เศรษฐกิจเวียดนาม ในอีก 10 ปีจะแซงไทยและกลายเป็นหนึ่งในผู้นำอาเซียน

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ

หลายประเทศมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น ในบรรดาประเทศเหล่านี้ เวียดนามและไทยมีความโดดเด่นในฐานะสองประเทศที่มีเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีที่สุดในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม แนวโน้มและการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจล่าสุดชี้ให้เห็นว่าเส้นทางการเติบโตของเวียดนามจะโดดเด่นกว่าประเทศไทยในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า

บทความนี้จะพาไปเจาะลึกถึงปัจจัยสำคัญว่าอะไรที่เป็นปัจจัยที่ผลักดันให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามก้าวกระโดดและมีแนวโน้มว่าอาจจะแซงประเทศไทยในอีกไม่ช้า

ตอนนี้อยู่ที่ 5 แต่อีก 10 ปีข้างหน้าก็ไม่แน่

ขนาดเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2023  อยู่ในอันดับที่ 5 ด้วยขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมที่ 433,300 ล้านดอลลาร์ซึ่งเหนือกว่ามาเลเซียที่อยู่ที่ 6 (433,350 ล้านดอลลาร์) และสูงกว่าเมียนมา (74,900 ล้านดอลลาร์) กัมพูชา (30,900 ล้านดอลลาร์) บรูไน (15,100 ล้านดอลลาร์) ลาว (14,200 ล้านดอลลาร์) และติมอร์ตะวันออก (2,000 ล้านดอลลาร์)

จากข้อมูลของ IMF ในปี 2023 GDP ของประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่ารวมประมาณ 3.86 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมีประเทศอินโดนีเซียเป็นผู้นำภูมิภาคด้วยขนาด GDP ประมาณ 1.42 ล้านล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยไทยอยู่ในอันดับที่ 2 ที่ GDP ระดับ 512,000 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยสิงคโปร์ (อันดับ 3) และฟิลิปปินส์ (อันดับ 4) ที่ GDP 497,000 ล้านดอลลาร์ และ 435,700 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

โดย IMF คาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2024 GDP ของเวียดนามคาดว่าจะสูงถึงประมาณ 469,700 ล้านดอลลาร์ ขยับจากอันดับ 6 มาเป็นอันดับที่ 5 ในภูมิภาค ตามหลังประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย (1.54 ล้านล้านดอลลาร์) ไทย (543,350 ล้านดอลลาร์) สิงคโปร์ (520,970 ล้านดอลลาร์) และฟิลิปปินส์ (475,940 ล้านดอลลาร์)

1. อินโดนีเซีย  1.42 ล้านล้านดอลลาร์

2. ไทย 512 พันล้านดอลลาร์

3. สิงคโปร์ 497 พันล้านดอลลาร์

4. ฟิลิปปินส์ 435.7 พันล้านดอลลาร์

5. เวียดนาม 433.3 พันล้านดอลลาร์

6. มาเลเซีย 433.35 พันล้านดอลลาร์

7. เมียนมา 74.9 พันล้านดอลลาร์

8. กัมพูชา 30.9 พันล้านดอลลาร์

9. บรูไน 15.1 พันล้านดอลลาร์

10. ลาว 14.2 พันล้านดอลลาร์

11. ติมอร์ตะวันออก 2 พันล้านดอลลาร์

ขนาดเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ประจำปี 2023

ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจอิสระของสหราชอาณาจักร (CEBR) ประเมินว่าอันดับทางเศรษฐกิจของเวียดนามอาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามจะสามารถขึ้นสู่อันดับที่ 24 ของโลกภายในปี 2033 โดยมีเศรษฐกิจมูลค่า 1.05 ล้านล้านดอลลาร์ และภายในปี 2038 GDP ของเวียดนามอาจจะโตไปแตะระดับ 1.56 ล้านล้านดอลลาร์ได้เลย และส่งให้เวียดนามทะยานจะขึ้นสู่อันดับที่ 21 แซงหน้าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน อย่าง ไทย ที่เมื่อถึงตอนนั้นขนาดเศรษฐกิจก็จะขยับไปแตะ 1.313 ล้านล้านดอลลาร์ สิงคโปร์ (896 พันล้านดอลลาร์) ฟิลิปปินส์ (1.536 ล้านล้านดอลลาร์) และทำให้เวียดนามเข้าสู่กลุ่ม 25 ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

