ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติเติบโตอย่างต่อเนื่องจากนักลงทุนโรงเรียนนานาชาติกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่

ในปีที่ผ่านมาโรงเรียนนานาชาติมีปริมาณมากถึง 235 แห่ง จาก 228 แห่งในปี 2021

และมีเด็กนักเรียนนานาชาติในประเทศไทยเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2021 จำนวน 64,000 คน เป็น 69,000 คนในปี 2022

คิดเป็นมูลค่าธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทยไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท

โดยเฉพาะในเชียงใหม่มีกลุ่มทุนจากจีนเข้ามาลงทุนเปิดโรงเรียนนานาชาติหลักสูตรจีน เพื่อรองรับแนวโน้มที่คาดว่าจะมีผู้ปกครองชาวจีนที่มีความมั่งคั่งสูงส่งบุตรหลาน
เข้ามาเรียนในโรงเรียนนานาชาติในเชียงใหม่และภูเก็ต

เชียงใหม่มีการเปิดโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้น จากการมองเห็นโอกาสของการควบคุมหลักสูตรการศึกษาสองภาษา และหลักสูตรโรงเรียนนานาชาติอย่างเข้มงวดในจีน

ส่วนภูเก็ตที่มีการลงทุนเปิดโรงเรียนนานาชาติแห่งใหม่หลายแห่ง จากแนวโน้มการเข้ามาพักอาศัยของชาวต่างชาติหลากหลายสัญชาติ ในทำเลที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ประกอบกับการเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีภูมิทัศน์ที่สวยงามและมีความสะดวกสบายของการเดินทางด้วยเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศ ทั้งจากเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง

จะเห็นได้ว่าจำนวนเด็กนักเรียนนานาชาติในประเทศไทยมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี ถ้าไม่นับรวมช่วงโควิด-19 ที่นักเรียนนานาชาติลดลงจากการแพร่ระบาด

นับย้อนหลังธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทยจากข้อมูลของ SCB EIC อ้างอิงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) พบว่าจำนวนโรงเรียน และนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ เติบโตดังนี้

2011    133 แห่ง จำนวนนักเรียน 33,000 คน

2012    138 แห่ง จำนวนนักเรียน 35,000 คน

2013    143 แห่ง จำนวนนักเรียน 40,000 คน

2014    154 แห่ง จำนวนนักเรียน 42,000 คน

2015    161 แห่ง จำนวนนักเรียน 44,000 คน

2016    175 แห่ง จำนวนนักเรียน 51,000 คน

2017    182 แห่ง จำนวนนักเรียน 54,000 คน

2018    206 แห่ง จำนวนนักเรียน 56,000 คน

2019    207 แห่ง จำนวนนักเรียน 62,000 คน

2020    220 แห่ง จำนวนนักเรียน 52,000 คน

2021    228 แห่ง จำนวนนักเรียน 64,000 คน

2022    235 แห่ง จำนวนนักเรียน 69,000 คน

SBC EIC วิเคราะห์ว่านับตั้งแต่ปี 2011-2022 มีจำนวนโรงเรียนนานาชาติทั่วประเทศเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี

โดยโรงเรียนนานาชาติในกรุงเทพฯ และปริมณฑลขยายตัวเฉลี่ย 4% และต่างจังหวัด 7% ต่อปี

การเติบโตของโรงเรียนนานาชาติ SCB EIC มองว่ามาจากการเห็นโอกาสของ 2 ตัวแปรหลัก ประกอบด้วย

1. การขยายตัวของคนไทยมีความมั่งคั่งสูงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% นับตั้งแต่ปี 2016-2022 และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 160.000 คน ในปี 2026

SCB EIC อ้างอิงข้อมูล Knight Frank’s the Wealth Report จำนวนคนไทยที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์

ในปี 2016 มีจำนวน 58,000 คน

2020 มีจำนวน 115,000 คน

2021 มีจำนวน 125,000 คน

2022 มีจำนวน 104,000 คน

2026 มีจำนวน 162,000 คน

 

2. ชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจ และทำงานในตำแหน่งระดับสูงในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะชาวต่างชาติที่มีศักยภาพในการโยกย้ายครอบครัวเข้ามาอาศัยในไทย เช่น ชาวต่างชาติจากจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และชาวต่างชาติจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้ามาปฏิบัติงานด้านการทูต

