นโลกการร้องเพลง โฟร์ท–นฤมล จิวังกูร เคยประสบความสำเร็จอย่างมาก 

ในโลกการทำงานเธอสามารถก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ

เป็นโลก 2 ใบที่พลังของผู้หญิงคนนี้ทำได้สำเร็จอย่างงดงามจริง ๆ

ในโลกของดนตรี 

“โฟร์ทเริ่มจากการประกวด Coke Music Award ตอนอยู่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หลังจากนั้นเมื่อค่ายการ์ตูนวอลต์ดิสนีย์เข้ามาประเทศไทย หานักร้อง นักพากย์ ก็ไปออดิชั่น แล้วปรากฏว่าถูกคัดเลือกเข้าไปพากย์เสียงและร้องเพลงประกอบในเรื่อง Beauty and The Beast Mulan และ  Lion King II”

นฤมล หญิงเก่งที่มีรูปร่างเล็ก ๆ ใบหน้าสวยงามดูอ่อนกว่าวัย 51 ปีอย่างมาก ๆ ย้อนอดีตให้ Marketeer ฟังด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม

ในปี 2536 เธอได้รวมกลุ่มกับเพื่อนนักร้องหญิงอีก 2 คนคือ อัยย์ พรรณี วีรานุกูล และ อ๊อด พิรุณ ยิ้มพงษ์ ออกอัลบัมในนามวง “เอ็กซิท (Exit)” เมื่อปี พ.ศ. 2536

เป็นช่วงวัยเรียนที่สนุกทั้งการเรียนและร้องเพลง แต่พอเรียนจบปริญญาตรี เธอกลับไม่แน่ใจว่าชีวิตต้องการอะไรแน่ ก็เลยตัดสินใจไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทจาก California State University คณะบริหารธุรกิจ (เอกบริหารการเงิน)

“ตอนนั้นกำลังค้นหาตัวเองค่ะ ร้องเพลง เราได้สัมผัสแล้วว่าความรู้สึกตอนขึ้นเวทีเป็นความทรงจำที่ดีมาก แต่อีกโลกหนึ่งของการทำงานยังมองไม่เห็น”

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตหลังใช้เวลาประมาณปีครึ่งในการเรียนปริญญาโท คือการตัดสินใจสมัครทำงานที่ซิตี้แบงก์ ในโปรแกรม Management Associates 

ก่อนหน้านี้เธอเคยปฏิเสธงานที่ซิตี้แบงก์ เพราะตัดสินใจจะไปเริ่มงานที่สถาบันการเงินใหญ่ของประเทศอีกแห่งหนึ่ง แต่แล้วผู้บริหารซิตี้แบงก์ในยุคนั้นก็เรียกเธอมาคุย

“ก็เรียนท่านไปตามตรงค่ะ ว่าเลือกอีกที่เพราะเงินเดือนสูงกว่า ท่านก็บอกว่าฟังผมให้ดีนะ ถ้าคุณไปอยู่ที่นั่นอีก 6 เดือนคุณอาจจะได้ใส่ Rolex เลย แต่หลังจากนั้นผมไม่รู้นะ แต่สำหรับสิ่งที่ Citi มีให้คือ International Exposure คือ Globality เรามี Talent มากมาย จากหลากหลายประเทศให้คุณได้เรียนรู้นะ  อีก 6 เดือนคุณอาจจะยังใส่ Casio อีก 2 ปีก็ยังใส่ Casio แต่หลังจากนั้นปีต่อ ๆ ไป คุณจะโตไปในเส้นทางการเงินแบบมั่นคง คุณจะมี Building Block ที่ถูกต้อง จะไม่ก้าวกระโดดนะ แต่ค่อย ๆ เรียนรู้ แล้วสั่งสมประสบการณ์”

“ต้องขอขอบคุณท่านจริง ๆ ที่ให้ข้อคิด เพราะตอนนั้นเราคือเด็กจบใหม่อาจจะมองตัวเงินเป็นหลัก แต่ท่านได้ให้สติเราว่าชีวิตเพิ่งเริ่มต้นมี Building Block ก่อนดีไหม”

