ตลาดปลากระป๋อง เมนูขายดียามเศรษฐกิจแย่ กรณีศึกษา สามเเม่ครัว-ซูเปอร์ซีเชฟ-โรซ่า

ในช่วงที่คนต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจ ทุกบ้านต้องมีอาหารที่เรียกว่า “อาหารกันตาย” ด้วยความที่มีราคาถูก พร้อมรับประทาน เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในเเต่ละมื้อ นอกจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยังมีปลากระป๋องเป็นอีกตัวเลือก

ตลาดปลากระป๋องในไทยมีมูลค่าราว 9 พันล้านบาท  ขณะที่มูลค่าตลาดบะหมี่และเส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูปอยู่ที่ราว 17,106 ล้านบาท มากกว่าตลาดปลากระป๋องเกือบเท่าตัว

เเต่ทั้งสองอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนสูง จนต้องปรับราคาขึ้นในรอบหลายสิบปี

ในช่วงปี 2560 ตลาดมีการเติบโตชะลอตัว กระทั่งติดลบในรอบ 30 ปี จากทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบในแง่กำลังซื้อและทำให้ผู้บริโภคลดการจับจ่าย

เเต่ที่ผ่านมาการแข่งขันในตลาดดูจะดุเดือดพอสมควร จากการเข้ามาของเเบรนด์หน้าใหม่ ที่ต่างงัดเอาราคาคุ้มค่ามาวัดกันแบบไม่มีใครยอมใคร เพื่อเอาใจกลุ่มกำลังซื้อน้อย

ปลากระป๋อง เป็นปลาที่บรรจุลงในกระป๋องดีบุก ที่มีมาตั้งเเต่ปี 1795 เริ่มมาจากเป็นอาหารที่ทำขึ้นเพื่อถนอมปลา โดยนำปลาลงขวดโหลแล้วนำไปต้มในน้ำเดือด ปลาที่นิยมนำมาทำ มีทั้งแองโชวี่ แมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน เเละกลายเป็นอาหารจำเป็นโดยเฉพาะในภาวะสงคราม ด้วยอายุการเก็บรักษาที่นานเหมาะใช้เป็นเสบียงในค่ายทหาร  พอผ่านระยะเวลามา ก็ถูกพัฒนาจากปลาหมักในโหล มาเป็นกระป๋องโลหะปิดผนึกฝา

ในประเทศไทยปลากระป๋องมีมากกว่าสิบเเบรนด์ ทั้งที่เป็นเเบรนด์หลัก (สามเเม่ครัว, โรซ่า, ซูเปอร์ซีเชฟ, ซีเล็ค) เเละเเบรนด์รอง (ปุ้มปุ้ย, ซื่อสัตย์, สยามยิ้ม, TOP, MICA, มงกุฎทะเล)

ซึ่งแบรนด์ที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ ได้แก่ “สามแม่ครัว” ที่ส่วนเเบ่งการตลาดยังมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยปลากระป๋องโรซ่า เเละซูเปอร์ซีเชฟ

การเป็นอาหารของคนงบน้อย เเต่สร้างรายได้ไม่น้อยนี้ เป็นอย่างไรบ้าง

ปลากระป๋องตราสามแม่ครัว

สามแม่ครัว  ชื่อนี้คือปลากระป๋องที่อยู่คู่ครัวไทยมานานนับ 50 ปี เมื่อพูดถึงปลากระป๋องทุกครัวเรือนต้องรู้จักอย่างเเน่นอน จึงไม่แปลกที่เป็นเเบรนด์อันดับหนึ่งอันยากจะโค่นล้มได้

ครั้งเเรกของการผลิตเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2516 เมื่อกลุ่มเพื่อนตัดสินใจลาออกมาเปิดธุรกิจด้วยกัน โดยก่อตั้งบริษัท รอแยลฟูดส์ จำกัด ขึ้นมา เเล้วว่าจ้างโรงงานผลิตอาหารกระป๋องให้ผลิตปลาแมคเคอเรลกระป๋องและปลาซาร์ดีนกระป๋องในซอสมะเขือเทศให้ โดยใช้ชื่อตรา “เเม่ครัว” ก่อนที่ภายหลังจะกลายมาเป็น “สามแม่ครัว” เพื่อให้รู้สึกใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้น

เเต่ในช่วงเเรกจะรุกขายเเค่ในต่างจังหวัดเป็นหลัก เเละอัดโปรโมชันอย่างสม่ำเสมอ ทั้งสะสมสลากเเลกรางวัล ซื้อหนึ่งเเถมหนึ่ง พร้อมการตอกย้ำสโลแกนของเเบรนด์ผ่านโฆษณา ‘สามเเม่ครัว อยู่คู่ครัวไทย’ ส่งผลให้สามเเม่ครัวสะสมฐานลูกค้าเเละชื่อเสียงได้มาก

เพื่อลดความเสี่ยงในด้านต้นทุนเเละปัญหา Supply Shortage บริษัทจึงผลิตเองเเบบครบวงจร มีพื้นที่ปลูกมะเขือเทศของตนเอง เพื่อนำไปผลิตซอสต่อ เเละใช้โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ของตนเอง

ผลิตภัณฑ์ในเครือสามแม่ครัว นอกจากปลาเเมคเคอเรลในซอสมะเขือเทศ บริษัทยังออกผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทานอื่น ๆ เช่น ปลาราดพริกสามเเม่ครัว มัสมั่นไก่สามเเม่ครัว น้ำพริกปลาแมคเคอเรล ฉู่ฉี่ปลาซาร์ดีน คั่วกลิ้งสามเเม่ครัว  ผักกาดดอง เเละเครื่องปรุงรส

ซึ่งนอกจากสามเเม่ครัวจะเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดปลากระป๋องไทยเเล้ว  ยังไปโด่งดังในเวียดนาม เเละกวาดมาร์เก็ตเเชร์เกินครึ่งอีกด้วย เรียกได้ว่าชนะขาดทุกแบรนด์ในเวียดนาม

ปลากระป๋องซูเปอร์ซีเชฟ

ซูเปอร์ซีเชฟ ทุกคนต้องคุ้นตากับโลโก้พ่อครัวกอดปลาตัวใหญ่ มีบริษัท ซีแวลู จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิตและจำหน่าย บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 มีฐานะเป็นโรงงานผลิตปลาทูน่า มีกำลังการผลิตเป็นรายใหญ่ของโลก ในปี 2550 บริษัทเปิดตัวแบรนด์ ซูเปอร์ซีเชฟ สู่ตลาด

เเละประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ “ซูเปอร์ซีเชฟ” จากผลิตภัณฑ์ปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรลในซอสมะเขือเทศ

เเทนที่จะเเข่งราคา ซูเปอร์ซีเชฟเลือกพัฒนาสินค้าของตนให้มีความหลากหลาย พร้อมรับประทานได้ทันที โดยสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ ซูเปอร์ซีเชฟปูผัดผงกะหรี่ ทูน่าสเต๊กในน้ำเเร่ ทูน่าสำหรับใส่ขนมปังเเซนด์วิช ปลากระป๋องซูเปอร์ซีเชฟยำรสเผ็ด เป็นต้น

โดยสามารถแบ่งรายได้จากผลิตภัณฑ์ปลาซาร์ดีน-แมคเคอเรลประมาณ 90% และทูน่าและอาหารพร้อมรับประทานยังอยู่ในสัดส่วนน้อย ราว 10%

ปลากระป๋องโรซ่า

โรซ่าคือเเบรนด์ที่ตราสามเเม่ครัวเเบบตัวติดกันมาตลอด เเต่มีอายุมากกว่าสามเเม่ครัว เพราะเริ่มธุรกิจมาตั้งเเต่รุ่นพ่อ ตระกูลวังพัฒนมงคล

เดิมยังไม่ใช่ธุรกิจปลากระป๋อง เเต่เป็นพ่อค้าคนกลาง จำหน่ายน้ำตาลทราย นมข้นหวาน เมื่อไม่เห็นกำไรก็กระโดดไปทำเเบรนด์ของตัวเอง เริ่มที่ซอสปรุงรส “ตราแพะ” จากนั้นจึงนำเข้าซอสมะเขือเทศมาจำหน่ายต่อ เป็นจุดกำเนิดของ “ซอสมะเขือเทศโรซ่า” พร้อมตั้งเป็นบริษัท โรซ่าผลิตภัณฑ์อาหาร (ประเทศไทย) จำกัด

เเต่การนำเข้าใช้ต้นทุนสูง บริษัทจึงหันมาพัฒนาเครื่องจักร ปลูกมะเขือเทศเอง เเต่ก็ต้องเผชิญปัญหาผลผลิตล้นโรงงาน จึงคิดวิธีระบายซอสมะเขือเทศ เเละสรุปลงตรงลงทุนสร้างโรงงานเพื่อผลิตปลากระป๋องเพิ่ม

เเต่การลงทุนในเครื่องจักรเเละโรงงานใช้เงินจำนวนไม่น้อย ทำให้บริษัทต้องไปกู้เงินก้อนใหญ่มา จนขาดสภาพคล่องทางการเงิน ส่งผลให้บริษัทโรซ่าล้มละลายในที่สุด

ระหว่างเรื่องอยู่ในช่วงดำเนินการในศาล ทายาทของโรซ่ารุ่นลูกก็ตั้งบริษัท ชื่อ ไฮ คิว ขึ้น เเละเเจ้งเกิดปลากระป๋องไฮคิวตามมา จนเมื่อแบรนด์โรซ่าถูกขายทอดตลาด บริษัทไฮคิวรีบไปซื้อโรซ่ากลับคืนมา  กลายเป็นว่าไฮคิวกับโรซ่าอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน

บริษัท ไฮ คิว ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด มีสัดส่วนรายได้จากปลากระป๋อง 45% ซอสมะเขือเทศ 30% นอกนั้นมาจากอาหารพร้อมรับประทานและซอสปรุงรสราว 25%

โรซ่ามีผลิตภัณฑ์ค่อนข้างหลากหลายกว่าเมื่อเทียบกับเเบรนด์ที่กล่าวมาก่อนข้างต้น โดยที่สินค้านั้นประกอบไปด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มอาหารกระป๋อง (ปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศเเละปรุงรส ปลาทูน่า ผักกาดดอง) กลุ่มซอสต่าง ๆ (ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก และซอสปรุงรสอื่น ๆ) และกลุ่มอาหารบรรจุซอง (โรซ่าพร้อม และผักกาดดอง)  รวมสินค้าของโรซ่าทั้งหมดมากกว่า 200 รายการ

ปัจจุบันอาหารจำพวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง หรืออาหารพร้อมรับประทานอื่น ๆ ไม่ได้มีไว้สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือชนชั้นรากหญ้าเท่านั้น เพราะในยุคปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป  หันไปให้ความสำคัญกับความรวดเร็ว ง่าย สะดวกสบาย มากกว่าอะไรที่มีขั้นตอนยุ่งยาก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่

ที่อาศัยอยู่คอนโดมิเนียม  พื้นที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการประกอบอาหาร ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ได้ดีที่สุด หนีไม่พ้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหาร Ready to Eat

เเบรนด์จึงไม่จำเป็นต้องลงเเข่งในสังเวียนราคา เพื่อชิงส่วนเเบ่งอีกต่อไป เเต่ต้องพาตัวเองเเตกไลน์ไปมากกว่าปลากระป๋อง ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ครอบคลุมดีกว่า

ซึ่งทุกแบรนด์ต่างแข่งกันออกสินค้าอาหารพร้อมรับประทาน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนไป เน้นเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะโรซ่าที่มีอาหารพร้อมรับประทานออกมาไม่ขาดสาย รักษาคอนเซ็ปต์ ‘เเค่ฉีกซอง ก็พร้อมรับประทาน’

นอกจากช่องทางการจำหน่ายเดิมของทุกเจ้า ทั้งโมเดิร์นเทรด ร้านค้าส่ง ยี่ปั๊วต่าง ๆ ทุกแบรนด์พยายามพัฒนาช่องทางการขายสู่โลกออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซและมาร์เก็ตเพลส

ทั้งนี้ การออกสู่น่านน้ำใหม่ ก็เป็นอีกวิธีที่จะสร้างการเติบโตให้แก่บริษัท ตัวอย่าง บริษัท ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ได้ส่งออกสินค้าจำหน่ายในต่างประเทศ ในจำนวนที่สร้างเม็ดเงินให้มากถึงครึ่งหนึ่งของการจำหน่ายในประเทศ โดยมีทั้งการส่งออกในลักษณะรับจ้างผลิต และส่งออกภายใต้แบรนด์โรซ่า

ขณะที่บริษัท ซีแวลู จำกัด (มหาชน) บริษัทส่งออกไปจำหน่ายแบบร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ร้านค้าส่งในแถบ CLMV ทั้งเเบบลูกค้าทำตลาดเอง เเละบริษัททำตลาดเอง

ในวันที่เศรษฐกิจไม่ดี ปลากระป๋องขายดีไหม?

สามเเม่ครัว ซูเปอร์ซีเชฟ โรซ่า
บริษัท บริษัท รอแยลฟูดส์ จำกัด บริษัท ซีแวลู จำกัด (มหาชน) บริษัท ไฮ คิว ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
ประวัติ ในอดีตชื่อ “เเม่ครัว” ก่อนเปลี่ยนมาเป็นสามเเม่ครัว ก่อนผลิตปลากระป๋อง บริษัทเป็นโรงงานผลิตทูน่ารายใหญ่ของโลก โรซ่าเคยล้มละลาย  ผุ้บริหารเลยสร้างบริษัทไฮคิวขึ้นใหม่ เเล้วไปซื้อโรซ่ากลับมา
รายได้
2563 4,228 413 4,130
2564 4,579 549 4,306
2565 3,276 4,636
กำไร
2563 517 265 409
2564 460 375 472
2565 239 276
น้ำหนัก (กรัม) 155 155 155
ปริมาณโซเดียม (มิลลิกรัม) 230 450 340
เนื้อปลา (กรัม) 93 93 93
ราคา 18 18 19.50

ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจ, เว็บไซต์เเบรนด์

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online