เมื่อกล่าวถึงชื่อ “เต่าบิน” หรือ “MTS Gold”  หลายคนเข้าใจว่าธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจทันสมัยที่เพิ่งเกิดมาใหม่ แต่แท้จริงเเล้ว ทั้งคู่ต่างเป็นเเบรนด์ที่คร่ำหวอดในวงการธุรกิจผ่านมาหลายยุคหลายสมัย จนเปลี่ยนผ่านมาอยู่ใน Gen ลูกหลาน แต่ชื่อเสียงแบรนด์ที่ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเพิ่งลุยตลาดมาไม่นานนั้น เป็นเพราะธุรกิจดังกล่าวปรับตัวตามกาลเวลาให้ตัวเองยังเท่าทันทุกยุคทุกสมัย

“เต่าบิน” อีกธุรกิจในเครือเดียวกันกับตู้เติมเงินบุญเติม พงษ์ชัย อมตานนท์ Gen 1 ผู้บุกเบิกธุรกิจตู้สาขาโทรศัพท์ เมื่อถึงยุคที่อินเทอร์เน็ตหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโตก็กระโดดทำตู้เติมเงินบุญเติม ที่โด่งดังมากในเวลานั้น เเละขณะนี้กำลังก้าวเข้าสู่ยุคของ Gen 2 ที่พร้อมต่อยอดไปในตลาดโลก

“MTS Gold” จากวันเเรกที่เป็นร้านทองตู้เเดงเล็ก ๆ ของอาม่า ต่อยอดสู่กลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก บริษัทค้าทองคำไทย ที่โดดเด่นด้านการลงทุนทองและตราสารอนุพันธ์ที่ทันสมัยและครบวงจรที่สุด ทำธุรกิจเกี่ยวกับทองคำแบบครบวงจร ทั้งธุรกรรมขายปลีก ธุรกรรมขายส่ง โรงงานผลิตทองคำ และโรงงานสกัดทองคำ รวมทั้งเป็นผู้นำเข้าส่งออกทองคำรายใหญ่ของประเทศ มียอดขายสูงสุดติดอันดับ Top 30 ของประเทศไทย และเป็นผู้ค้าทองคำรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 6 แห่ง

ปี 2550 บริษัทได้ก่อตั้งบริษัทในเครือที่เป็น Broker ซื้อขายสินค้าอนุพันธ์ Gold Futures ในตลาด TFEX โดยได้ก่อตั้งบริษัทใหม่ในนาม บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ ฟิวเจอร์ จำกัด เป็นโบรกเกอร์แห่งแรกที่ได้รับรางวัลแห่งความสำเร็จของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในด้านการให้บริการสินค้าอนุพันธ์ เเละเป็นโบรกเกอร์ทองรายแรกของไทยที่ได้รับสิทธิในการเป็นสมาชิกในตลาดอนุพันธ์ซื้อขายทองคำเซี่ยงไฮ้

Marketeer ชวนมาฟังสรุปเสวนาจากงาน “พลิกมุมคิด ธุรกิจต่าง Gen” จัดโดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กับเเนวคิดของนักธุรกิจคนรุ่นใหม่ ผู้สร้างเเบรนด์เต่าบิน “วทันยา อมตานนท์” เเละผู้สร้าง MTS Group แม่ทองสุก “ณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ” ที่มาเผยเคล็ดลับ กลยุทธ์ พร้อมเเลกเปลี่ยนมุมมองการบริหาร เเละ Business Networking วิธีรับมือกับผู้บริโภค ในวันที่อยู่ในตลาดไทยไม่พอ

ตัวเเทนจากเต่าบิน คุณตอง-วทันยา อมตานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด เล่าว่า จริง ๆ เต่าบินเกิดขึ้นมายังไม่นาน ราวสามปีก่อนช่วงสถานการณ์โควิด หลังเธอจบ ป. ตรี ที่ Imperial College คณะวิศวกรรมศาสตร์ และปริญญาโทด้านการจัดการที่ University College London (UCL) และประกอบอาชีพ UX Designer ที่ไมโครซอฟท์ ก่อนจะลาออกมาทำสตาร์ทอัป ที่ทำให้มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับลูกค้า เเละทำมาร์เก็ตติ้งและแบรนดิ้งด้วย ณ ตอนนั้น