ในที่สุดเธอก็ได้ทำงานที่ซิตี้แบงก์ในปี พ.ศ. 2539 ก่อนเกิดต้มยำกุ้งปี 2540

และสถาบันการเงินอีกแห่งที่เธอเคยเลือก ก็ถูกปิดไปในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งนั่นเอง

ที่ซิตี้แบงก์ นฤมลเริ่มงานในตำแหน่ง Trainee Management Associate ประมาณ 1 ปี ต่อมาได้เข้ามารับผิดชอบในสายงานห้องค้า (Global Markets)

ความท้าทายอย่างแรกที่เข้ามาทำงานตรงจุดนี้ก็คือ ทุกคนในห้องนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่จบมาทางวิศวะเกือบหมด มีเธอจบไฟแนนซ์อยู่คนเดียว และทุกคนเก่งมาก เพราะท่ามกลางวิกฤตทางการเงิน การวิเคราะห์การตัดสินใจในทุกเรื่องต้องฉับไว ต้องแข่งกับเวลา

“ กังวลมากกก (ลากเสียงยาว) กลัวว่าตัวเองเก่งไม่เท่าคนอื่น กลัวเป็นตัวถ่วง เลยทุ่มเทอย่างมาก เสาร์อาทิตย์ นั่งอ่านหนังสืออย่างเดียวเลยค่ะ ต้องเข้าใจให้ได้ คือตอนนั้นเริ่มชอบบรรยากาศห้องค้า รู้สึกสนุกกับสิ่งใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนไปมาทุกวัน รู้ซึ้งถึงคำที่เขาบอกว่า ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน โอ้โห ชอบมาก รู้สึกว่า อะดรีนาลีนเราหลั่งมาก เป็นความท้าทายใหม่ ๆ เลยเริ่มค้นพบกับตัวเองว่า ชอบอะไรและคิดว่าเรื่องการเงินคือทางที่ใช่”

ในช่วงไปเรียนต่อปริญญาโทและ 2-3 ปีแรก ๆ ของการเริ่มทำงานที่ซิตี้แบงก์ เธอแทบจะไม่ได้ทำงานร้องเพลงอีกเลย แต่ต่อมามีโอกาสได้กลับไปเป็นนักร้องคอรัสในห้องอัดให้กับค่าย Grammy และ RS  

หลังจาก “เฮียฮ้อ” ผู้บริหาร RS  สนใจติดต่อให้เข้ามาเป็นนักร้องในสังกัด และเธอได้เซ็นสัญญาออกอัลบัมเป็นศิลปินเดี่ยวในสังกัด อาร์.เอส. โปรโมชั่น เมื่อปี 2541 โดยมีเงื่อนไขที่บอกว่า ไปทำงานเพลงได้เฉพาะเสาร์อาทิตย์ หรือหลังเลิกงานเท่านั้น

เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างมากเมื่อต้องทำงานที่ตัวเองรัก 2 อย่างพร้อมกัน

“กลางวันทำงาน 4 ทุ่มนัดเจอกันที่ห้องอัด RS ย่านลาดพร้าว ตอนนั้นซิตี้แบงก์อยู่สาทร โฟร์ทก็จะพุ่งกลับไปบ้าน  ทานข้าว อาบน้ำ แล้วรีบไปที่ห้องอัด ซึ่งกว่าพี่ ๆ ทุกคนจะมาครบได้เริ่มอัดจริงก็เกือบเที่ยงคืน แต่ละเพลงใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง เสร็จก็กลับบ้าน อาบน้ำ ยังจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าตัวเองได้นอนตอนไหน เพราะต้องรีบมาประชุมปรีฟงานก่อนเข้าห้องค้าตอน 7 โมงเช้าทุกวัน

