หลังจากที่ไลน์แมน วงใน และไลน์ ประเทศไทย ซื้อหุ้นทั้งหมดของแรบบิท ไลน์เพย์ ต่อจากแอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด
และ บริษัท แรบบิทเพย์ ซิสเทม จำกัด บริษัทลูกของเอไอเอส และวีจีไอ เป็นที่เรียบร้อย
สัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท แรบบิท ไลน์เพย์ จำกัด ได้เปลี่ยนไปเป็น ไลน์แมน วงในคือผู้ถือหุ้นใหญ่มากกว่า 50%
และไลน์ ประเทศไทย ถือหุ้น น้อยกว่า 50%
ยกตัวอย่างอ้างอิงการถือหุ้นนี้ไลน์แมน วงใน เข้าถือหุ้นแรบบิท ไลน์เพย์ จากวีจีไอที่มีสัดส่วนถือหุ้นเดิม 33.33% เป็น
ไลน์แมน วงใน 25.3%
ไลน์ ประเทศไทย 7.83%
สัดส่วนเข้าซื้อหุ้นจาก AIS ไลน์แมน วงใน ไลน์ ประเทศไทย และ เอไอเอสไม่เปิดเผย
การที่ไลน์แมน วงใน คือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท แรบบิท ไลน์เพย์ แทนที่จะเป็นไลน์ ประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในไลน์แมน วงใน นอกเหนือจากความสนใจของยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริการไลน์แมน วงใน ในธุรกิจนี้
ยังเป็นการสร้างพอร์ตโฟลิโอให้กับไลน์แมน วงใน ในการพาตัวเองทำ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์อีกทางหนึ่ง
เพราะถ้าไลน์แมน วงใน มีแผนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำ IPO ได้เร็วที่สุดในปี 2568 แรบบิทไลน์เพย์ จะเป็นบริษัทในเครือ ไลน์แมน วงใน ในทันที ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่
แต่การที่ให้ไลน์ ประเทศไทย เป็นผู้ถือหุ้นรอง เพราะต้องการนำบริการต่าง ๆ ที่ให้บริการที่ไลน์ ประเทศไทยให้บริการเชื่อมโยงไปกับบริการของแรบบิท ไลน์เพย์ ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์ที่ไลน์มองว่ามีความสำคัญในการเชื่อมโยงบริการของไลน์ ประเทศไทย จากบริการต่าง ๆ ที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นบริการที่ต้องพึ่งพาระบบเพย์เมนต์ทั้งสิ้น
เช่น บริการไลน์ช้อปปิ้ง บริการที่ไลน์ประเทศไทยต้องการนำมาเป็นจุดขายของปีนี้ และในปีที่ผ่านมามีผู้ใช้งานไลน์ช้อปปิ้งแอคทีฟต่อเดือนถึง 7 ล้านคน
การถือหุ้นในแรบบิท ไลน์เพย์ ของทั้งไลน์แมน วงใน และไลน์ ประเทศไทย จึงเป็นแนวทางในการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินของในเครือทั้งหมด
เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มส์ในการให้บริการที่มีประสิทธิภาพขึ้น และผลักดันให้แรบบิท ไลน์เพย์ เป็นเพย์เมนต์หลักเมื่อใช้บริการในเครือในอนาคต ผ่านแนวทางการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ เช่นการให้สิทธิพิเศษที่มากกว่าเมื่อจ่ายผ่านแรบบิท ไลน์เพย์ เป็นต้น
เพราะที่ผ่านมาการมีผู้ถือหุ้นที่เป็น 3 ปาร์ตี้ ทำให้การนำบริการ แรบบิท ไลน์เพย์ มาเชื่อมต่อเป็นอีโคซิสเต็มส์ของไลน์ ประเทศไทย และไลน์แมน วงในอาจทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพนัก รวมถึงการพัฒนาระบบการชำระเงินของแรบบิท ไลน์เพย์ไปยังบริการอื่น ๆ ที่จะให้บริการในวันข้างหน้า
พร้อมกับเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ไลน์ ประเทศไทย และไลน์แมน วงใน ต้องเสียค่าธรรมเนียมจากการชำระเงินให้กับผู้ให้บริการอื่น ๆ เช่น ธนาคาร เป็นต้น ถ้าแรบบิท ไลน์เพย์มีการใช้งานเป็นเพย์เมนต์หลักในอีโคซิสเต็มส์ของไลน์
ที่ผ่านมาผู้ใช้บริการของแรบบิท ไลน์เพย์ มากกว่า 50% มาจากบริการผ่านช่องทางออนไลน์