“เราไม่เคยมีเเผนจะกลับมาช่วยงานที่บ้านเลย แต่ตอนช่วงโควิด เป็นเหตุการณ์บังคับ จึงกลับมาพักผ่อนเยี่ยมที่บ้าน เเล้วถูกเรียกไปช่วยดูงานเอกสารบ้างเพราะคนไม่พอ ตรวจเอกสาร ตรวจแผงวงจรตามแบบ qualified ช่วยงานที่บ้านเพิ่งจะครบสามปี แต่ในระยะเวลาเพียงเท่านี้ก็สามารถขยายธุรกิจตู้เต่าบินไปได้มากกว่า  6,000 ตู้”

การได้ออกไปลองทำงานที่ตนเองชอบ ก่อนมาทำธุรกิจที่บ้าน ดีอย่างไร

คุณตอง เต่าบิน:  เธอมองว่าโชคดีมากที่ได้ออกไปทำงานข้างนอก ก่อนกลับมาทำธุรกิจของตัวเอง  เพราะนอกจากความรู้ที่ได้รับ สิ่งสำคัญคือ ‘ความมั่นใจ’ เพราะพอกลับมาทำธุรกิจที่บ้าน ทำให้รู้ว่า ทำไมเด็กหลายคนที่มีธุรกิจครอบครัวรออยู่ ถึงไม่อยากกลับมาช่วย เพราะความรับผิดชอบที่เกินตัว การได้ตำแหน่งและอำนาจการบริหารมาโดยง่าย เเต่ประสบการณ์อาจจะยังไม่ถึง ไม่มีชั่วโมงบิน ส่งผลให้เกิดการกดดันตัวเองมาก

ซึ่งการที่ได้ลองทำงานกับบริษัทข้างนอก เหมือนได้ทำงานที่ตัวเองถนัดก่อน ช่วยให้สร้างความมั่นใจ มั่นใจว่าเธอทำอะไรได้ดี เเละยังทำให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อนเเละครอบครัว ถึงกลับมาเริ่มงานที่บ้าน ที่เธออาจจะยังไม่มีประสบการณ์เทียบเท่าคนอยู่มาก่อน  แต่อย่างน้อยเมื่อมีความมั่นใจ เป็นก้าวแรกในการเริ่มสตาร์ทที่ดีเเล้ว

ด้าน คุณกอล์ฟ- ณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ ประธานบริหารกลุ่มบริษัทในเครือ MTS Gold แม่ทองสุก เปิดเผยว่า ช่วยธุรกิจที่บ้านมา 15 ปีเเล้ว หลังเรียนจบด้านการเงินจากสหรัฐฯ ก็ถูกเรียกตัวกลับมาช่วยงานทันที ยังไม่ทันมีโอกาสได้ไปทำงานกับบริษัทอื่น ต้องมาลุยงานที่บ้านซึ่งขณะนั้นมีโปรเจกต์ตลาดหลักทรัพย์ ให้ตั้งโบรกเกอร์เพื่อที่จะเข้าไปซื้อขายในตลาด เเต่คนที่บ้านไม่มีใครจบการเงิน ตอนนั้นห้างทองเเม่ทองสุกยังมีจำนวนสาขาสองแห่ง

คุณกอล์ฟเเทนตนเองว่าเป็น gen 2.5 เพราะรุ่นของอาม่าไม่ได้ทำร้านทองมาตั้งเเต่เเรก เดิมเปิดเป็นร้านขายข้าวผัดทั่วไป พอเก็บเงินได้อาม่าจึงเช่าซื้อทอง เเล้วเปิดเป็นตู้ขายทองเล็ก ๆ ในร้านที่วงเวียนใหญ่  ซึ่งรุ่นคุณพ่อก็ไม่ได้มาเป็นคนขายทองเลยเช่นกัน เพราะคุณพ่อเป็นหมออายุรกรรม เปิดคลินิกของตัวเอง ก่อนมารับช่วงต่ออาม่า