ทำอยู่หลายปี ซึ่งเธอยืนยันว่าไม่มีผลกระทบกับการทำงานเลย  

“โฟร์ทต้องขอบคุณผู้ใหญ่จากทั้ง 2 องค์กร มันคือความสวยงามของซิตี้แบงก์ กับ RS จริง ๆ นายที่แบงก์บอกว่านี่คือโอกาสหนึ่งในล้านของคน ผมโอเค แต่คุณต้องบริหารเวลาตัวเองให้ได้ และถ้าวันไหนโฟร์ทไปไม่ได้จริง ๆ เฮียฮ้อก็รอเรา  มันเป็นการให้โอกาสที่ดีจริงๆ”

ในช่วงปี 2542-2548  นิรมลมีอัลบัมที่ออกมาประมาณ 15 อัลบัมทั้งอัลบัมเดี่ยว และอัลบัมพิเศษ

โดยผลงานเพลงที่เป็นที่รู้จักอย่างมากมาย อาทิ นาฬิกาทราย, ไม่มีฉันคนนั้นอีกแล้ว, คนที่ใช่ (ในวันที่ผิด), หมายความว่ายังไง และเพลง เหตุผล เป็นต้น

หลังจากนั้นเมื่อบทบาทและภาระที่ซิตี้แบงก์เพิ่มขึ้น เสียงเพลงของเธอก็หายไป ก่อนจะกลับมาร้องเพลงอีกครั้งเมื่อปี 2562 ในเพลง “เจ็บเพื่อรัก” ซึ่งเป็นเพลงประกอบละคร เพลิงรักเพลิงแค้น ทางช่อง 3

ในโลกการทำงาน Welcome to the men’s game 

ย้อนกลับมาที่โลกของเธอที่ซิตี้แบงก์ งานเพลงว่าโหดแล้ว แต่งานที่แบงก์ก็หินมากกว่า

จากงานเทรดเดอร์ประมาณ 4 ปี เธอข้ามมาดูแลในส่วน Corporate Sales and Structuring มีโอกาสได้ดูแลลูกค้าข้ามชาติ และองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศ และอยู่ในส่วนนี้นานถึง 10 ปี

หลังจากนั้นได้เปลี่ยนไปดูกลุ่มลูกค้าสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารบริษัทประกัน บลจ. บล. ต่าง ๆ

“ไม่น่าเชื่อว่าอยู่ในประเทศเดียวกันแต่ลูกค้าองค์กรกับลูกค้าสถาบันความต้องการของผลิตภัณฑ์ต่างกัน ความลึกของสินค้าต่างกัน ทุกอย่างแทบจะเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด เซลส์โต๊ะนี้กับโต๊ะนั้นห่างกันแค่เดิน 3 ก้าว แต่ลูกค้าในมือพวกเขาเหมือนอยู่คนละโลก เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราสปริงตัวในเรื่องความรู้อย่างรุนแรง”

นอกจากการต้องหา Solution และเครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านการเงินและการลงทุนให้กับลูกค้าองค์กร และสถาบันการเงิน แล้ว เธอยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับผู้คนที่หลากหลาย เป็นช่วงเวลาการฝึกฝนตัวเองอย่างหนัก ต้องเรียนรู้ในทุกช่วงเวลา จากตำรา คนรอบข้าง รวมทั้งเรียนรู้จากลูกค้า

ประสบการณ์ที่ได้ทำงานทั้งกับลูกค้าเล็ก ลูกค้าใหญ่ ลูกค้าองค์กร ลูกค้าสถาบัน ทำให้ได้รับเลือกเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานตลาดเงินตลาดทุน และหลักทรัพย์บริการ ในปี 2558

 เป็นผู้หญิงคนแรกในอาเซียนที่ได้รับตำแหน่งนี้

“พอเลือกเราเสร็จปั๊บนายที่เป็น Asia Head ก็พูดเลย ว่า Welcome to the men’s game  ตอนนั้นก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่อาจจะด้วยลักษณะของงานที่ต้องการตัดสินใจที่ฉับไว ในวินาที ในเสี้ยววินาที ที่ผ่านมาตำแหน่งตรงนี้เลยเป็นของผู้ชายมากกว่า”