ถามว่าอะไรทำให้การประมาณการขนาดเศรษฐกิจ (Economic Projection) ของเวียดนามดูโดดเด่นกว่า ไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ซึ่งปัจจุบันครองอันดับเหนือเวียดนาม จากข้อมูลของ CEBR ระบุว่าด้วยความที่เวียดนามมีความได้เปรียบในด้านจำนวนประชากรที่กำลังเข้าสู่วัยทำงานและอายุยังน้อย ทำให้เวียดนามมีโอกาสที่จะแซงหน้าประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เคยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น

นอกจากนี้ ทาง CEBR ยังคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP โดยเฉลี่ยต่อปีของเวียดนามจะอยู่ที่ 6.7% ในช่วงปี 2024-2028 และจะเข้าสู่การเติบโตที่ 6.4% ในอีก 10 ปีหลังจากปี 2028 นั่นแปลว่าถ้าอ้างอิงจาก McKinsey ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังระดับโลกที่ระบุว่า เศรษฐกิจของไทยจะมีการเติบโตอยู่ในช่วง 2-3% เท่านั้น นั่นแปลว่า ถ้าเปรียบเทียบกับการวิ่งตอนนี้ไทยวิ่งช้าลงในขณะที่เวียดนามวิ่งเร็วขึ้น แล้วทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ทำไมเวียดนามจึงจะกลายมาเป็นประเทศผู้นำเศรษฐกิจใหม่ของอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

เพื่อให้เห็นแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตของไทยและเวียดนาม เราจะวัดที่ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ หรือ Economic Performance  เวียดนามนั้นรักษา “อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีมาก” โดยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละประมาณ 6-7%  ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยการเติบโตที่แข็งแกร่งนี้ได้รับแรงหนุนจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ภาคการผลิตที่กำลังเติบโต การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ที่เพิ่มขึ้น และแรงงานรุ่นใหม่ที่กำลังตบเท้าเข้าสู่ภาคแรงงานอย่างแข็งขันซึ่งถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของกงล้อที่ได้ชื่อว่าเศรษฐกิจ

ในทางกลับกัน การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยค่อนข้างคงที่อยู่ที่ 2-4% ไม่เกินนี้ ซึ่งก็ต้องบอกว่า ไม่หวือหวา อาจจะเนื่องด้วยไทยเองเป็นประเทศที่ผ่านยุคการเติบโตด้วยอุตสาหกรรมมาแล้ว รวมไปถึงในปัจจุบันไทยก็ไม่ได้เป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเท่าใดนัก ดังนั้น อัตราการเติบโตส่วนใหญ่ของไทยจะขึ้นอยู่ภาคการบริโภคภายในประเทศ แม้ว่าประเทศไทยจะมีฐานการผลิตที่มั่นคงและเศรษฐกิจที่หลากหลาย แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เช่น ประชากรสูงวัย (ไม่เกิด Productivity ในเชิงเศรษฐกิจ) ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ในภูมิภาค และการชะลอตัวของการเติบโตของผลผลิต (Productivity Growth)

ทีนี้เราจะมาดูว่าปัจจัยอะไรที่เป็นแรงหนุนให้เวียดนามยังคงรักษาระดับการเติบโตได้ในระดับที่สูงและอะไรทำให้ไทยกำลังจะกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจตามหลังเวียดนาม

ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทาง เศรษฐกิจเวียดนาม

  1. ประชากรรุ่นใหม่คนวัยกำลังทำงาน

จากข้อมูลในช่วงสิ้นปี 2023 เวียดนามมีประชาทั้งสิ้น 98,858,950 รั้งอันดับที่ 15 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ เวียดนาม มีประชากรอายุน้อยและเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 31 ปี ความได้เปรียบทางประชากรศาสตร์นี้ทำให้ประเทศมีกำลังแรงงานจำนวนมาก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อความสำเร็จทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่และวัยรุ่นยังช่วยขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกด้วย

จากข้อมูลของ Worldbank ระบุว่า ประชากรเวียดนามส่วนใหญ่ 45.7% มีอายุอยู่ในช่วง 25-54 ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงวัยที่สามารถก้าวขึ้นมาทดแทนกลุ่มคนในเจเนอเรชั่นเดิมได้ เพื่อเป็นกำลังหลักที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต สวนทางกับอัตราส่วนประชากรในช่วงวัย 55-64 ปีและ 65 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นช่วงวัยของผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนน้อยมาก (ตัวเลขหลักเดียว) นั่นก็ทำให้เห็นว่า ด้วยจำนวนประชากรและอายุเฉลี่ยประชากรเวียดนามในช่วง 10 ปีหลังจากนี้มีความได้เปรียบไทยเป็นอย่างมาก

0-14 ปี: 22.61% ของประชากร (ชาย 11,733,704 คน / หญิง 10,590,078 คน)

15-24 ปี: 15.22% ของประชากร (ชาย 7,825,859 คน / หญิง 7,202,716 คน)

25-54 ปี: 45.7% ของประชากร (ชาย 22,852,429 คน / หญิง 22,262,566 คน)

55-64 ปี: 9.55% ของประชากร (ชาย 4,412,111 คน / หญิง 5,016,880 คน)

อายุ 65 ปีขึ้นไป: 6.91% ของประชากร (ชาย 2,702,963 คน / หญิง 4,121,969 คน)

สัดส่วนประชากรของเวียดนามตามช่วงอายุต่าง ๆ ในปี 2023: Population Pyramid

 

 

  1. ความสามารถในการผลิต

เวียดนามกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลก โดยเวียดนามสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญในภาคส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญของอุตสาหกรรม ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และชิ้นส่วนยานยนต์ ด้วยต้นทุนค่าแรงที่ต่ำ ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่ดี (เมืองอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ติดทะเล) และการบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลกได้อย่างไร้รอยต่อ ทำให้เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับบริษัทต่างชาติที่กำลังมองหาฐานการผลิตที่คุ้มค่า (ค่าแรงไม่แพง ประสิทธิภาพดี ผลิตภาพเยี่ยม)

  1. เศรษฐกิจที่เน้นการส่งออก

ที่จริงประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศที่มีเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญถึง 40% โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ  ส่วนเวียดนามนั้นประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเข้าถึงตลาดโลก โดยการส่งออกมีส่วนสำคัญของ GDP การมีส่วนร่วมของประเทศในข้อตกลงการค้าเสรีต่าง ๆ เช่น ข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ก็ช่วยเสริมความแข็งแกร่งในด้านการส่งออก

  1. การบริโภคของชนชั้นกลางและการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น (Domestic Consumption)

การบริโภคภายในประเทศถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตของ GDP จากสมการ GDP = C+I+G+(X-M) ซึ่ง C ตัวแรกก็คือ Domestic Consumption ก็ต้องบอกว่าในขณะที่เศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตอย่างต่อเนื่อง กลุ่มชนชั้นกลางของเวียดนามก็มีจำนวนเติบโตขึ้นเช่นกัน และฐานผู้บริโภคที่ขยายตัวนี้ช่วยขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศให้เติบโต และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามมากขึ้นเรื่อย ๆ

ทำไมในระยะยาวความสามารถทางการแข่งขันของไทยอาจเสียเปรียบเวียดนาม

ปี 2023 เศรษฐกิจไทย เติบโตในอัตราที่ “ช้าลง” โดยในปี 2023 GDP ของไทยเติบโตอยู่ที่ 1.9% และเมื่อเทียบกับปี 2022 ที่เติบโต 2.50% ก็เท่ากับว่าไทยนั้นเติบโตน้อยลง พอผลลัพธ์ออกมาแบบนี้ทำให้นักวิเคราะห์ต้องปรับประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจของไทยเมื่อจบปี 2024 เป็น 2.8% จากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 3.2% แม้ว่าการส่งออก ภาคการบริการ และภาคการท่องเที่ยวจะดีขึ้นหลังโควิดแล้วก็ตาม และ รัฐบาลไทยก็ได้ออกมาตรกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยต่าง ๆ เช่น โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล เพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาครัฐน่าจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตต่อไป

  1. ข้อจำกัดด้านประชากรสูงอายุและแรงงาน

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านประชากร ด้วยเหตุผลที่ว่าจำนวนประชากรสูงวัยที่รวดเร็วและจำนวนแรงงานที่ลดลง การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญต่อผลิตภาพทางเศรษฐกิจของไทยและแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว (ที่อาจจะลดลง) เนื่องจากรัฐจะต้องจัดสรรทรัพยากรส่วนหนึ่งไปดูแลผู้ที่เกษียณจากการทำงาน จะทำให้ระบบสวัสดิการสังคมตึงเครียดและจำกัดความพร้อมของแรงงานที่มีทักษะ

  1. ความไม่เท่าเทียมกันและความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในภาพรวมระดับประเทศ แต่ความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้อย่างมีนัยสำคัญและความแตกต่างในระดับภูมิภาคยังคงมีอยู่ (ค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันมากในระดับหนึ่ง)  ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตแบบองค์รวม โดยในบางภูมิภาคของไทย และบางส่วนของประชากรยังคงมีความล้าหลังในแง่โอกาสทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอยู่มาก

  1. ประสิทธิภาพการผลิตและนวัตกรรมที่ไม่ไปไหน

การเติบโตของผลผลิตของประเทศไทยชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยฐานความรู้และนวัตกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากประเทศไทยยังคงไม่ได้มีการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนามากเพียงพอ ตลอดจนความพยายามในการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการและการนำเทคโนโลยีมาใช้นั้นค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ๆ ในภูมิภาค

  1. การพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากจนเกินไป

ในอดีตเศรษฐกิจของไทยต้องพึ่งพาอุปสงค์ (ความต้องการ) จากภายนอกเป็นอย่างมาก โดยพึ่งพาภาคส่วนของการท่องเที่ยวและบริการสูงถึงประมาณ 54% (ภาคการท่องเที่ยวและบริการ จัดเป็นการส่งออกประเภทหนึ่ง) และยังพึ่งพาการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป สูงถึง 40% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยวและการส่งออก แม้ว่าสิ่งนี้จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในอดีต แต่ยังทำให้ประเทศมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของผู้บริโภคหรือนโยบายการค้า

เทียบกันชัด ๆ วิเคราะห์เปรียบเทียบภาคการเติบโต

ทีนี้เราจะมาดูกันว่า ถ้าเทียบกันแบบปอนด์ต่อปอนด์แล้วความท้าทายของปัจจัยที่ผลักดันการเติบโตอะไรบ้างที่ไทยจะต้องเผชิญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องชนกับเวียดนามตรง ๆ  โดยส่วนหนึ่งนักวิเคราะห์มองว่าความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจไทย มาจากความต้องการที่ไม่แน่นอนจากคู่ค้ารายใหญ่อย่างจีนและและยุโรป หนี้ครัวเรือน ซึ่งสูงถึงร้อยละ 90.9 ของ GDP (16.2 ล้านล้านบาท) ซึ่งรัฐอาจจะต้องบริหารจัดการอย่างระมัดระวัง

ภาคการผลิต

ภาคการผลิตของเวียดนามมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยได้รับแรงหนุนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และการบูรณาการของประเทศเข้ากับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก บริษัทข้ามชาติรายใหญ่หลายราย อย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี เช่น Apple, Samsung, LG และ Intel ได้ไปตั้งโรงงานสำคัญที่เวียดนาม โดยได้รับแรงดึงดูดจากต้นทุนค่าแรงที่ต่ำและทำเลที่ตั้งที่ง่ายต่อการส่งออก

ในทางตรงกันข้าม ภาคการผลิตของประเทศไทยแม้จะมีเสถียรภาพ แต่ก็เผชิญกับความท้าทายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น และการแข่งขันจากผู้เล่นรายอื่น ๆ ในภูมิภาค นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมหลักบางอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมตะวันตกดินก็ทำให้ไทยต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในเรื่องของคำสั่งซื้อและการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า แรงงานมีทักษะมากกว่า และคำตอบของบริษัทเหล่านั้นก็คือ เวียดนาม

ภาคการผลิตซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยกำลังถูกท้าทายจากเวียดนาม: Vietcetera

ภาคการส่งออก หนุน เศรษฐกิจเวียดนาม

ทั้งไทยและเวียดนามต่างก็เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกทั้งคู่ เพียงแต่ต่าง sector กัน ไทยส่งออกสินค้าเกษตรประเภทข้าว น้ำตาล ยางพารา และสัตว์น้ำ รวมไปถึงการท่องเที่ยวและบริการ ส่วนเวียดนามเน้นการส่งออกในหลากหลายผลิตภัณฑ์ และความสำเร็จในการกระจายตลาดและผลิตภัณฑ์ที่ส่งออก ตั้งแต่สิ่งทอและอิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงสินค้าเกษตรและอาหารทะเล การที่เวียดนามลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีต่าง ๆ เหมือนเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดด้านการส่งออกทรัพยากรของเวียดนามที่มีหลากลายอยู่แล้วให้สามารถเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ และลดอุปสรรคทางการค้าได้เป็นอย่างดี

การส่งออกสินค้าของเวียดนามที่มีการกระจายไปในหลาย ๆ สินค้าทำให้เวียดนามสามารถลดความเสี่ยงจากการผันผวนของดีมานด์ในตลาดโลกได้: China Briefing

ในขณะที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาตลาดส่งออกและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญบางรายการ เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเกษตรมาโดยตลอด แม้ว่าไทยจะพยายามกระจายพอร์ตการส่งออก แต่ก็ยังถือว่าการเดินหมากเรื่องการส่งออกของไทยยังค่อนข้างช้ากว่าเมื่อเทียบกับเวียดนาม

การลงทุนโดยตรงจากเงินลงทุนจากต่างประเทศ Foreign Direct Investment (FDI)

เวียดนามกลายเป็นประเทศปลายทาง (ใหม่) อันดับต้น ๆ สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แซงหน้าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนอย่างไทยและมาเลเซีย ด้วยข้อได้เปรียบในด้านค่าแรงที่ต่ำ สิทธิพิเศษด้านภาษีที่จูงใจ ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยและดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก จึงทำให้เวียดนามสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศให้มาลงทุนได้อย่างต่อเนื่องและเติบโตมาตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

โรงงานผลิตชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ Apple Iphone (Foxcon) ตั้งอยู่ในเวียดนาม: VN Express

ตรงกันข้ามกับไทยการไหลเข้ามาลงทุนของเงินต่างประเทศนั้นค่อนข้างน้อยกว่าเวียดนามอันเนื่องมาจากปัยจัยต่าง ๆ เช่น ต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง และความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบด้านการลงทุนต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ส่งผลถึงความเชื่อมั่นของผู้ที่จะมาลงทุนตั้งโรงงานในไทย

กราฟแสดงการเปรียบเทียบสัดส่วนเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้าประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนจะเห็นว่าเวียดนามมีเงินไหลเข้าไปลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ: Thai Enquirer

อีก 10 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นไม่มีใครตอบได้แน่ชัด แต่ถ้าดูจากการวิเคราะห์แนวโน้มทางเศรษฐกิจ ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต และความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น เราจะเห็นได้ชัดว่า เศรษฐกิจเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะแซงหน้าประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ด้วยปัจจัยด้านประชากรที่เอื้ออำนวยของเวียดนาม ภาคการผลิตที่เติบโตขึ้นจากการถูกคาดหวังให้เป็นฐานการผลิตแห่งใหม่แทนที่จีน (และไทย) เศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการส่งออก และการเพิ่มจำนวนของชนชั้นกลางในเวียดนามอันจะส่งผลต่อการบริโภคในประเทศ ซึ่งถือเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ตรงกันข้ามกับประเทศไทยเรียกได้ว่าต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่างในช่วง 10 ปีข้างหน้า เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ความแตกต่างในเชิงเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ข้อจำกัดด้านผลิตภาพ และการพึ่งพาการเติบโตจากแค่ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงมีความยืดหยุ่นและมีความหลากหลาย การจัดการกับความท้าทายเหล่านี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตที่แข็งแกร่งอย่างยั่งยืนในทศวรรษหน้า

ถ้ามองตามการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ที่คาดว่าการเติบโตของ GDP ของเวียดนามจะอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 6-7% ต่อปีในอีก 10 ปีข้างหน้า

ในขณะที่การเติบโตของไทยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 3-4% ในช่วงเวลาเดียวกันก็แน่นอนว่าเมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง เวียดนามจะแซงไทยกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นได้ และไม่แน่ว่าวันหนึ่งพวกเขาอาจจะโตมากจนก้าวข้ามอินโดนีเซียขึ้นไปยืนเบอร์ 1 ของอาเซียนก็ได้ อันนี้ก็ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์


เรื่อง: ณัฐศกรณ์ แสงลับ


อ้างอิง

https://www.nationthailand.com/world/asean/40036366

https://www.spglobal.com/marketintelligence/en/mi/research-analysis/vietnam-economy-moderates-in-early-2023.html

https://www.cnbc.com/2024/02/21/vietnam-to-see-highest-increase-in-wealth-growth-over-the-next-decade.html

https://www.vietdata.vn/post/gdp-in-2023-will-reach-430-billion-usd-experts-predict-that-vietnam-will-surpass-singapore-and-thai

https://vietcetera.com/en/vietnam-is-taking-thailands-crown-as-asean-fdi-king-thai-media

https://www.thaienquirer.com/44961/thailand-losing-its-asean-fdi-crown-as-investors-opt-for-more-attractive-vietnam-and-indonesia/

https://www.mckinsey.com/featured-insights/future-of-asia/southeast-asia-quarterly-economic-review#thailand

https://www.worldfinance.com/wealth-management/how-vietnams-attracting-foreign-investment-despite-global-market-instability

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online