เมื่อชีวิตถึงคราวหลังชนฝาต้องเผชิญหน้ากับวิกฤต ทำทุกทางแล้วยังแทบไม่เห็นทางออก สิ่งที่คนส่วนใหญ่ต่างหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยแม้สัมผัสไม่ได้ และไม่รู้ว่าจะช่วยได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยก็ทำให้คลายเครียดลงไปได้บ้าง

ในทางจิตวิทยาเรียกการหาที่พึ่งทางใจลักษณะนี้ว่า Placebo Effect ที่หมอให้คนไข้กินยาหลอกไร้สรรพคุณใด ๆ แต่ใช้ควบคู่ไปกับรักษาแบบอื่น ๆ เช่น คุมอาหารและออกกำลังกาย รวมกันไปเพื่อให้คนไข้อาการดีขึ้นตามลำดับ

Placebo Effect ในการหันพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีให้เห็นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะกับประเทศที่มีสิ่งปลูกสร้างทางศาสนาอยู่มากมาย และจำนวนคนเข้าวัดหรือศาลเจ้าไปขอพร จะยิ่งมากขึ้นหากสภาพเศรษฐกิจฝืดเคืองจนส่งผลต่อประชาชนเป็นวงกว้าง

นี่เองทำให้การไปพึ่งสิ่งศักด์สิทธิ์ไม่เคยหมดไป ไม่ว่าเทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลแค่ไหน ไม่จำกัดอยู่แต่กับคนรุ่นเก่าเท่านั้น และไม่สนว่าใครจะมองว่างมงาย เหมือนปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดในจีน

ข้อมูลจากสองเว็บไซต์ในธุรกิจท่องเที่ยวจีนระบุว่า จำนวนชาวจีนที่ไปยังวัดวาอารามเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือครึ่งหนึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 20-30 ปี

กระแสคนรุ่นใหม่ กลุ่ม Gen Z และ Gen Y แห่ไปเข้าวัดขอพร ซึ่งมีคำเรียกแบบแปลไทยว่าวัยรุ่นจุดธูปนี้ มาจากหลายสาเหตุ เริ่มจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง ยอดผลิตสินค้าในโรงงานที่ลดลง จนอัตราการส่งออกจีนพฤษภาคมปีนี้ลดลง 7.5% มากกว่าที่ไว้และยังลดลงมากสุดนับจากมกราคมอีกด้วย

ต่อด้วยอัตราว่างงานกลุ่ม Gen Z จีนอายุระหว่าง 18-24 ปี เมื่อช่วงเมษายน เพิ่มขึ้นมาเป็น 20.4% โดยทางการจีนหวั่นว่าปีนี้สถานการณ์จะแย่ลงไปอีกเมื่อบัณฑิตจบใหม่ 11.6 ล้านคน ซึ่งก็เป็นกลุ่ม Gen Z เช่นกัน เข้าไปหางานซึ่งมีการแข่งขันกันสูง

และสุดท้ายมาจากความเครียดแบบไร้ทางออกของชาวจีน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่หมดอาลัยตายอยาก เพราะเครียดจากเรื่องเรียน ปัญหาความรัก งาน และการถูกกดดันให้แต่งงาน ทำให้ต้องหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์

จนมีชื่อเรียกวัยรุ่นเหล่านี้ว่า วัยรุ่นจุดธูป ซึ่งมาจาก 3 Hashtag เต็ม ๆ ในสื่อโซเชียลที่ว่า ขอไม่ไปเรียน ขอไม่ทำงานหนัก และเอาแต่ไปจุดธูปขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวกลับเป็นผลดีต่อวัดวาอารามหลายหมื่นแห่งของจีน และทำให้บริษัทท่องเที่ยวหันมาเน้นจัดทริปไปวัดดัง ๆ ที่ชาวไทยเรียกกันว่า ‘ทัวร์สายมู’ เพิ่มขึ้น จนทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ ซึ่งแน่นอนว่าลูกค้าของทริปขอพรสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้มีคนรุ่นใหม่อยู่ด้วย

Emei Shan Tourism บริษัทท่องเที่ยวสายมู ตามวัดในมณฑลเสฉวน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ยิ้มแก้มปริกับกำไร 9.8 ล้านดอลลาร์ (ราว 339 ล้านบาท) ในไตรมาสแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปี 2019 ก่อนที่เกิดวิกฤตโควิดถึง 262%

ดันราคาหุ้นเมื่อไตรมาสแรกปีนี้พุ่งขึ้นมาถึง 44% ถือเป็นราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นมากสุดในกรอบเวลาดังกล่าว ด้าน Anhui Jiuhuashan Tourism Development บริษัทท่องเที่ยวสายมูในมณฑลอันฮุย เผยว่า ยอดขายทัวร์ไตรมาสแรกปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 43% จากไตรมาสแรกปี 2019 และมากสุดนับแต่เข้าตลาดหุ้นเมื่อปี 2015 อีกด้วย

สถานการณ์ดังกล่าวยังทำให้ชาวจีนรุ่นใหม่แชร์คลิปเมื่อไปยังวัดดัง ๆ แต่ละวัดดังควรไปขอพรเรื่องไหน และวิธีการไหว้ขอพรให้ถูกเพื่อให้สมหวัง ส่วนวัดดัง ๆ และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ก็มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งแปรเป็นรายได้ก้อนใหญ่

เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปยังวัดบนภูเขาเอ๋อเหมยชาน ในมณฑลเสฉวน ช่วงมกราคมถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา มากถึง 2.48 ล้านคน เพิ่มจากรอบเวลาดังกล่าวของปี 2019 ถึง 53%

จำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปยังภูเขาหลงหู่ ในมณฑลเจียงซี สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิเต๋าในฐานะต้นธารลัทธิ เมื่อไตรมาสแรกปีนี้มากถึง 4.73 ล้านคน เพิ่มจากรอบเวลาดังกล่าวของปี 2019 ถึง 47%

ขณะที่ ทิวเขาอู่ตัง หรือที่แฟน ๆ นิยาย ซีรีส์และหนังกำลังภายในจีนทั่วโลก รู้จักกันในชื่อบู๊ตึ๊ง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในลัทธิเต๋าอีกแห่ง และยังเป็นสถานที่ถ่ายทำ Crouching Tiger, Hidden Dragon หนังกำลังภายในเรื่องดัง มียอดนักท่องเที่ยวในไตรมาสแรกปีนี้ ก็เพิ่มมา 23% จากไตรมาสแรกปี 2019

เทรนด์ทัวร์สายมู เป็นการแสดงให้เห็นว่า แม้ชาวจีนไม่ได้มีศาสนาประจำชาติ และไม่เชื่อในพระเจ้า (Atheist) แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า ชาวจีนก็ยังนับถือศาสนา

5 ศาสนานับรวมลัทธิที่ชาวจีนนับถือกันคือ พุทธ คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก คริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ อิสลาม ลัทธิเต๋าโดยในจำนวนนี้ศาสนาพุทธและลัทธิเต๋ามีคนนับถือมากสุด  

Placebo Effect จากพิษเศรษฐกิจและปัญหาชีวิตยังทำให้ชาวจีนหวังจะได้เงินก้อนใหญ่จากการเสี่ยงโชคในสลากกินแบ่ง จนยอดขายเมื่อเมษายนที่ผ่านมาสูงถึง 7,100 ล้านดอลลาร์ (ราว 245,000 ล้านบาท) ถือเป็นยอดขายสลากกินแบ่งจีนของเดือนเมษายนที่มากสุดในรอบ 10 ปี/cnn



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online