เนื้ออัดกระป๋อง อาจไม่ใช่ชื่อที่ฟังดูดีสำหรับสายรักสุขภาพ เเละฟังดูไม่เข้าท่า หากจะยกกระเช้าเนื้ออัดกระป๋องไปเป็นของขวัญเเทนใจให้ใคร เเต่ไม่ใช่กับชาวเกาหลี เเละสิ่งนี้กลับเป็นสัญลักษณ์อาหารของความมั่งคั่ง คนมีฐานะเท่านั้นที่กินได้
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่บริโภค “สแปม” หรือ เเฮมกระป๋อง ปริมาณมากที่สุดของโลก มียอดขายถึงหนึ่งในสี่ของยอดขายทั่วโลก รองจากสหรัฐฯ ที่เป็นเจ้าของที่มาเพียงเท่านั้น
เทศกาลชูซอก หรือวันเฉลิมฉลองปีใหม่ตามธรรมเนียมเกาหลี ที่เป็นวันหยุดใหญ่ที่สุดของประเทศ กระเช้าของขวัญที่ทุกคนหอบไปฝากญาติผู้ใหญ่ไม่ใช่กระเช้ารังนกหรือเครื่องดื่มบำรุงร่างกาย เเต่กลับเป็น กระป๋องสแปมยกโหล
อาหารราคาถูกอเมริกา เเต่ล้ำค่าในเกาหลี
ความนิยมของสแปมคือหลักฐานที่หลงเหลือจากสงครามเกาหลี ที่เกิดจากช่วงเกาหลีเหนือรุกกรานเกาหลีใต้ ซึ่งด้านเกาหลีใต้มีพันธมิตรช่วยรบอย่างสหรัฐฯ ขณะที่ทหารสหรัฐฯ เคลื่อนพลไปทั่วเอเชีย พวกเขานำสเเปมมาด้วย ส่งผลให้อาหารของอเมริกันกลายเป็นอาหารล้ำค่าในยุคยากจนของเกาหลี
“SPAM” คือชื่อแบรนด์ของผลิตภัณฑ์เเฮมบรรจุกระป๋องของบริษัท Hormel Foods ประเทศอเมริกา คนเกาหลีจึงเรียกตามชื่อนั้น เเต่ออกเสียงเป็น “ลีเเชม” เเละกลายเป็น Generic Name ที่เอาไว้ใช้เรียกสินค้าในหมวดเเฮมกระป๋องนับเเต่นั้น
เนื่องจากเกาหลีเป็นสังคมเกษตรกรรม หลังสงครามที่ดินและฟาร์มจำนวนมากถูกทำลาย ประเทศจึงดำดิ่งสู่ความเเร้นแค้น ตกอยู่ในภาวะขาดเเคลนอาหาร เนื้อสัตว์กลายเป็นสิ่งหายาก
ขณะนั้นฝั่งเกาหลีใต้พึ่งพาอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคจากทหารสหรัฐฯ หนึ่งในนั้นคือเเฮมกระป๋อง ช่วยให้กองทัพอยู่รอด เเละนำมาสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ จนเกิดเป็นเมนูหม้อไฟเกาหลี “บูเดจิเก” ที่กลายเป็นอาหารประจำชาติไปแล้ว
อ่านเรื่อง: หม้อไฟเกาหลี “บูเดจิเก” อาหารประจำชาติ ที่เเฝงความเเร้นเเค้นในสงครามเกาหลี
เเต่ในขณะนั้นมีกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าต่างประเทศโดยเด็ดขาด แต่กระนั้นผู้คนที่ยากไร้ก็ตระหนักว่าเนื้อแปรรูปนี้คือสิ่งเดียวที่ทดแทนเนื้อสัตว์ได้ ทางเดียวคือต้องลักลอบจากฐานทัพมาขายในตลาดมืด ทำให้มีราคาสูงตามความเสี่ยง สแปมจึงกลายเป็นสิ่งพิเศษ เป็นสัญลักษณ์ของคนมีฐานะมั่งคั่งที่มีเงินมากพอจะซื้อสินค้าในราคาเเพงหูดับนี้
แต่จากนั้นสแปมยังเป็นที่นิยมคงอยู่มาตลอดหลายปี กระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารเกาหลีใต้ไปแล้ว จนกล่าวได้ว่ามีสถานะเหนือกว่าทั้ง KFC และ Coca-Cola
ทำลายสถิติการขายในเกาหลี
ช่วงเเรกสแปมยังไม่มีจำหน่ายหรือผลิตในเกาหลี สงวนไว้สำหรับร้านขายของชำในฐานทัพอเมริกา แต่ในปี 1987 Hormel ผู้ผลิตสแปมของสหรัฐฯ ได้อนุญาตเเละสนับสนุนด้านเทคนิคให้บริษัทเกาหลี CJ CheilJedang เป็นผู้ผลิตสแปมทั้งหมดที่ขายในเกาหลี ชื่อด้านหนึ่งของกระป๋องจะถูกสะกดด้วยตัวอักษรเกาหลี
สเเปมมียอดขายสะสม 4 ล้านล้านวอน นับตั้งแต่เปิดตัว เเละมีเเนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