และบริการในเครือไลน์ และไลน์แมน วงในมีการใช้งาน แรบบิท ไลน์เพย์ มากที่สุด ได้แก่
ไลน์แมน และไลน์ช้อปปิ้ง
ตลอดจนเป็นจิ๊กซอว์ที่สามารถสร้างรายได้ให้จากค่าธรรมเนียมในการชำระเงินเมื่อขยายวงการให้บริการกับพาร์ตเนอร์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การนำมาเป็นบริการชำระเงินหลักสำหรับแพลตฟอร์ม POS (Point of Sale System) Merchant App ของบริษัท FoodStory จำกัด ที่ไลน์แมน วงในซื้อธุรกิจในเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา
ไม่นับรวมรายได้จากการให้บริการในฐานะช่องทางเติมเงินให้กับบัตรแรบบิท บริษัทที่อยู่ภายใต้เครือบริการวีจีไอ ที่ผู้ใช้บริการหลักคือลูกค้าบีทีเอส เนื่องจากบัตรแรบบิท ไม่ได้เป็นสินค้าและบริการภายใต้บริษัท แรบบิท ไลน์เพย์
และบริการต่าง ๆ ที่เคยให้บริการกับเอไอเอส ที่ให้บริการก่อนหน้านั้น
อย่างไรก็ดี การวางเป้าหมาย แรบบิท ไลน์เพย์ เป็นจิ๊กซอว์ในการต่อเชื่อมระบบชำระเงินของไลน์ ประเทศไทย และไลน์แมน วงในทั้งหมด เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่ในวันนี้ในตัวบริษัท แรบบิท ไลน์เพย์ยังคงประสบกับสภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัท แรบบิท ไลน์เพย์มีผลประกอบการดังนี้
2561 รายได้รวม 214.92 ล้านบาท ขาดทุน 366.55 ล้านบาท
2562 รายได้รวม 154.45 ล้านบาท ขาดทุน 353.78 ล้านบาท
2563 รายได้รวม 148.39 ล้านบาท ขาดทุน 185.75 ล้านบาท
2564 รายได้รวม 255.36 ล้านบาท ขาดทุน 184.60 ล้านบาท
2565 รายได้รวม 319.63 ล้านบาท ขาดทุน 156.65 ล้านบาท
และมีจำนวนผู้ใช้ที่เติบโตนับตั้งแต่ปี
ปี 2561 5.1 ล้านคน
ปี 2562 7.0 ล้านคน
ปี 2563 8.0 ล้านคน
ปี 2564 9.3 ล้านคน
ปี 2565 10.2 ล้านคน
มิถุนายน 2566 10.6 ล้านคน
ซึ่งดูจากจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น และยอดขาดทุนที่ลดลง เป็นไปได้ว่าแรบบิท ไลน์เพย์ จะเข้ามาเสริมพอร์ตด้านรายได้ และช่วยผลักดันให้ไลน์แมน วงใน มีผลประกอบการด้านกำไรเป็นบวกในอนาคต
เพราะอย่างน้อยไลน์แมน วงใน ใช้พลังของตัวเองผลักดันให้การใช้งานแรบบิท ไลน์เพย์ใช้งานเพิ่มขึ้นผ่านผู้ใช้บริการกว่า 10 ล้านรายที่มีอยู่ในระบบไลน์แมน ที่ในปัจจุบันมีผู้ใช้งานจำนวนหนึ่งยังไม่ได้ใช้บริการแรบบิท ไลน์เพย์ในการชำระเงิน
ส่วนไลน์แมน วงใน ผู้ถือหุ้นหลักในแรบบิท ไลน์เพย์ มีผลประกอบการย้อนหลัง หลังจากที่ไลน์แมนควบรวมกับวงในดังนี้
2562 รายได้รวม 49.92 ล้านบาท ขาดทุน 157.25 ล้านบาท
2563 รายได้รวม 1,066.37 ล้านบาท ขาดทุน 1,114,67 ล้านบาท
2564 รายได้รวม 4,140.04 ล้านบาท ขาดทุน 2,386.522 ล้านบาท
2565 รายได้รวม 7,802.77 ล้านบาท ขาดทุน 2,730.85 ล้านบาท
รายได้ของไลน์ ประเทศไทยผู้ถือหุ้นรองมีผลประกอบการ ตั้งแต่ปี 2562-2566 เนื่องจากไลน์ ประเทศไทย ไม่ได้ใช้ปฏิทินเริ่มมกราคม-ธันวาคม ตามปีปฏิทินปกติ
2562 รายได้รวม 3,655.21 ล้านบาท กำไร 34.73 ล้านบาท
2563 รายได้รวม 3,084.84 ล้านบาท ขาดทุน 97.11 ล้านบาท
2564 รายได้รวม 836.80 ล้านบาท กำไร 99.56 ล้านบาท
2565 รายได้รวม 6,087.55 ล้านบาท กำไร 71.91 ล้านบาท
2566 รายได้รวม 6,396.19 ล้านบาท กำไร 268.95 ล้านบาท
และในอนาคตแรบบิท ไลน์เพย์ จะสร้าง Performance ได้มากแค่ไหน คงต้องดูต่อไปว่า ไลน์แมน วงใน และไลน์ ประเทศไทย จะมีไม้เด็ดอะไรต่อจากนี้
(อ่านเพิ่ม Performance Rabbit Line Pay ที่ไลน์ประเทศไทย และไลน์แมน วงในถือหุ้นทั้งหมด)
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