SCB EIC วิเคราะห์จากสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว นับเฉพาะตำแหน่งผู้จัดการฝ่าย ผู้จัดการทั่วไป กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูงพบว่าหลังจากประเทศไทยเปิดประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชาวต่างชาติกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น

ปี 2017 มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย 20,000 คน

ปี 2018 มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย 24,000 คน

ปี 2019 มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย 24,000 คน

ปี 2020 มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย 14,000 คน

ปี 2021 มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย 12,000 คน

ปี 2022 มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย 22,000 คน

 

ด้วยโอกาสที่เกิดขึ้นจากความมั่งคั่งและการเข้ามาทำงานและพักอาศัยของครอบครัวชาวต่างชาติในประเทศไทย ก็มาด้วยความท้าทายเช่นกัน

ความท้าทายนี้ประกอบด้วย

1. การแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากโรงเรียนนานาชาติแบรนด์เดิม ๆ ที่มีชื่อเสียงและประสบการณ์อย่างยาวนานกับผู้เล่นรายใหม่

โรงเรียนนานาชาติแบรนด์เดิมเป็นโรงเรียนนานาชาติที่ได้รับความนิยมจากผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้าเรียน และโรงเรียนนานาชาติเหล่านี้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ชั้นใน และเริ่มขยายวิทยาเขตออกไปในพื้นที่อื่น ๆ จากการขยายตัวของเมือง และข้อจำกัดของพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน

ซึ่งการขยายตัวผ่านวิทยาเขตใหม่ ๆ รอบนอกกรุงเทพฯ ชั้นใน จะเกิดการแข่งขันกับโรงเรียนนานาชาติที่เป็นผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะการแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เขตบางพลัด ตลิ่งชัน อำเภอเมืองนนทบุรี บางกรวย บางบัวทองตามแนวถนนราชพฤกษ์ และตะวันออกของกรุงเทพฯ ได้แก่ สวนหลวง บางนา ประเวศ ประโขนง สะพานสูง บึงกุ่ม ลาดกระบัง และตามแนวถนนวงแหวนฝั่งตะวันออก และถนนบางนา-ตราดซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโครงการที่อยู่อาศัยระดับบน เช่น บ้านเดี่ยวราคา 20 ล้านบาทขึ้นไปเป็นจำนวนมาก

การขยายตัวของโรงเรียนนานาชาติไปยังกรุงเทพฯ รอบนอก และปริมณฑลมาพร้อมกับการแข่งขันด้านการพัฒนาโรงเรียนให้มีขนาดใหญ่ เช่น เพิ่มห้องเรียน อาคารเรียน หอพัก สิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เพื่อแข่งขันแย่งชิงนักเรียนจำนวนมากขึ้น เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่

ซึ่งการขยายตัวของโรงเรียนนานาชาติขนาดใหญ่ เป็นเทรนด์ที่แตกต่างจากในอดีตที่เน้นเปิดโรงเรียนนานาชาติขนาดกลางและเล็กเป็นหลักจากการเห็นโอกาสและการแข่งขันในธุรกิจนี้

2. โรงเรียนนานาชาติฝั่งตะวันออก-สมุทรปราการ แข่งขันรุนแรงกว่าทุกพื้นที่

SCB EIC ให้ข้อมูลว่าโรงเรียนนานาชาติในพื้นที่ฝั่งตะวันออก-สมุทรปราการเป็นพื้นที่ที่มีโรงเรียนนานาชาติกระจุกตัวมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 41% ของโรงเรียนนานาชาติในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมอัตราค่าเล่าเรียนในช่วง 5-8 แสนบาทต่อปี

การกระจุกตัวของโรงเรียนนานาชาติจำนวนมากในทำเลนี้ ประกอบกับโรงเรียนนานาชาติทำเลนี้ยังมีพื้นที่ว่างสำหรับรับนักเรียนใหม่เพิ่มขึ้นได้อีกจำนวนมาก จากอัตราการเข้าเรียนของนักเรียนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 44% ของความจุสูงสุดที่โรงเรียนสามารถรับนักเรียนได้

ทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ เพื่อแย่งชิงเด็กนักเรียนเข้ามาเรียนในโรงเรียนตัวเองมากที่สุด ผ่านกลยุทธ์การตลาดผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงผู้ปกครองกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด และมีการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน การพัฒนาหลักสูตร การดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากต่างประเทศ การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ ๆ และการใช้สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยเพื่อสร้างจุดเด่นให้กับโรงเรียนตัวเองอีกด้วย

3. ต้นทุนของโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 7.5% ต่อปี ในช่วง 2017-2022

ส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนด้านบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทั้งผู้บริหารการศึกษา และครูผู้สอนที่เป็นชาวต่างชาติเข้ามาในโรงเรียนเพื่อรักษามาตรฐานการเรียนการสอน ซึ่งต้นทุนด้านบุคลากรได้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี จากอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.6% จากการขึ้นค่าเล่าเรียน และการเพิ่มของจำนวนผู้เรียน

แม้จะมีส่วนต่างของค่าใช้จ่ายกับรายได้ แต่ผู้บริหารโรงเรียนนานาชาติจำเป็นต้องบริการด้านค่าใช้จ่ายและรายได้จากการศึกษาให้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องระยะยาว

เพราะถ้ามีการขึ้นค่าเล่าเรียนจนสูงเกินไปเพื่อกำไรให้มากขึ้น จะมีผลกระทบในด้านการแข่งขันกับโรงเรียนนานาชาติที่เป็นคู่แข่งอื่น ๆ

โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติขนาดเล็ก ที่ยังต้องแข่งขันกับกลุ่มทุนรายใหญ่ โดยเฉพาะผู้เล่นที่มีประสบการณ์
ในการดำเนินธุรกิจด้านการศึกษา และมีการลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งจะเป็นความท้าทายของโรงเรียนนานาชาติขนาดกลางและเล็ก ที่มีข้อจำกัดด้านการลงทุนในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

4. ห้องเรียน 2 ภาษา หลักสูตร English Program คู่แข่งทางอ้อม

ในปัจจุบันหลายโรงเรียนมีการพัฒนาหลักสูตรห้องเรียน 2 ภาษา และหลักสูตรการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษ (English program: EP) ที่เข้ามาเป็นตัวเลือกเพิ่มขึ้นในโรงเรียนหลักสูตรปกติของไทยมากขึ้น

ซึ่งหลักสูตรเหล่านี้เป็นหลักสูตรที่ดึงดูดความสนใจของผู้ปกครองได้ส่วนหนึ่ง จากค่าเล่าเรียนที่ต่ำกว่าโรงเรียนนานาชาติมาก และห้องเรียน 2 ภาษา หลักสูตร English Program เป็นตัวแปรที่มีผลกระทบกับโรงเรียนนานาชาติที่ไม่สามารถรักษาคุณภาพการเรียนการสอนได้อย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ดี แม้โรงเรียนนานาชาติจะมีความท้าทายจากการแข่งขัน แต่ธุรกิจนี้ยังมีความท้าทายอื่น ๆ เช่น จำนวนนักเรียนที่อาจขยายตัวช้าในอนาคต จากอัตราการเกิดของเด็กใหม่ที่ลดลงเฉลี่ย 5% ต่อปี เหลือเพียง 7.8 คน ต่อประชากร 1,000 คน จากในปี 2012 ที่มีอัตราเด็กเกิดใหม่ 12.7 คนต่อประชากร 1,000 คน แม้คนไทยจะมีความมั่งคั่งขึ้น และการเข้ามาทำงานของชาวต่างชาติมากขึ้นก็ตาม

ซึ่ง SCB EIC แนะนำว่าโรงเรียนนานาชาติสามารถสร้างความแตกต่าง เพื่อดึงดูดผู้ปกครองให้เลือกโรงเรียนนานาชาติของตัวเองเพื่อบุตรหลาน ด้วยการ

1. สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทั้งในไทย และต่างประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐานการศึกษาในระดับนานาชาติ ภาพลักษณ์ที่ดี และความมั่นใจให้กับผู้ปกครองในด้านคุณภาพการศึกษา และโอกาสของบุตรหลานสำหรับการเรียนต่อในระดับสูงขึ้นได้ในอนาคต

2. ความยืดหยุ่นในการพัฒนาหลักสูตรเชิงวิชาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในอนาคต เช่น หลักสูตรเขียนโปรแกรม วิเคราะห์ข้อมูล บริหารจัดการธุรกิจที่มีการผสมผสานทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติจริง เป็นต้น



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online