 แต่คำพูดของนายไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกท้อเลย

“โฟร์ทกลับรู้สึกสนุกไปกับมัน เพราะอยากรู้ว่าเป็นแบบไหน เหมือนเวลาเราเห็นผู้ชายเขาขับโกคาร์ตเล่น เรายังรู้สึกอยากลงไปเล่น และมั่นใจว่าจะดึงเอาจุดเด่นและข้อดีของการเป็นผู้หญิงเข้ามาเติมเต็มในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น”

เป็นอีกช่วงหนึ่งของการทำงานที่สนุกและมีความท้าทายในหลายเรื่อง  ต้องดีลกับลูกค้าข้ามชาติในสเกลที่ใหญ่ขึ้น มีมิติมากขึ้น

3 ข้อคิดในการเล่นเกมแบบผู้ชาย

เธอสรุปให้ฟังแบบเร็ว ๆ ว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้ในการทำงานในเกมของผู้ชายมี 3 เรื่องคือ

 1. ต้องคม และเร็ว

“บางครั้งอาจจะไม่แน่ใจเต็ม 100% ก็ต้องตัดสินใจ จะมามัวรีรอให้ร้อยเต็มแล้วค่อยทำไม่ได้ เรื่องนี้เป็นจุดที่เปิดโลกโฟร์ทเลย เพราะเราเกิดมาเป็นผู้หญิง ผู้หญิงจะมีความเป็น Perfectionist ค่อนข้างสูง อาจจะด้วยพลังความเป็นแม่หรือเป็นเพศสตรี เราจะมีความรู้สึกว่าทุกอย่างต้องละเอียด ต้องถูกต้อง คิดเยอะไป”

2. ต้องรู้จักผูกมิตร

“ใน Global Market ไม่มีใครมานั่งสอน นี่กอไก่ นั่นขอไข่ ไม่มี เราต้องรู้จักสังเกตและเรียนรู้ และต้องสร้างพันธมิตรแล้วเขาก็จะช่วยกันทำงานกับเรา”

3. Take อย่างเดียวไม่ได้ ต้อง Give ด้วย การ Give ของเราคือ มาร่วมดูด้วยกันว่ามีโอกาสอะไรบ้าง ที่จะเติบโตไปด้วยกัน

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ กล้ายกมือขอเป็นผู้นำองค์กร

จากประสบการณ์ทั้งหมดที่เก็บเกี่ยวมาตลอดการทำงาน 27 ปีในหลายบทบาท รวมทั้งยังมี Passion กับการทำงานอย่างมาก ๆ ทำให้เธอมั่นใจที่จะยกมือสมัครในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ประเทศไทย ดูแลรับผิดชอบการดำเนินธุรกิจภายในประเทศไทย แทนผู้บริหารคนเก่าที่ย้ายไปยังประเทศอื่น

เป็นตำแหน่งที่ซิตี้แบงก์เปิดรับสมัครไปทั่วโลก มีคนสมัครเข้ามาจำนวนหนึ่ง และเธอ คือ หนึ่งในนั้น

“กว่าจะผ่านใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน คือไม่ใช่ถูกเรียกสัมภาษณ์ทีเดียวจบนะคะ (หัวเราะ) ถูกสัมภาษณ์เป็นซีรีส์เลย แต่อาจจะเป็นเพราะแนวนโยบายในอนาคตของ Citi Bank ที่เราวางไว้และเสนอไปเป็นที่พอใจ”

 มร. อมล กุปเต ผู้บริหารใหญ่ธนาคารซิตี้แบงก์ ภูมิภาคเอเชียใต้และอาเซียน (Head of South Asia and Asean for Citi) ได้ประกาศแต่งตั้งเธอเมื่อต้นเดือน พ.ค. 2566  ให้เหตุผลว่า   

