บูเดจิเก ทำความรู้จักอาหารประจำชาติที่เเฝงไว้ด้วยความเเร้นเเค้นในสงครามเกาหลี

Soft Power ด้านนักร้องไอดอลเกาหลีเติบโตครั้งหนึ่ง ก็พา Soft Power ในด้านอื่น ๆ เป็นที่รู้จักตามไปด้วย โดยเฉพาะอาหาร

เมนูซุปสีสันฉูดฉาดตามสไตล์เกาหลี พร้อมด้วยไส้กรอก เเฮม ผักหลากชนิดในหม้อ ที่เห็นได้บ่อยในซีรีส์ หรือวาไรตี้อาหารเกาหลี คือเมนูที่มีชื่อว่า “บูเดจิเก” (Budae Jjigae /부대찌개) หรือที่คนไทยเรียกว่า “หม้อไฟเกาหลี”

มีขายอยู่ทุกร้านอาหารสตรีทฟู้ดเกาหลี เเละอยู่ในทุกวงสังสรรค์ นับเป็นหนึ่งในอาหารประจำชาติเกาหลีที่เชิดหน้าชูตารสชาติสไตล์โคเรีย แต่เคยสงสัยกันไหมว่า เหตุใดจึงมีส่วนประกอบของอาหารอเมริกันในเมนูประจำชาติเกาหลีนี้

บูเดจิเก อาหารที่มีเอกลักษณ์ด้วยสีสันเเละรสชาติจัดจ้าน เเท้จริงเเล้ว เกิดมาจากความเเร้นเเค้นบนหน้าประวัติศาสตร์เกาหลี ผ่านช่วงเวลาเเห่งความเจ็บปวดจากสงคราม

 

รสชาติแห่งความเเร้นเเค้น

บูเดจิเก ถือเป็นอาหารฟิวชันเมนูแรกของเกาหลี ที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมอาหารตะวันออกและตะวันตก มีจุดเริ่มต้นตอนสงครามเกาหลี ช่วงปี 1950 เป็นสงครามระหว่างเกาหลีเหนือ (ได้รับการสนับสนุนจากจีนและสหภาพโซเวียต) ได้ส่งกองทัพเข้ารุกรานเกาหลีใต้ (ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ)

การรบกระทบกับห่วงโซ่อาหารโดยตรง เกิดภาวะขาดเเคลนอาหารในกองทัพเกาหลีใต้ จนเหล่าทหารต้องดับหิวด้วยการนำวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในฐานทัพสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรทหาร แต่มีเพียงไส้กรอกและแฮม

ในตอนเเรกบูเดจิเกเริ่มจากการเป็นเมนูผัดก่อน โดยนำแฮม ไส้กรอก ผัดกับกะหล่ำปลีและหัวหอม เเต่ความเลี่ยนของเเฮม ไส้กรอก ตามสไตล์ตะวันตก ไม่เข้ากับรสนิยมของชาวเกาหลี ด้วยเหตุนี้จึงต้องเติมกิมจิเเละพริกเเดงลงเพิ่ม เพื่อให้กลายเป็นซุปรสเผ็ดตามความชอบของเกาหลี

เเม้ผ่านช่วงสงครามเกาหลีมาเเล้ว บูเดจิเกยังไม่สามารถหารับประทานได้ทั่วไป เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการทำมีส่วนประกอบของอาหารของอเมริกา ซึ่งยังไม่มีจำหน่ายเเพร่หลายในเกาหลี

ต่อมากลางทศวรรษ 1980 บริษัท CJ CheilJedang ได้เริ่มนำเข้าแฮมปรุงรสคล้ายกับของฐานทัพสหรัฐฯ จำหน่ายในประเทศ ส่งผลให้เมนูนี้เริ่มกระจายไปในร้านอาหารเพิ่มขึ้น

แฮมปรุงรสนำเข้าสมัยนั้น

 

อาหารฟิวชันจานเเรกของประเทศเกาหลี

บูเดจิเกเป็นซุปรสเผ็ด ผสมกิมจิและพริกแบบดั้งเดิมของเกาหลี ใส่แฮมและไส้กรอก ส่วนผสมต่าง ๆ เช่น เต้าหู้ ถั่วอบ ชีสสไลด์ เห็ด รสชาติเผ็ดจะซึมเข้าไปในเเฮมและไส้กรอก  ทำให้เนื้อนุ่มขึ้น

กลายเป็นเมนูฟิวชันตะวันออก-ตะวันตกจานแรกในเกาหลี ที่กลมกลืนไปกับเอกลักษณ์อาหารเกาหลี

คำว่า “บูเด” หมายถึง หน่วยทหารสหรัฐฯ ที่ประจำการในเกาหลี ส่วน “จิเก” ในพจนานุกรมภาษาเกาหลี หมายถึง เครื่องเคียงที่ทำโดยการต้มน้ำซุปกับเนื้อสัตว์ เต้าหู้ ผัก แล้วปรุงรส

เเต่ “บูเดจิเก” มีอีกชื่อเรียกว่า “Johnson Tang”  หรือ “Carter Tang” ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตามนามสกุลของประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson ของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นที่มาเยือนเกาหลี  โดยรัฐบาลเกาหลีได้เสิร์ฟเมนูนี้ต้อนรับที่บลูเฮาส์

ปัจจุบันบางคนเรียกอาหารจานนี้ว่า “อึยจองบูจิเก”

บางครั้งรสชาติของบูเดจิเกจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เพราะรสชาติของเครื่องปรุงกิมจิแตกต่างกันไป หลัก ๆ บูเดจิเกที่ได้รับความนิยม แบ่งออกได้เป็นสไตล์ อึยจองบู เเละสไตล์ซองทัน

 

บูเดจิเกสไตล์อึยจองบู

ในอึยจองบู คือ พื้นที่เเรกในเกาหลีที่มีเมนูนี้วางขาย เพราะเป็นเขตที่อยู่ใกล้กับฐานทัพที่อเมริกาประจำการอยู่หลังสงคราม ในอึยจองบูจะมีถนนชื่อว่า “ถนนบูเดจิเก” ที่ตั้งชื่อตามเมนูอาหารดังชนิดนี้โดยเฉพาะ อีกทั้งมีเทศกาลบูเดจิเกจัดทุกปี

มีร้านค้าที่จำหน่าย “บูเดผัด” ซึ่งเป็นรูปแบบดั้งเดิมของบูเดจิเกด้วย บูเดจิเกสไตล์อึยจองบู บางครั้งจะเพิ่มชีสไว้ข้างบน กลายเป็นเอกลักษณ์ของสไตล์นี้

บูเดจิเกในอึยจองบู

 

บูเดจิเกสไตล์ซองทัน

มีรสชาติเข้มข้นกว่าที่อื่น ใช้น้ำซุปกระดูกเนื้อ และเนื้อสับแช่แข็งเป็น แฮมกด ไส้กรอกสำเร็จรูป เเละใส่ต้นหอมปริมาณมาก ตามด้วยเส้นราเมง เป็นสูตรของบูเดจิเกซองทันเเบบออริจินัล

บูเดจิเกในซองทัน

 

ไม่ได้มีเพียง บูเดจิเก เท่านั้นที่มาจากการผสมของเหลือด้วยความจำเป็น อาหารชนิดอื่นก็มีไม่น้อยที่ต้นกำเนิดคล้ายคลึงกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปคุณภาพและวิธีการปรุงก็พัฒนาขึ้น

  • เฝอ – แต่เดิมในช่วงยุคอาณานิคมชาวฝรั่งเศสกิน pot-au-feu เหลือ ชาวเวียดนามก็รีดเส้นก๋วยเตี๋ยวในน้ำซุปเนื้อที่เหลือรับประทานต่อ
  • ฟองดู – แม้ว่าตอนนี้จะเป็นที่รู้จักในฐานะอาหารระดับไฮเอนด์ แต่เดิมถูกใช้สำหรับการแปรรูปของเหลือเพื่อรักษาชีสแข็งและขนมปัง ที่เหลือหลังจากรับประทานอาหาร
  • ทีรามิสุ – ทำขึ้นเพื่อรีไซเคิลกาแฟและขนมที่เหลือ
  • Bouillabaisse – มีต้นกำเนิดมาจากชาวประมงต้มของเหลือที่จับได้เพื่อกำจัดมัน
  • กาแฟ Luwak – กาแฟที่มีฐานะเป็นกาแฟแพงที่สุดในโลก แต่ต้นกำเนิดมาจากขี้ชะมด ที่ชาวไร่ผู้ยากจนชาวอินโดนีเซีย ที่ทำงานในไร่กาแฟช่วงยุคอาณานิคม อยากลิ้มรสเบอร์รี่ของกาแฟ จึงเก็บเมล็ดกาแฟที่ขับถ่ายจากมูลชะมดมาลองชิม

ด้วยราคาที่ต่ำ บูเดจิเกจึงเป็นอาหารที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย หารับประทานได้ตามร้านริมทางในเกาหลี หากเมื่อสั่งเมนูนี้มารับประทาน  ในวงอาหารต้องมี กิมจิจิเกเเละโซจู เคียงคู่กันไปด้วย จึงจะจบมื้อแห่งความสุขอย่างลงตัว

ร้านอาหารริมทางเกาหลี มีราคาอาหารขึ้นอยู่กับโลเคชัน ในพื้นที่ท่องเที่ยวอาจเเพงขึ้นกว่าปกติ เเต่โดยรวมเป็นราคาที่เข้าถึงได้ โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับ 1,000-6,000 วอน ต่อรายการ ตัวอย่าง ต๊อกบกกี ราคาเฉลี่ย 2,000-4,000 วอน , คิมบับ 1,500-3,000 วอน, เกี๊ยวหรือมันดู 1,500-4,000 วอน,  โอเด้ง ไม้ละ 500-2,000 วอน

ตลาดอาหารเกาหลีเองมีขนาดตลาดที่ใหญ่เป็นรองจากไม่กี่ประเทศในเอเชีย ภาพรวมตลาดอาหารเกาหลี 2023 มีมูลค่า 129,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 5 ล้านบาท) อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 5.44%  ในด้านปริมาณ โดยเฉลี่ยต่อคนบริโภคอยู่ที่ 576 กก. คาดการณ์ว่าภายในปี 2028 ปริมาณอาหารจะอยู่ที่ราว 35,030 ล้านกิโลกรัม เพิ่มขึ้นด้วยอัตรา 4.6% ต่อปี

อย่างไรก็ดี อาหารสตรีทฟู้ดที่มีรสจัดจ้านอาจลดลงเนื่องจากประชาชนเกาหลีหันมาตระหนักเรื่องสุขภาพ ส่งผลให้อาหารมังสวิรัติและอาหารเจได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

อ้างอิง: foodbankKorea, nculture, namuwiki, brunchstory, kgnews, samulgoonginaeiledu, fsnews, 10000recipe, gnnews, Globaldata, statista, investkorea

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online