแต่ละโปรเจกต์ลดลง

ฝ่ายพิสูจน์อักษรควบสายตรวจสกัด Bully: อย่างต่อมาที่ AI โดยเฉพาะ Chatbot ในการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ จะเข้ามามีส่วนในสังคมการทำงาน คือการตรวจสอบความถูกต้องของข้อความ ตั้งแต่การสะกดและการเรียบเรียง ไปจนถึงข้อความอ่อนไหวที่เป็นการดูถูก เหยียดหยาม หรือเหยียบย่ำ ซึ่งบางครั้งเราเรามองข้ามกันไป

เพราะ AI มีฐานข้อมูลมหาศาล พลังประมวลผลเหนือกว่าสมองและสายตาของคนเรา ขณะเดียวกันยังทำงานได้เร็วกว่าคนอีกด้วย

แต่เราก็ไม่ควรประมาทและปล่อยให้เป็นงานของ AI ไปเสียหมด โดยควรมีการอัปเดตข้อมูลของคำและประเด็น Bully ต่าง ๆ อยู่เสมอ และตรวจทานผลงานของ AI อีกทีหนึ่ง เพื่อให้งานสมบูรณ์แบบ เป็นการลับสมองเราเองไปด้วยในตัว และช่วยไม่ให้ ‘โง่’ กว่า AI

ตัวเร่งสร้างตำแหน่งงานใหม่สายเทค: Goldman Sachs ยักษ์วาณิชธนกิจในสหรัฐฯ คาดว่าในอนาคต AI จะเข้ามาแทนพนักงานเต็มเวลา 300 ล้านตำแหน่งทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป

ขณะที่ผลสำรวจของ PwC 1 ใน 4 ยักษ์ใหญ่ชี้ว่า 3 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างคนวัยทำงานทั่วโลกกลัวว่าจะถูก AI แย่งงาน เพราะบริษัทนำ AI มาใช้แทนคน

อย่างไรก็ตาม มองอีกมุมหนึ่งข้อมูลดังกล่าวก็เป็นการชี้ว่าย่อมต้องเกิดงานใหม่มาทดแทน เหมือนข้อมูลจากปี 2021 ที่ว่า 60% ของตำแหน่งงาน ณ เวลานั้น ตั้งแต่คนขับแเท็กซี่ พนักงานคุมเครื่องจักร

และนักออกแบบเว็บก็ไม่เคยมีมาก่อน หากเทียบกับยุค 40 อันเป็นช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยคาดกันว่างานที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงานจากนี้คือ นักวิเคราะห์ข้อมูลและผู้เชี่ยวชาญด้าน AI

จนมีแนวโน้มว่าต่อไปงานเหล่านี้จะเป็นตำแหน่งปกติที่ทุกออฟฟิศต้องมี เพราะเป็นงานที่เกินความสามารถของฝ่าย IT ไปแล้ว

บีบให้ AI Fluency คือทักษะจำเป็น: จากเทรนด์ในสังคมการทำงานที่ AI ถูกนำมาใช้มากขึ้น ต่อไปทักษะด้าน AI จะกลายเป็นทักษะที่ขาดไม่ได้ของพนักงานสำนักงานส่วนใหญ่ ไม่ต่างจากการพิมพ์ดีดได้ก่อนยุคคอมพิวเตอร์ และใช้ Microsoft Office คล่องช่วง 20 ปีมานี้

ใครที่ใช้ AI ได้คล่องจะได้เปรียบมากในสังคมการทำงาน เพราะทำงานได้เร็วกว่า ส่วนคนแค่พอเข้าใจอาจถูกทิ้งห่าง แต่ใครที่ไม่เรียนรู้เลย หรือถึงขั้นต่อต้านจะต้องตกงาน เพราะถูกมองว่าฝืนความเปลี่ยนแปลงและไม่จำเป็นต่อบริษัทอีกต่อไป/bbc



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน