ปีนี้เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) มีอายุ 72 ปี เป็นบริษัทด้านประกันชีวิตอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย
โดยมี สาระ ล่ำซำ เป็นผู้สืบสานธุรกิจ มรดกเก่าแก่หลายทศวรรษของตระกูล
จากบัญชา ล่ำซำ ผู้เป็นกรรมการผู้จัดการคนแรกในปี 2494 ต่อด้วย โพธิพงษ์ ล่ำซำ (บิดาของสาระ) และ ภูมิชาย ล่ำซำ ผู้เป็นอา
จนเมื่อปี 2547 ได้ส่งไม้ต่อให้กับสาระซึ่งเป็นลูกชายคนเล็กของโพธิพงษ์ ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
“ตำแหน่งนี้ตระกูลไม่ได้เตรียมไว้ให้ผม จำได้ว่าคุณพ่อไม่เคยพูดกับผมจริงจังในเรื่องนี้ ผมว่าคุณพ่อเป็นคน open มาก”
สาระ หรือ “คุณป้อง” ของทุกคนในบริษัท เอ่ยยิ้ม ๆ กับ Marketeer
และพอ Marketeer บอกว่าเคยสัมภาษณ์เรื่องงานเรื่องตัวเลขกันมาหลายครั้ง วันนี้ขอโฟกัสด้าน soft side อยากรู้ว่าชีวิตของเขาถูกหล่อหลอมและมีวิธีคิดในเรื่องต่าง ๆ อย่างไรบ้าง
คุณป้องยิ้มรับแล้วบอกว่า “ดีครับ ปกติผมไม่ค่อยได้คุยเรื่องพวกนี้”
แล้วก็เริ่มต้นเล่าเรื่องย้อนวัยด้วยสีหน้าที่มีความสุข
“ผมรักคุณแม่มาก เป็นคนติดแม่ (ยุพา ล่ำซำ) ติดครอบครัวมากจริง ๆ ไม่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศเลย คิดถึงบ้าน”
ทุกวันนี้แม้หน้าที่การงานรัดตัวแต่เขาก็ยังหาเวลาเข้าไปรับประทานข้าวกับคุณพ่อ–คุณแม่ที่ซอยพร้อมศรีเป็นประจำ
แต่ด้วยความที่เป็นเด็กไม่ชอบเรียนเท่าไร อยู่เมืองไทยก็คงสอบเข้ามหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ไม่ได้ คุณพ่อเลยส่งไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุ 13 ปี จนกระทั่งจบบริหารธุรกิจบัณฑิต มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2536
และจบวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาบริหาร) มหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2538
ในขณะที่พี่สาวทั้ง 2 คน คือ “คุณแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ “คุณปุ้ย” วรรณพร พรประภา (ล่ำซำ) สถาปนิกและภูมิสถาปนิกเจ้าของสำนักงานออกแบบ พีแลนด์สเคป เรียนระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยในเมืองไทย
โชคดีที่อเมริกาจะมีกลุ่มนักเรียนไทยที่เป็นญาติ ๆ และลูก ๆ เพื่อน ๆคุณพ่อคุณแม่จับกลุ่มกัน และใช้เวลาช่วงปิดเทอมสั้น ๆ นัดไปเล่นสกีกันบ้าง บางครั้งก็ไปรวมตัวสังสรรค์กันที่บ้านของบรรยงค์ ล่ำซำที่ Long Island New York หรือบ้านของเพชร หวั่งหลี ฝั่ง Boston
“หลายคนเลยสนิท ผูกพันกันมาตั้งแต่เด็ก เช่น คุณพงศกร คุณสุรช คุณกฤษฎา ล่ำซำ พี่บอย ถกลเกียรติ ที่บางช่วงจะหายไป เพราะพี่เขาตระเวนไปดูละครเวที ซึ่งผมน่าจะเด็กสุดในช่วงนั้น”


ความผูกพันกับเมืองไทยประกันชีวิต

เขาเล่าว่าตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ครอบครัวจะตามคุณพ่อไปเยี่ยมสาขาของบริษัทในต่างจังหวัดด้วยกันตลอด
“บางครั้งผมก็ไปกับคุณพ่อ 2 คน ได้เจอกับผู้ใหญ่ที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตในหลาย ๆ พื้นที่ บางท่านก็ยังมีชีวิตอยู่วันนี้ ได้คุ้นเคยกับคนด้านประกันชีวิต วัฒนธรรมของธุรกิจประกัน พอโตขึ้นผมก็รู้สึกได้ถึงความมีเสน่ห์ของธุรกิจประกันชีวิต”
คำพูดของคุณพ่อที่สาระจำได้และประทับใจมากตั้งแต่วัยเด็กคือ
“เวลาบริษัทมีปัญหา คุณพ่อจะคอยพูดให้กำลังใจทีมงานตลอด และมักจบด้วยคำพูดที่ว่าประตูห้องทำงานผมเปิดเสมอ เป็นสิ่งที่ผมยังจำได้จนถึงทุกวันนี้ ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นเด็กมากนะครับ สั้น ๆ แต่กินใจมากเพราะหมายถึงว่าใครมีปัญหาก็เข้าหาได้ ประตูห้องคุณพ่อจะเปิดตลอดเวลา”
และนั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ห้องทำงานของ CEO บริษัทเมืองไทยประกันชีวิตในวันนี้ ไม่เคยปิดประตู และถ้าใครมีเรื่องที่จะต้องขอคำปรึกษาสามารถเข้าหาสาระได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องมีการนัดผ่านเลขาอย่างเป็นทางการ
ภาพที่ Marketeer เคยเห็นบ่อย ๆ ก็คือการที่มีพนักงานดักเจอคุณป้องได้ทุกที่ ทั้งหน้าหน้าลิฟต์ หน้าห้อง หรือตามทางเดิน


ถูกบ่มจนได้ที่นานนับ 10 ปี ตำแหน่งผู้นำสูงสุดก็มา

หลังเรียนจบปริญญาตรี สาระเริ่มชีวิตการทำงานที่เมืองไทยประกันชีวิตจากตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายฝึกอบรมและพัฒนา ซึ่งเป็นฝ่ายที่สามารถเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ของธุรกิจประกันภัยได้อย่างรวดเร็ว
หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อปริญญาโท กลับมาตอนคุณภูมิชาย ล่ำซำ ผู้เป็นอาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ
เป็นยุคที่ตอนนั้นองค์กรต้องการทำ Re-engineering ที่ต้องบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากธนาคารกสิกรไทย ตามแนวคิดของคุณปั้น (บัณฑูร ล่ำซำ) เพื่อให้องค์กรทำงานคล่องตัวขึ้น ช่วยลดต้นทุนทางตรง และต้นทุนทางอ้อม
ตอนนั้นสาระได้รับโอกาสให้เป็น Team Lead ของการทำ Re-engineering ซึ่งมีผู้บริหารอีกหลาย ๆ ท่านที่เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษา
“การที่เมืองไทยประกันชีวิตสามารถทำ Re-engineering ได้ในตอนนั้นเพราะองค์กรมีความแข็งแกร่ง และมีความพร้อมอยู่แล้วระดับหนึ่ง ไม่อย่างนั้นจะทำไม่สำเร็จ”
พอจบจาก Project Re-engineering ก็ได้ขึ้นไปเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวางแผน
หลังจากนั้นก็ไต่เต้าตำแหน่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ในที่สุดหลังจากถูกบ่มจนได้ที่ประมาณ 11 ปี ก็ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ในวันที่มีอายุประมาณ 34-35 ปี
เรียกได้ว่า เป็น CEO บริษัทประกันชีวิตที่หนุ่มที่สุดในเมืองไทย
สาระเล่าว่าด้วยความที่เป็นเด็ก ผู้ใหญ่ก็มักให้ความเอ็นดู ช่วยเหลือให้คำปรึกษา และสอนงานให้มากมาย
“เช่น คุณภคินีนาถ และสามี ชัยยศ ติยะชาติ 2 ท่านนี้จะเก่งในเรื่อง Operation การ Run ธุรกิจ ส่วนคุณอาผม คุณภูมิชาย ล่ำซำ ท่านเป็นคนที่เก่งเรื่องคน เรื่องมนุษยสัมพันธ์ เป็นคนที่เฮฮา สนุกสนาน จริง ๆ ก็เป็นคนที่คอยช่วยในเรื่อง Soft Skills สร้างความเป็นกันเองกับตัวแทน”
หรือเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมประกันชีวิต ผู้ใหญ่ในวงการประกันก็ได้ให้ความช่วยเหลือแนะนำอย่างดีมาก ๆ เช่น คุณสุทธิ รจิตรังสรรค์ จาก เอไอเอ อาจารย์อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล สุนทร บุญสาย อดีตนายกสมาคมประกันชีวิตไทย
“เรายังเด็ก มาจากบริษัทเล็ก ๆ ไม่มีใครมองว่าเป็นคู่แข่ง ทุกท่านมีหลักการบริหารที่มีบรรษัทภิบาลที่ดี มีความเป็น Professional คำสอนในเรื่องต่าง ๆ เลยเป็นหนทางในการเรียนลัดได้อย่างดี”
สาระเล่าว่า การขึ้นมาเป็นผู้นำของเขาเป็นสิ่งที่ฝ่ายขายกลัว ด้วยความที่มีไฟแรงมาก
“ผมเน้นในเรื่องการขายแบบ Proactive มากขึ้น ไม่ใช่ Aggressive นะครับ ทำให้มีคนกลัวผมมาก จำได้ว่ามีผู้ใหญ่ด้านฝ่ายขายลาออกไปอยู่บริษัทอื่น เป็นการต้อนรับตำแหน่งใหม่ที่ทำเอาผมเสีย Self เหมือนกัน ผมใช้เวลาเกือบครึ่งปีในการปรับตัวในหลาย ๆ เรื่อง ทั้ง ๆ ที่อยู่ที่นี่มาประมาณ 10 ปี”
ในช่วงแรกจะใช้เวลาเกี่ยวกับเรื่องคนประมาณครึ่งปี หลังจากนั้นก็สร้างผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง
ประมาณกลางปี 2547 ทำการ Rebranding เมืองไทยประกันชีวิต โดยเอาหลักแนวคิดที่ว่า ถ้าจะสู้จากนี้ไปวิธีการของเราต้อง Differentiate ต้องสร้างความแตกต่าง
เริ่มจากความกล้าเปลี่ยนสีเมืองไทยประกันชีวิต ให้เป็นสีบานเย็น ที่หมายถึงทุกวันคือวันใหม่ เราจะไม่ Give Up ต่อให้เราท้อแค่ไหน ตื่นมาเราก็มีพลังใหม่ ทั้งที่ในตอนนั้นเกือบทั้งวงการประกันชีวิตจะใช้สีน้ำเงินหรือสีโทนเข้มอื่น ๆ ที่ให้ความรู้สึกมั่นคงหนักแน่น
“อย่าลืมว่าหลังจาก Re-engineering แล้ว เกือบ 10 ปี ผมอยู่กับการเป็น Head ของยุทธศาสตร์มาตลอด ทุกคนย่อมมีศิลปะในตัวเอง เพราะฉะนั้นศิลปะของผมคือความถนัดในการวางแผน ที่แตกต่างด้วยการทำ Rebranding แล้วก็โชคดีที่กรรมการไว้ใจให้ลองทำ”
Pain Point ของธุรกิจที่สำคัญที่สุดของธุรกิจประกันชีวิตในช่วงเวลานั้นคือ ทุกคนกลัวการขายประกันชีวิต เมืองไทยประกันชีวิตก็พยายามเปลี่ยนวิธีคิดให้คนมองว่าประกันชีวิต เป็นเรื่องของรอยยิ้ม เป็นเรื่องของ Happiness โดยพยายามเอาแบรนด์เข้าไปอยู่ใน Lifestyle ของคน
พอปลายปีก็เกิด เมืองไทย Smile Club คลับแห่งความสุขและรอยยิ้ม ที่ ตั้งขึ้นเพื่อสร้างและบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าเมืองไทยประกันชีวิตอย่างใกล้ชิดผ่านกิจกรรมและสิทธิประโยชน์มากมายหลายรูปแบบ
ผลงานโฆษณาชุดเมืองไทย Smile Club ที่เน้นความบันเทิงถูกพูดถึงและกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในเวลาไม่นาน พร้อม ๆ กับการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
พร้อม ๆ กับการสร้าง Product เพิ่มขึ้น เข้าถึงกลุ่มคนทุกระดับรายได้ ผ่านช่องทางที่หลากหลาย นอกจากช่องทางตัวแทนแล้วก็เริ่มการขายผ่านช่องทางของธนาคารด้วย
เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ตลอดระยะเวลา 19 ปีต่อมา ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นมาท้าทายเขาอย่างต่อเนื่อง
ปัญหากระแทกใส่ ลูกแล้วลูกเล่า
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแข่งขันของธุรกิจ การเมือง น้ำท่วม Digital Disruption เศรษฐกิจชะลอตัว โควิด-19
ที่หนักสุดคือ ตอนปี 2551 เกิด Hamberger Crisis เมื่อพาร์ตเนอร์ โดนผลกระทบ แต่ก็ผ่านมาได้ และมีการเปลี่ยนชื่อจาก Fortis กลายเป็น AGEAS แล้วก็เป็น Partner ที่อยู่กันมาตลอดปีหน้าจะครบ 20 ปี
“ช่วงนั้นจากคนที่ชอบวิ่งออกกำลังกาย ไม่ต้องวิ่งเลย น้ำหนักลงตลอด ตอนนั้นยอมรับว่ากลัวมาก เพราะถ้า Partner ไม่อยู่แล้ว เราจะเป็นอย่างไร เป็นบทเรียนครั้งสำคัญว่าเวลามี Shareholder Agreement อย่ามองดีเกินไป ให้มองอะไรที่แย่ไว้ด้วย แล้วมอง What if มีสมมุติว่า มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจะ Handle อย่างไร”
ในปี 2562 สาระได้ปรับภาพลักษณ์องค์กร (Brightening the Brand) ครั้งใหญ่เพื่อรับมือกับการถูก Disrupt ของธุรกิจประกันภัย
หลายคนมองว่าคือ Big Challenges เขากลับมองว่าเป็น Big chance
หลังจากนั้นโควิด-19 ก็เข้ามา
ก่อนที่โควิดจะเกิดเรายังคุยถึงเรื่องการทำ Risk Management ว่าจะต้องมีเรื่องของตัวประกันที่เกี่ยวกับ Pandemic หรือเปล่า ก็ไปดูเรื่องของ Bird Flu แต่โหเบี้ยแพงมาก
“เราก็ไม่คิดนะว่าครั้งหนึ่งในชีวิตจะได้เจอเรื่องของโรคระบาดที่น่ากลัวขนาดนั้น แต่ผมคิดว่าพอก้าวข้ามมาได้ แล้วมองย้อนกลับไปคนใน Industry ประกันได้ถูกเติมเต็มสิ่งที่เป็นประสบการณ์มากขึ้น ที่เขาบอกว่าการเรียนรู้ไม่มีเรื่องของอายุ จริง ๆ ผมเห็นด้วย 100% เลย เพราะเป็นการเรียนรู้ครั้งใหญ่ของผมเลยครับ”
ทุกวันนี้ยังต้องเตรียมรับมือกับปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่ผันผวนอยู่ตลอดเวลา เรื่องสงครามรัสเซีย ยูเครน ยังไม่จบ เรื่องการเมืองในประเทศ หรือเรื่องที่เรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย เป็นเรื่องที่เราต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
ในวันที่เหนื่อยเพราะถูกกระแทกจากปัญหาลูกแล้วลูกเล่า เขายอมรับว่าเหนื่อยจริง ๆ แต่เขามีวิธีคิดว่า
“เวลาถูกกระแทกจากปัญหาลูกแล้วลูกเล่าในฐานะ Leader ไม่ได้หมายความว่า You จะต้องเข้มแข็งตลอดเวลา ถามว่ากลัวไหม กลัว ท้อไหม ท้อ แต่อย่าโชว์การยอมแพ้ให้ทีมงานเห็นเป็นเด็ดขาด ตั้งสติและหาทางไปต่อให้จบ”
ในที่สุดสาระและทีมงานก็สามารถขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นบริษัทระดับแถวหน้าด้านประกันชีวิตได้อย่างมั่นคงมานานหลายปี มีรางวัลต่าง ๆการันตีเป็นที่ยอมรับมากมาย
สิ้นปี 2565 เบี้ยประกันรับใหม่ MTL เป็นอันดับ 2 ของธุรกิจประกันชีวิต จำนวน 26,040 ล้านบาท
เบี้ยรับประกันต่ออายุ เป็นอันดับ 4 จำนวน 43,287 ล้านบาท
เบี้ยประกันภัยรวม เป็นอันดับ 4 จำนวน 69,327 ล้านบาท
