หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักระดับโลกคือ ยานยนต์ทุกประเภท โดยในส่วนของรถ Isuzu คือแบรนด์ดัง ไล่ตั้งแต่รถบรรทุก Pick-up SUV ไปจนถึงรถบรรทุกขนาดใหญ่
สถานะแบรนด์ระดับท็อปทำให้ Isuzu เป็นแบรนด์ที่คนทั่วโลกเห็นผ่านตาเป็นประจำบนท้องถนน และจำเป็นต่อระบบ Logistics โดยหากมีข่าวจะใช้ประเทศไหนเป็นฐานการผลิตหรือถอนตัวจากประเทศไหน ย่อมเป็นข่าวใหญ่สะเทือนวงการ
เช่น ข่าวการย้ายฐานผลิตจากไทยไปอินโดนีเซียที่มีออกมา แม้ Isuzu เร่งออกมาแก้ข่าว แต่ความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้ว โดยได้ทำให้หุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยบางแห่งในไทยร่วงอย่างหนักเลยทีเดียว
ทว่าก่อนขึ้นมาเป็นแบรนด์ตัวท็อป Isuzu ก็เคยต้องพึ่งพาบริษัทอื่นมาก่อน โดยเริ่มต้นจากการเป็นฝ่ายผลิตรถยนต์ของบริษัทต่อเรือ Ishikawajima เมื่อปี 1916 และรถรุ่นแรกที่ออกมาจากโรงงานยังเป็นการประกอบรถบรรทุกของ Wolseley จากอังกฤษอีกด้วย
แม้นี่ทำให้เป็นบริษัทรถแห่งแรก ๆ ของญี่ปุ่นยุคสร้างชาติ แต่ชาวญี่ปุ่นก็ไม่สามารถภาคภูมิใจได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องพึ่งเทคโนโลยีต่างชาตินั่นเอง
ถัดจากนั้นแผนกยานยนต์ของ Ishikawajima ก็พัฒนาขึ้นตามลำดับ และมีส่วนสำคัญในการผลิตรถบรรทุกในการกู้ภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่แถบคันโตเมื่อปี 1923 พอปี 1929 ก็แยกตัวออกมาจากบริษัทแม่ และรวมกับ DAT ค่ายรถอีกแห่ง (ที่ต่อมาจะกลายเป็น Nissan) พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Jidosha Kyogo
พอถึงช่วงเริ่มต้นรัชสมัยโชวะหรือในยุค 30 ญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นมาจนเป็นชาติชั้นนำของเอเชียหลังสามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้ และกำลังทะเยอทะยานสร้างชาติให้ทัดเทียมกับประเทศตะวันตก รัฐบาลในขณะนั้นจึงเร่งผลักดันอุตสาหกรรมหนักในประเทศ โดยยานยนต์ก็เป็นหนึ่งในนั้น
นโยบายดังกล่าวทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยปี 1934 บริษัท Jidosha Kyogo ก็เปลี่ยนชื่อเป็น Isuzu ตามชื่อแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ชื่อเดียวกันในเมืองมิเอะ และเมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง Isuzu ก็มีส่วนสำคัญต่อการลำเลียงกำลังพลของกองทัพ
หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง Isuzu ก็กลับมาผลิตรถตามปกติ โดยแม้เน้นไปที่รถบรรทุกและรถ Pick-up แต่ก็มีการผลิตรถเก๋งออกมาบ้างประปราย และเริ่มรุกตลาดต่างประเทศ ประเดิมด้วยการส่งออกรถไปฮ่องกงในปี 1949
แผนบุกตลาดโลกของ Isuzu มาถึงไทยด้วยการเปิดโรงงานในปี 1966 ไล่เลี่ยกับแบรนด์รถญี่ปุ่นแบรนด์อื่น ๆ โดยต่อมาไทยพัฒนาสู่ฐานการผลิตรถยนต์แห่งใหญ่ในเอเชีย จนได้ชื่อ Detroit of Asia ตามเมือง Detroit เมืองอุตสาหกรรมสำคัญในสหรัฐฯ
ปี 1977 Isuzu ก็ขยายตลาดในกลุ่มประเทศ ASEAN ด้วยการเปิดโรงงานในอินโดนีเซีย ขณะที่การรุกตลาดโลกก็ยังคงคืบหน้าต่อไป โดยช่วงกลางยุค 90 Isuzu กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์รถ Pick-up ขายดีในสหรัฐฯ ผ่านรถรุ่น Hombre
ถัดจากนั้นฐานการผลิตในไทยก็ทวีความสำคัญกับ Isuzu ตอกย้ำฉายา Detroit of Asia โดยปี 2002 ก็เปิดตัว D-Max รถ Pick-up ที่มีฐานผลิตหลักอยู่ในไทย อย่างไรก็ตามแบรนด์รถญี่ปุ่นแห่งนี้ที่ตั้งชื่อตามแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ก็ต้องเจอกับขาลงเช่นเดียวกับบริษัทอื่น ๆ
ขาลงใหญ่ ๆ ของ Isuzu คือการถอนตัวในตลาดสหรัฐฯ ในปี 2009 จากยอดขายตก และวิกฤตโควิดในปี 2020 กับปี 2021 ที่ฉุดให้ยอดขายทั่วโลกลดลงไปอยู่ที่ 14,900 ล้านดอลลาร์ (ราว 515,000 ล้านบาท) และ 13,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 4740,00 ล้านบาท) ตามลำดับ
สถานการณ์ของ Isuzu กลับมาดีขึ้นในปี 2022 ยืนยันได้จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นเป็น 18,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 623,000 ล้านบาท)
ปี 2023 สถานการณ์ Isuzu สดใสขึ้นไปอีก โดยเมื่อไตรมาสแรก D-Max คือรถ Pick-up ขายดีอันดับ 7 ของโลก ด้วยยอดขายราว 73,000 คัน
ล่าสุด Isuzu ตกเป็นข่าวใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ASEAN โดยเมื่อ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา Agus Gumiwang Kartasasmita รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย เผยว่า ปี 2024 Isuzu จะเริ่มย้ายการผลิตจากไทยมาอินโดนีเซีย
พอเรื่องนี้กระจายมาถึงไทยในวันรุ่งขึ้นก็ฉุดหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยบางแห่งในไทยร่วงอย่างหนัก และร้อนถึง Isuzu ต้องมาแก้ข่าวว่าไม่เป็นความจริง และยังไม่เป็นทางการ แต่ก็ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
เพราะตอนนี้อุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียกำลังคึกคัก หลังค่ายรถหลายแห่งเล็งเห็นว่าอินโดนีเซียมีปัจจัยมากมายเอื้อต่อการทำธุรกิจ ทั้งเป็นประเทศใหญ่ และประชากรมาก ขณะเดียวกันยังมีแหล่งในการผลิตรถ EV ขนาดใหญ่อีกด้วย
จนนำมาสู่การสร้างโรงงานรถยนต์และแบตเตอรี่รถ EV หลายแห่ง อันส่งผลต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทำให้รถ EV ในอินโดนีเซียโตตาม
และบริษัททำเหมืองนี่เองก็ทำให้ปีนี้อินโดนีเซียแซงฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ขึ้นมาเป็นประเทศที่มีการทำ IPO มากสุดอันดับ 4 ของโลก
ท่ามกลางคาดการณ์ว่า หากอุตสาหกรรมยานยนต์เข้าสู่ยุครถ EV เต็มตัว แล้วรัฐบาลไทยไม่ทำอะไรสักอย่าง อินโดนีเซียที่กำลังเดินหน้าแบบติดเทอร์โบ อาจจะแซงไทยขึ้นมาเป็น Detroit of Asia แห่งใหม่ได้ในที่สุด/isuzu, companieshistory, wikipedia, statista, reuters, nikkei
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