“ด้วยประสบการณ์ด้านการบริหาร ความเข้าใจในกลุ่มธุรกิจและลูกค้า ทำให้ นางสาวนฤมล เป็นบุคลากรที่มีความพร้อมในการสานต่อการดำเนินงานของธนาคารซิตี้แบงก์ในประเทศไทย ที่ประสบความสำเร็จมาตลอด 56 ปี ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต ตลอดจนช่วยให้ลูกค้าขององค์กรสามารถคว้าโอกาสด้านการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างแน่นอน”

สำหรับ 3 กลยุทธ์ที่เธอเสนอผู้บริหารไป คือ

1. Think Global เรามีสาขา  95 ประเทศในโลก ไม่มีองค์กรที่เป็นสถาบันการเงินไหนที่มีเครือข่ายที่มากขนาดนี้ ดังนั้น Mindset ของพนักงานทุกคนต้องคิดอยู่เสมอว่า เราจะสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้าในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ได้อย่างไร   

2. Speak Solution  

ซิตี้แบงก์ มีโซลูชันที่ดีมาก ซึ่งพนักงานทุกคนต้องช่วยกันพูดช่วยกันสื่อสารในสิ่งที่เราเก่ง เราดี เพื่อนำไปช่วยคนอื่น เรื่องนี้ต้องอยู่ใน Mindset เป็น DNA ของพนักงาน ที่ต้อง Think Global แล้ว Speak Solution เพื่อเป็นประโยชน์กับลูกค้าเรา

3. One Citi

ต้องเอาจุดแข็งมารวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกัน เรามีจุดแข็งขนาดนี้ ถ้ารวมกันได้ ซิตี้แบงก์ คือ Bank of Choice แน่นอน

“คือโฟร์ทคิดว่าหัวใจของซิตี้แบงก์อยู่ตรงนี้ ทำให้ง่ายสิ คิดให้มันเยอะ ๆ พูดถึงมันบ่อย ๆ ก็ไม่ได้ดูสวยหรูอะไรเลยนะ แต่มันคือสิ่งที่มีอยู่ ถามลูกค้า แชร์เคสให้ฟัง เราไม่ต้องรอให้เขาบาดเจ็บ มีแผลพรุนไปหมดแล้ววิ่งมาหาให้เราช่วยรักษา แต่เราจะถามเขาก่อนว่าวันนี้สุขภาพคุณโอเคไหม คุณมีแผนอะไร และช่วยให้เขาเห็นแต่ละสเต็ปข้างหน้าว่ากำลังเจอกับอะไร นั่นคือสิ่งที่เราเก่ง”

ต้องปลุกพลังในตัวพนักงานให้ได้ ไม่มีใครไม่อยากประสบความสำเร็จ

นฤมลบอกว่า วันนี้ความท้าทายในการทำงานที่เจอ ไม่ใช่เรื่องที่พนักงานไม่มั่นใจในการเป็นผู้นำ เพราะเธอเป็นลูกหม้อของที่นี่ ทำงานมาตั้งแต่เด็กส่งใบ Ticket แต่ปัญหาคือโลกเราที่เปลี่ยนไปเร็วมาก ทำยังไงที่เราจะหมุนตามไปได้ทัน

“โฟร์ทรู้สึกว่าความท้าทายที่สุดตอนนี้ คือการจุดประกายแล้วกระตุ้นพลังของคนทั้งองค์กร เพื่อให้ไปต่อด้วยกัน กลยุทธ์ต่อให้ดีแค่ไหนแต่จะสำเร็จได้ก็เพราะคน เชื่อว่าเรามีคนที่ดีเยอะมาก แล้วทุกคนมีพลังของตัวเอง อยู่ที่เขาจะใช้หรือไม่ใช้ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของโฟร์ท ไม่ใช่ไปเสริมให้เขาเก่งขึ้น เพราะเขาอาจจะเก่งอยู่แล้ว แต่ต้องจุดประกายในใจเขาให้ได้ แล้วพลังของเขาจะออกมาเอง เชื่อเถอะค่ะ ไม่มีใครไม่อยากประสบความสำเร็จ และเป็นที่ภูมิใจของครอบครัวแน่นอน”