“กว่าจะถึงวันนี้ผมผ่านอะไรมาเยอะมาก และเพราะเจอวิกฤตมาตลอด หุ่นผมเลยดีขนาดนี้ (หัวเราะ) ปกติชอบวิ่ง ชอบออกกำลังกายแต่เวลามีปัญหาเยอะน้ำหนักก็จะลดเอง ไม่ต้องไปเบิร์นออก”
วางยุทธศาสตร์องค์กรให้โตได้ แต่กลับวางแผนให้ชีวิตตัวเองไม่ได้
“ชีวิตผมทำงานมาเยอะมาก แต่สิ่งที่ทำไม่ได้ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้อายุจะ 54 ปีแล้ว คือเรื่องการ Balance ชีวิตที่แท้จริง คือด้านของครอบครัว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากในชีวิตของคนเรา แล้วก็อีกด้านคือสิ่งที่อยากจะทำ แต่ไม่ได้ทำ เพราะทุกวันนี้ส่วนใหญ่น้ำหนักผมโหลดไปเรื่องงาน”
เขาบอกว่าชีวิตยังอยากทำอะไรอีกมากมาย เช่น ต้องการไปเล่น Kite surf มาก แต่พูดอย่างนี้มาประมาณ 3-5 ปีแล้วแต่ก็ไม่เคยได้ไป เพราะว่าเป็นกิจกรรมที่ต้องไปเรียน ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 อาทิตย์ ตอนนี้เริ่มมานั่งคิดแล้วว่า ถ้าพูดอย่างนี้ไปอีกสัก 5 ปี ร่างกายคงไม่เล่นด้วยแล้ว
“ผม List สิ่งที่อยากทำไว้ใน A4 ว่า อยากทำอะไรบ้าง แล้วค่อย ๆ ติ๊กไป ก่อนอายุ 60 ปี ควรจะต้องทำอะไรบ้าง จริง ๆ การเป็นนักยุทธศาสตร์ที่ดี ควรวางแผนชีวิตตัวเองให้ดีด้วย”
แต่สำหรับไตรกีฬาที่สาระเล่นประจำนั้น เขาบอกว่าฝึกซ้อมได้ง่าย มีรองเท้าวิ่งคู่เดียวก็ทำได้ ว่ายน้ำก็ฝึกซ้อมในสระที่บ้าน ส่วนปั่นจักรยาน บ้านอยู่ใกล้สุวรรณภูมิ มีสนามปั่นดี ๆ โอกาสซ้อมเลยง่ายขึ้น
“ที่เห็นผมไปแข่ง ๆ ไตรกีฬาบ่อย ๆ คือผมแข่งกับตัวเองนะครับ ต้องทำเวลาให้ดีกว่าครั้งที่แล้ว คือเคยพยายามแข่งกับคนอื่นแล้วมันแพ้เขาเยอะเลย เพราะฉะนั้นแข่งกับตัวเองดีที่สุด ทุกครั้งที่วิ่ง ปั่นจักรยาน หรือแม้แต่ว่ายน้ำ เวลาเหนื่อยมาก ๆ จะมีความคิดหนึ่งตามมาว่า เราทำเพื่ออะไร คิดอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีคำตอบ มีอย่างเดียวคือต้องเอาให้จบ มันเป็นการสอนเราอย่างหนึ่งว่าให้ตัวเราเองมีโฟกัสกับงาน ไม่มีวันที่ Give Up ต้องไปต่อให้จบ”
สุดท้าย อะไรคือ The Next Chapter ของเมืองไทยประกันชีวิต
มีมากมาย แต่อยากบอกว่าจริง ๆ ถ้าพื้นฐานขององค์กรแน่นหนา เป็น Good Governance มีเรื่องการวางเงินสำรองต่าง ๆ จะเป็น Buffer ที่แข็งแรงมาก
“ผมเป็นคนที่ไม่อยากทิ้ง Legacy หรือ Time Bomb ไว้ในอนาคต เพราะมันจะต่อยอดไปกับ Generation รุ่นหลัง กลัวเขามาด่าตาม สิ่งที่สำคัญมาก คือต้องกำหนดภาพของคนที่จะเป็น Successor ในอนาคตว่า ต้องเป็นคนที่มีความสามารถและในการ Run งานต่อ แล้วต้องบอกว่าเป็นทีม ไม่ใช่เป็นคนคนเดียว”
นั่นคือ To The Next Chapter ที่แท้จริง เพราะเป้าหมายทางตัวเลขรายได้ กำไรจะวางให้สวยหรูอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าทีมไม่มีความสามารถ The Next Chapter ก็คงมาไม่ถึง
สาระจบประโยคนี้ด้วยรอยยิ้มก่อนจะขอตัวลา (ใช้เวลาสัมภาษณ์เกินไปมาก) เพื่อไปเจอน้อง ๆ ทีมงานกลุ่มหนึ่ง ที่กำลังรอคุยงานด้วยอยู่บริเวณหน้าห้องสัมภาษณ์
เห็นแบบนี้ แผนการของชีวิตที่จะมีเวลาไปเล่น Kite surf น่าจะยากจริง ๆ
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