โปรเจกต์ที่ทำสำเร็จ คือ รีแบรนด์เป็น MTS Gold เป็นโบรกเกอร์ซื้อขายในตลาด เป็น Pioneer ในการจัดตั้งบริษัทที่สิงคโปร์ ซึ่งได้ทั้งใบอนุญาตและไลเซนส์ ในตลาดสิงคโปร์ จีน และฮ่องกง และขยายการเติบโตต่อไปอีกด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งบิตคอยน์คริปโทจะใช้บล็อกเชนในการลิงก์เพื่อต่อการซื้อขายในตลาด จึงนำเทคโนโลยีนี้มาใช้กับทองคำ ให้คนสามารถออมทองผ่านระบบบล็อกเชน เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก กลายเป็นรายแรกของไทยในวงการทองคำ ที่ใช้ระบบบล็อกเชนเป็นหลังบ้าน

อะไรเป็นสิ่งตัดสินใจให้มาทำธุรกิจที่บ้าน

คุณกอล์ฟ MTS Gold:  เริ่มแบบเด็กจบใหม่ ไม่รู้อะไร พอไม่มีประสบการณ์ก็ลองผิดลองถูกมาเลย เเต่มีความโชคดีอย่างหนึ่งที่มีทางบ้านช่วยดู ช่วยสนับสนุนให้ลอง เหมือนให้มาเป็นคนเซตอัปธุรกิจที่บ้านเลย

เเม้วันแรกที่กลับมาบริษัทจะมีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว ถ้าเครื่องมีปัญหาต้องหอบเครื่องขึ้นซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไปซ่อมถึงพันธุ์ทิพย์ ตอนหลังก็เริ่มเรียนรู้ ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนเป็น Automation จากที่เมื่อก่อนจะใช้วิธีการจดด้วยลายมืออย่างเดียว ซึ่งในการเซตอัพทีมก็พยายามดึงทั้งคนเก่าคนใหม่ ไม่ให้ต้องมีใครต้องตกขบวน

“ในธุรกิจคนที่มาจาก Gen 2 อำนาจและการบริหารจัดการ จะได้รับมาจากครอบครัวหรือ Gen1 ที่เป็นผู้บุกเบิกมอบให้ได้  เเต่สิ่งที่ gen 2 มอบให้ gen ถัดมาไม่ได้  คือบารมี  เป็นสิ่งที่รุ่นหลังต้องสร้างด้วยตัวเอง  สำคัญคือต้อง lead by action ไม่มีใครจะมากุมอำนาจทั้งหมดได้ตั้งเเต่เริ่ม ค่อย ๆ สร้างความมั่นใจ พิสูจน์ให้คนรอบข้างเห็น”

คุณตอง เต่าบิน :  ไม่มีเเพลนว่าจะกลับมาเลย  เเต่เผอิญช่วงโควิดได้กลับมาพักผ่อนที่บ้าน  ซึ่งเป็นตอนที่บ้านกำลังมีแพลนอยากทำตู้ขายน้ำขายเครื่องดื่ม  ถึงในต่างประเทศก็มีตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอยู่ก่อนเเล้ว ในประเทศก็มีอยู่เเล้ว เเต่ความท้าทายที่ต้องทำให้ผู้บริโภคก้าวข้ามอคติที่มีต่อเวนดิ้งเเมชชีนว่า สินค้าที่ออกมาจากตู้ไม่อร่อย เธอจึงอยากแก้ painpoint ว่ามันสามารถทำให้อร่อยได้ ถ้ามีระบบที่คิดมาดี  เมื่อมั่นใจว่านี่เเหละความถนัดของตนเอง เธอจึงเข้ามาทำงานส่วนนี้ เเล้วลงมือลองทำทันที

