AI ส่งผลกระทบต่อ ตลาดแรงงาน อย่างไร ? กรณีศึกษา อินเดีย และ อินโดนีเซีย
เทคโนโลยีที่เคยเป็นแค่จินตนาการในนิยายวิทยาศาสตร์ อย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลายมาเป็นเรื่องใกล้ตัวและเรียกความสนใจได้อย่างมากมาย หลัง OpenAI บริษัทที่ Microsoft หนุนหลัง เปิดตัว ChatGPT เมื่อปลายปี 2022
เพราะนอกจากถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในเวลาไม่นานแล้ว ยังทำให้บริษัทกลุ่มยักษ์เทคอย่าง Alphabet และ Baidu พัฒนาAIที่สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ได้แบบเดียวกับ ChatGPT ออกมา
แรงกระเพื่อมที่ตามมาจากนั้นคือความกังวลของเหล่าคนทำงานในหลายสาขาอาชีพว่าจะถูกAIเข้ามาแย่งงาน (AI Anxiety) โดย Goldman Sachs วาณิชธนกิจใหญ่ของสหรัฐฯ คาดว่าในอนาคตAIจะเข้ามาแทนพนักงานเต็มเวลาเฉพาะที่สหรัฐฯ กับยุโรปมากถึง 300 ล้านคน
ขณะที่ PwC 1 ใน 4 บริษัทบัญชีใหญ่โลก เผยว่า 3 ใน 4 กลุ่มตัวอย่างคนวัยทำงานทั่วโลก กลัวว่าอีก 3 ปีจากนี้จะถูกAIแย่งงานไป
ขยับเข้ามาในเอเชียก็มีความกลัวเรื่องผลกระทบของAIต่อตลาดแรงงานเช่นกัน โดยศูนย์สำรวจข้อมูลทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นและ Nikkei สำนักเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ร่วมชาติ ได้สำรวจความคิดเห็นเรื่องAIจากนักเศรษฐศาสตร์เอเชีย 18 ประเทศ
ปรากฏว่าแม้ 14 จาก 18 คนเห็นว่าโดยรวมAIจะส่งผลทางบวกต่อเศรษฐกิจ เพราะภาคการผลิตจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเวลาในการผลิตจะลดลง
ขณะที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศเล็กแต่พัฒนาแล้วและเน้นงานบริหารกับทักษะชั้นสูงต่าง ๆ รวมไปถึงด้านเทคโนโลยีจะได้ประโยชน์จากAI เพราะจะไปช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่ก็ยังมีข้อมูลส่วนน้อยชี้ให้เห็นถึงผลเสียที่จะตามมากับประเทศที่มีขนาดตรงข้ามกับสิงคโปร์
นักเศรษฐศาสตร์จากอินโดนีเซียและอินเดียต่างเห็นตรงกันว่าAIจะทำให้คนไม่น้อยต้องตกงาน โดยอินโดนีเซีย ยังปรับตัวให้เข้ากับAIและระบบอัตโนมัติได้ช้า ดังนั้น จึงทำให้กลุ่มแรงงานรายได้น้อยตกงาน
ส่วนอินเดีย กลุ่มที่จะถูกAIแย่งงานคือ ฝ่ายผลิตคอนเทนต์ สายงานโฆษณา และฝ่ายฝึกอบรมงาน IT
ด้านนักเศรษฐศาสตร์ฟิลิปปินส์ กังวลว่าบัณฑิตจบใหม่ในเอเชียที่ไม่มีทักษะด้านAIมากพอก็จะตกงาน เพราะบริษัทเปลี่ยนไปใช้AIทำงานแทน จนพวกเขาจำเป็นต้องไปหางานอื่นไม่ตรงกับที่เรียนมาทำเพื่อยังชีพ ซึ่งถือว่าน่าเสียดายอย่างยิ่ง
สิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้คือ ประเทศไหนในเอเชียจะเร่งเพิ่มความรู้ความสามารถด้าน AI ได้มากสุด โดย 2 ประเทศที่ถูกจับตามองมากสุดคือ อินเดียกับอินโดนีเซีย เพราะประชากรมากอันดับต้น ๆ ของโลก
ในส่วนของอินเดียแม้มีจุดแข็งอยู่ที่เพิ่งแซงจีนขึ้นมาเป็นประเทศประชากรมากสุดในโลก จึงมีทรัพยากรมนุษย์จำนวนมหาศาลป้อนสู่ตลาดแรงงาน และอินเดียยังมีหัวกะทิด้านเทคโนโลยีอยู่มากมาย
แต่อินเดียยังมีความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และการมีประชากรมากทำให้ต้องบริหารทรัพยากรโดยเฉพาะอาหารให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลน
ประกอบกับหัวกะทิด้านเทคโนโลยีส่วนใหญ่ก็ไปได้ดิบได้ดีจนขึ้นเป็นผู้บริหารของบริษัทใหญ่ ๆ ของประเทศตะวันตก เช่น Microsoft, Alphabet, Adobe และ IBM ก็คงไม่อยากกลับมาตั้งต้นใหม่ในบ้านเกิด
ขณะที่อินโดนีเซียแม้มีประชากรมากและเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง ถึงขนาดปีนี้แซงอินเดียเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ขึ้นเป็นประเทศที่มีการทำ IPO มากเป็นอันดับ 4 ของโลก จากแหล่งมหาศาลที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถ EV แต่ก็ยังเป็นได้แค่โรงงานรับจ้างผลิต (OEM)
และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีก็ยังทำให้ได้เจาะตลาดภูมิภาค และยังไม่สามารถดังในตลาดโลกได้เหมือนจีน ดังนั้น จึงต้องใช้เวลาอีกพักในการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศ/nikkei
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