ย้อนกลับไปในปี 2007 สเเปมขายได้ทะลุ 100,000 ล้านวอน และแตะ 490,000 ล้านวอนในปี 2021
CJ CheilJedang เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทขายสเเปมกระป๋องละ 200 กรัม ได้ประมาณ 1.2 พันล้านกระป๋อง หรือเท่ากับ 24 กระป๋องต่อคนในเกาหลี


ในปี 2017 บริษัท CJ รายงานว่าส่วนแบ่งการตลาดของสแปมสูงถึง 50% สร้างช่องว่างการขาย 300% กับคู่แข่งที่ใกล้เคียงในอุตสาหกรรม
การที่ยอดขายพุ่งสูงส่วนหนึ่งมาจากความนิยมในสถานะของขวัญประจำเทศกาล ในปี 2556 ในเทศกาลชูซอก ผู้ผลิตขายสเเปมได้เกือบ 20,000 ตัน มูลค่า 235 ล้านดอลลาร์
ในเกาหลีใต้สามารถหาผลิตภัณฑ์สเเปมได้ทุกรสทุกแบบ ตั้งแต่Spam Mild Single, SpamSingle Classic, SpamMild ไปจนถึงSpam Classic
สเเปมมีจำหน่ายใน 43 ประเทศ ทุก ๆ วินาทีทั่วโลกมีการซื้อสแปมประมาณ 12.8 กระป๋อง และขายได้มากกว่า 8 พันล้านกระป๋อง เป็นอย่างนี้นับตั้งแต่ปี 2012
ของแทนใจคือเนื้ออัดกระป๋อง SPAM
สเเปมถูกจัดวางในกล่องของขวัญประดับริบบิ้น หรือกระเช้าที่ดูดี ในหนึ่งกระเช้าประกอบด้วยสแปมเก้ากระป๋อง โดยเฉพาะแพ็กเกจของขวัญพรีเมียม ขายในราคาตั้งแต่ 20,000-120,000 วอน
สแปมกลายเป็นอาหารยอดนิยมในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และกลายเป็นสินค้าหรูหรา ที่ทุ่มเงินไปกับพรีเซนเตอร์คนดังระดับเเถวหน้าของวงการ ทำให้เเบรนด์มีภาพลักษณ์ลักชัวรีอย่างไม่ต้องสงสัย
พรีเซนเตอร์ที่เคยร่วมสร้างภาพลักษณ์ให้กับสเเปมคือคนดังเเถวหน้าของวงการบันเทิง อาทิ เอริค มุน วงชินฮวา พระเอกซีรีส์เรื่อง Another Oh Hae Young, คิม จงกุก สมาชิกรันนิ่งเเมน เจ้าพ่อคนดังวงการบันเทิง เเละล่าสุดคือยูยอนซอก หรือหมออันจองวอนจากซีรีส์ Hospital Playlist อาจกล่าวได้ว่า การได้เป็นพรีเซนเตอร์สเเปมวัดความโด่งดังได้เท่าการเป็นพรีเซนเตอร์โซจูเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ชาวเกาหลีไม่ใช่เอเชียกลุ่มเดียวที่ใช้สแปมประกอบอาหารแบบดั้งเดิม ตัวอย่างเช่น ในฟิลิปปินส์บางครั้งเสิร์ฟในเมนู rellenong manok หรือไก่ยัดไส้ด้วย
นอกจากนั้น สแปมยังเป็นที่นิยมในฮาวาย โอกินาวา และไซปัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประวัติกองทัพสหรัฐฯ ปรากฏอยู่ เป็นอาหารหลักของกองทัพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ในประเทศเกาหลีปัจจุบัน เเฮมกระป๋องนี้มักปรากฏอยู่ในอาหารหลากหลายประเภท เช่น ข้าวผัดกิมจิ บูแดจิเก และคิมบับ ข้าวปั้นม้วนสาหร่าย รวมถึงคอนเทนต์ “ม็อกบัง” (meokbang) ใน YouTube
ปัจจุบันราคาสเเปมถูกลงจากช่วงสงครามมากเเล้ว ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ เพราะมีการผลิตเองในประเทศ จึงกลายเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ถูกใจ เนื่องจากสะดวกสบาย ปรุงเองได้ เเละราคาประหยัด
อ้างอิง: CJ, BBC, The New York Times, npr, mashed, The Spinoff, Hormelfood, esquire, storymaps, Military,Medium, CNN, The Seattle Times, TheKoreaHerald, nextshark, myrecipes, Spam
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