ในฐานะคนมาใหม่ต้องซื้อใจผู้ใต้บังคับบัญชา

คุณกอล์ฟ MTS Gold :  หากคุณต้องเข้ามาโดยมีฐานะเป็นผู้สานต่อธุรกิจ ควรเริ่มต้นตั้งเเต่สิ่งเล็ก ๆ อย่างการสร้างความเชื่อใจให้เเก่คนรอบข้าง ทำงานให้เขาเห็น ทำให้พนักงานดูเป็นตัวอย่าง ค่อย ๆ ซื้อใจพนักงาน พอคนในองค์กรเชื่อใจ  ก็จะเกิดคำว่า ‘บารมี’ ตามมา  เขาไม่ได้เคารพเพราะเป็นลูกเจ้าของกิจการ เเต่เขาเคารพเพราะทำให้เห็นจนเขาเคารพ  มันอาจไม่ได้ง่าย เเต่ก็ไม่ได้ยาก และไม่มีสูตรสำเร็จในการสร้างความไว้ใจนี้  เเต่ละธุรกิจก็ต้องททำต่างกันออกไป สำคัญคือต้องใช้เวลาพิสูจน์

ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน.

“ตอนเเรกที่มาเริ่ม ขณะนั้นมีอายุ 25 ปี จำได้ว่าตอนไปพิชโปรเจกต์ที่ตลาดหลักทรัพย์  คนที่นั่นมองเราว่าร้านทองมาทำโบรกเกอร์จะทำเป็นได้อย่างไร มันห่างกันมาก เเต่เผอิญเป็นช่วงที่เราไฟแรง  เลยลองทำทุกอย่าง มองทุกความเป็นไปได้ เราต้องมีสิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าเราทำแล้วสำเร็จ  ซึ่งถ้าไม่สำเร็จ ก็อย่าเพิ่งถอดใจ เปิดใจเรียนรู้ความล้มเหลว หาข้อผิดพลาด แล้วก้าวต่อไปข้างหน้าต่อ การทำธุรกิจมีล้มลุกคลุกคลานบ้าง สำเร็จบ้าง เป็นเรื่องปกติ  เเต่เมื่อล้มต้องไม่โทษคนอื่น เรียนรู้ เเละมูฟออนให้ไว”

ทุกคนรู้ดีว่า ทำงานกับคนในครอบครัว ไม่ใช่เรื่องง่าย

คุณตอง เต่าบิน : สมัยก่อนจะมีตู้ที่นำเข้ามาชื่อ “เติมเต็ม”  ซึ่งก็เป็นชื่อที่ครอบครัวคิดว่าดีเเล้ว จะใช้ชื่อนี้  เราก็ต้องหาเหตุผลไปค้านว่าจะใช้ชื่อ “เต่าบิน”  เเละทดลองใช้ชื่อนี้ให้เห็นว่าชื่อนี้ไปได้ ขายได้ โชคดีที่บ้านเปิดรับความเห็น เลยได้ทดลอง

เพราะเรามองว่าชื่อเต่าบินมันหมายความได้หลายอย่าง ไปในเเง่ตลกขบขันก็ได้ พอเห็นปุ๊บ คนต้องเกิดความสงสัยใคร่รู้เเน่นอน ก็อยากจะเข้าดูมาลองตู้เต่าบิน ซึ่งผลก็ออกมาตามนั้น เป็นเหตุผลเลยว่าชื่อนี้มีส่วนในการขับเคลื่อนความสำเร็จของตู้ในช่วงแรก

พอเริ่มดึงคนเข้ามาได้  ขั้นต่อไปคือต้องทำให้ลูกค้าประหลาดใจกับกลไกตู้ รสชาติของสินค้า สรุปคือสิ่งที่จะดึงลูกค้าเข้ามาได้ก่อนคือภาพรวมภายนอกที่น่าสนใจ พอคนอยากรู้อยากเห็นก็อัดด้วยรสชาติที่เกินความคาดหมาย จากนั้นก็จะจับใจได้อยู่หมัด พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่ากลวิธีของเราเวิร์ก

คุณกอล์ฟ MTS Gold: ประสบเหตุการณ์คล้ายกัน คือ การคุยเรื่องเเบรนด์ เพราะชื่อเเม่ทองสุก เรามองว่าไม่ค่อยเวิร์กเท่าใดนัก ชื่อคล้ายร้านขายข้าวแกง พอจะโกอินเตอร์ มันไม่น่าเวิร์ก เลยตั้งใจรีเเบรนด์เป็น MTS ก็เกิดการถกเถียงภายในครอบครัวกันพักใหญ่ ก็ต้องหาเหตุผลมาค้านจนชนะ ซึ่งตอนเเรกโลโก้ก็ใช้ชื่อเเม่ทองสุกไว้ข้างบน MTS อยู่ข้างล่าง เเต่พอเริ่มติดตลาดก็เปลี่ยนเป็น MTS ข้างบน แม่ทองสุกอยู่ข้างล่าง