ความเป็นผู้นำผู้หญิงไม่ใช่ปัญหา เพราะผู้หญิงมีพลังบางอย่างที่ผู้ชายไม่มี

 “ความเป็นผู้หญิงคือ Soft Power มันมีความอุ่นที่โฟร์ทไม่รู้จะอธิบายคำนี้ยังไง แล้วเราจะ Strike Balance ได้ดี ทั้งในแง่ของ Art กับ Science แต่บทที่เราว่า เฮ้ย ตอนนี้ต้องร้อนแล้วนะ วิ่ง เลย และเขารู้ว่าเราไม่ทิ้งเขา  Don’t worry, I’ll watching you, I’m here, Go!  ไปเลย ทำเต็มที่ แต่หันมาแล้วพี่จะอยู่ตรงนี้ ระวังหลังให้คุณ มันต้องเป็นแบบนั้น บางทีอาจวิ่งเปะปะ ผิดที่ผิดทางกัน เรียกมาคุยกัน สอนกันแต่ไม่ใช่ทำร้ายเขา”

อุปสรรคก็คือ คนติดกับดักของ Comfort Zone

สิ่งที่เธอเป็นห่วงมาก ๆ คือคนติดกับดักของ Comfort Zone

นฤมลอธิบายว่าหลังจากยูโอบี (UOB) ซื้อกิจการลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ป ไปพนักงานทั้งหมดกว่า 3,000 คน เหลืออยู่ประมาณ 460 คน ซึ่งเป็นส่วนของพนักงานลูกค้าองค์กร และสถาบันการเงินเดิม ซึ่งยังรับผิดชอบในธุรกิจเดิม ๆ

“แต่เราจะอยู่ใน Comfort Zone เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ด้วยโลกที่เปลี่ยนไปเรายิ่งต้อง Speed ภาษาของ ซิตี้กรุ๊ป เรียกว่า เราต้อง Double Down ทุ่ม 2 เท่า เราต้องอัด 2 เท่า เราต้องวิ่งให้ทัน”

 เธอย้ำว่า

“Comfort Zone นี่เป็นตัวอันตรายของความสำเร็จอย่างรุนแรง เพราะถ้าคุณสบาย ต่อให้สิ่งที่กำลังดีมาก ๆ อยู่ข้างหน้า คุณก็จะไม่ลุกนะ แม้รู้ว่าถ้าลุกขึ้นไปทำแล้วมันเกิดประโยชน์อยู่แล้ว ไม่ว่ากับใครก็ตาม แต่ไม่ทำ นั่นคือศัตรูตัวฉกาจของความสำเร็จ เพราะฉะนั้น อันนี้คือสิ่งที่โฟร์ทกลัวที่สุด”

ด้วยภาระในซิตี้แบงก์ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ทำให้เสียงเพลงของเธอแผ่วลง เพลงล่าสุด น่าจะเป็นเพลง “เจ็บเพื่อรัก” ซึ่งเป็นเพลงประกอบละคร เพลิงรักเพลิงแค้น ทางช่อง 3 ในปี 2562

“ยังมีออกงานร้องบ้างค่ะ อย่างงานภายในของแบงก์ ที่ร้องทุกวันคือในห้องน้ำ เพลงที่ชอบมากคือ น้ำค้างกลางตะวัน แต่เร็ว ๆ นี้อาจมีเซอร์ไพรส์เรื่องการร้องเพลงก็ได้นะคะ (หัวเราะ)”

เป็นโลก 2 ใบที่พลังของผู้หญิงคนนี้ทำได้อย่างงดงามจริง ๆ

 

 

 

 

 

   



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน