หลังไต้หวันเปิดประเทศในเดือนตุลาคม 2565 จนถึงธันวาคมของปีเดียวกัน ไทยไปเที่ยวไต้หวัน กว่า 50,000 ราย
และในปีนี้การท่องเที่ยวไต้หวันตั้งเป้าหมายว่าจะพาคนไทยไปเที่ยวไต้หวัน 320,000 ราย จากเป้าหมายนักท่องเที่ยวรวมที่วางไว้ 6 ล้านรายให้ได้
เป้าหมายดึงดูดไทยไปเที่ยวไต้หวันที่ดูสูงนี้ มาจากไทยเป็นหนึ่งในนักท่องเที่ยวที่สำคัญที่เข้ามาเที่ยวในไต้หวันสูงสุดติด Top10 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด
ข้อมูลจาก Tourism Statistics Database of the Taiwan Tourism Bureau พบว่าในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2566 นักท่องเที่ยว 10 ประเทศที่เข้ามาไต้หวันสูงสุดประกอบด้วย
Korea จำนวน 206,981 ราย
Hong Kong จำนวน 206,936 ราย
Japan จำนวน 188,189 ราย
Malaysia จำนวน 142,996 ราย
USA จำนวน 135,115 ราย
Vietnam จำนวน 131,852 ราย
Thailand จำนวน 130,397 ราย
Singapore จำนวน 124,671 ราย
Philippines จำนวน 92,595 ราย
Indonesia จำนวน 59,932 ราย
จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด 1,662,839 ราย
ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2566 ที่มีนักเที่ยวไทยไปไต้หวัน 83,000 ราย จากการทำตลาดโปรโมตการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ
เช่น กิจกรรม Taiwan The Lucky Land ให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปไต้หวันลงทะเบียนร่วมลุ้นเงินรางวัลมูลค่า 5,000 ดอลลาร์ไต้หวันใหม่ หรือประมาณ 5,600 บาทไทย
นโยบายฟรีวีซ่า 14 วัน
และ แคมเปญ The Challenge of Unseen Taiwan เป็นต้น
แคมเปญการตลาดต่าง ๆ ที่ผ่านมา สอดคล้องกับไตรมาส 1/2566 ที่การท่องเที่ยวไต้หวันให้ข้อมูลว่า คนไทยที่ไปเที่ยวไต้หวัน 80% เป็นการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ
และ 20% เป็นการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ
โดยนักท่องเที่ยวที่เที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจมากถึง 70% เป็นการเที่ยวด้วยตัวเอง และที่เหลือ 30% เที่ยวกับบริษัททัวร์
เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวไทยไปไต้หวันให้ได้ 320,000 ราย ในปีนี้
สำนักงานการท่องเที่ยวไต้หวันประจำกรุงเทพฯ จึงต้องรุกหมัดเด็ดที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในไต้หวันมากขึ้น แทนการท่องเที่ยวในประเทศอื่น ๆ ยอดนิยมอย่างญี่ปุ่น เกาหลี และอื่น ๆ ผ่านกลยุทธ์ 3 ประการ
ได้แก่
1. ปรับเปลี่ยนแคมเปญโปรโมต จาก The Challenge of Unseen Taiwan เป็นแคมเปญ All is just right in Taiwan ทุกอย่างใช่ โดนใจที่ไต้หวัน
ซึ่งประกอบด้วย
Just Fun ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่เป็นวิวแลนด์สเคปต่าง ๆ และทริปการท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น ทริปปั่นจักรยาน ทริป Wellness ให้ความสนุกและผ่อนคลายไปในตัว เพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ชอบเช็กอินในจุดที่ไม่ซ้ำใคร
Just Eat ผ่านอาหารที่มีความหลากหลายตั้งแต่สตรีทฟู้ด ไปจนถึงอาหารรางวัลมิชลิน
Just Shopping จากแหล่งช้อปปิ้งสินค้าท้องถิ่นไปจนถึงไฮเอนด์
Just Feel สร้างประสบการณ์ในด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเป็นมิตรของคนไต้หวัน เช่น การดื่มชา การไหว้พระที่มีจำนวนมาก
แคมเปญ All is just right in Taiwan เป็นเหมือนกับการโปรโมตเพื่อขยายจุดขายและประสบการณ์การท่องเที่ยวไต้หวันที่มากกว่าแคมเปญ The Challenge of Unseen Taiwan ที่เปิดไปในต้นปีที่ประกอบด้วย
Unseen Festival ผ่านเทศกาลโคมไฟและโคมลอย
Unseen LOHAS (Lifestyles of Health and Sustainability): ผ่านเส้นทางปั่นจักรยาน
Unseen Food ด้วยอาหารรางวัลมิชลิน
Unseen Culture ผ่านการไหว้พระผ่านวัดที่มากกว่า 12,000 แห่งทั่ว
2. บอย ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ แบรนด์แอมบาสเดอร์คนไทยคนแรกที่ช่วยโปรโมตผ่านแคมเปญ All is just right in Taiwan ไปยังสื่อ TVC และอื่น ๆ
เหตุผลที่เลือกบอย ปกรณ์ มาจากคาแรกเตอร์ที่มีอารมณ์ขัน มีความสนุก และเป็นมิตร เหมือนกับคนไต้หวันที่มีความเป็นมิตรพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว
เพื่อเจาะกลุ่มวัยทำงานมีอายุ 20-29 ปี ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวไทยกลุ่มหลักที่เข้ามาเยือนไต้หวันเป็นหลัก
และนอกจากนี้ การท่องเที่ยวไต้หวันยังมีแผนโปรโมตการท่องเที่ยวแห่งใหม่ ๆ ผ่าน KOL อีกด้วย
3. ชัปพอร์ตเอเยนซีที่จะพานักท่องเที่ยวไทยมาเที่ยวไต้หวัน ด้วยการแจก Easy Pass, ปกพาสปอร์ต, กระเป๋าใส่ของส่วนเล็กขนาดเล็กระหว่างเดินทาง เพื่อแจกให้กับลูกทัวร์ และมีการจัดทำแฮนด์บุ๊กการท่องเที่ยวไต้หวันแจกให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตัวเองด้วย
ทั้งนี้ แม้กลยุทธ์การท่องเที่ยวไต้หวันดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยและโลกให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังกลับมาไม่เท่าปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวมกว่า 11 ล้านราย และเป็นนักท่องเที่ยวไทยมากถึง 413,000 ราย
ส่วนในปี 2562 นักท่องเที่ยวไต้หวันที่มาเยือนไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 8.3 หมื่นราย และไตรมาสแรกปี 2566 จำนวน 1.51 หมื่นราย จากไทยเป็น Top5 ในประเทศที่คนไทยไต้หวันเดินทางออกนอกประเทศเพื่อการท่องเที่ยวสูงสุด
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