วันที่ทั้งสองก้าวเข้ามาในธุรกิจครอบครัว  เราเปลี่ยนหน้าตาองค์กรไปอย่างไรบ้าง

คุณตอง เต่าบิน: สิ่งแรกที่เปลี่ยน คือ เวลาเข้างาน เปลี่ยนจาก 08.30 -17.30 จาก 08.00-18.00 พยายาม Modernized ให้เป็นมาตรฐานของบริษัทใหญ่ ๆ  พยายามทำให้บริษัทคล่องตัว ทุกอย่างอยู่ภายใต้ระบบ

คุณกอล์ฟ MTS Gold:  สำหรับธุรกิจครอบครัว หนีไม่พ้นคือระบบไอที หลังบ้านถ้ายังเขียนกระดาษอยู่ต้องเปลี่ยน ยุคปีสองปีหลังโควิด เครื่องมือสมัยนี้มีให้เลือกมากมาย สะดวกต่อการใช้งานขึ้นมาก อีกทั้งความรู้มีอยู่ทั่วไป ผู้ประกอบธุรกิจสามารถศึกษาพัฒนางานได้จากเเค่ในอินเทอร์เน็ต ผิดกับสมัยก่อนที่ต้องทำทุกอย่างเอง เขียนแผนธุรกิจเองไม่ได้หลับได้นอน เเต่ทุกวันนี้ AI สามารถทำให้คุณได้ทุกอย่าง

“เริ่มเเรกตอนเข้ามาทำงาน ผมต้องพยายามเปลี่ยนระบบหลังบ้านให้เป็นระบบไอที ตอนนั้นยังไม่มีเรื่องคริปโท บล็อกเชนเลย เมื่อก่อนซื้อขายทองผ่านกระดาษ เรียกว่า ‘กระดาษทอง’  ผมก็ศึกษาดึงเอาบล็อกเชนมาทำในการซื้อขายออมทอง ใช้เป็นระบบดิจิทัลหมดเลย หลังบ้านใช้ระบบ  AI ตรวจสอบ ให้ลูกค้าสามารถซื้อทองออมได้ด้วยเงิน 150 บาท

ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมคิดถูก เพราะตอนขึ้นโปรเจกต์นี้คือช่วงก่อนโควิด เพราะตอนโควิดทุกประเทศล็อกดาวน์ เศรษฐกิจระส่ำ ราคาทองตก กลายเป็นโอกาสที่คนหันมาเริ่มออมทอง ซื้อขายผ่านระบบบล็อกเชน  พอบริษัทวางโครงสร้างระบบไว้ได้ดี เวลามีโอกาสเข้ามาเราก็สามารถคว้าไว้ได้ก่อนใครเพื่อน ซึ่งโปรเจกต์ต่อมาที่ MTS ได้ คือเป็นร้านทองเจ้าเเรกที่ได้ขายทองบนเเอปเป๋าตัง”

ยุคที่ลูกค้าไม่ใช่ Local เเต่เป็น Global

คุณตอง เต่าบิน: การทำธุรกิจไม่ควรอยู่เเค่ในประเทศเเล้ว ซึ่งเต่าบินก็ออกไปตลาดมาเลเซียเเละออสเตรเลียเรียบร้อยเเล้ว  ความสำเร็จในช่วงระยะเวลาที่ถือว่าค่อนข้างเร็ว กระจายไปได้หกพันตู้ทั่วประเทศ  โควิดเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ช่วยให้สำเร็จ เพราะคนเปิดใจในการทดสอบอะไรใหม่ ๆ การไปตั้งในโลเคชันที่เเปลกใหม่ ประกอบกับโซเชียลมีเดีย ทำให้เต่าบินประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

และสามารถกล่าวได้ว่า ตู้เต่าบินเป็น Vending machine ที่ทันสมัยที่สุดของโลก ด้วยซอฟต์เเวร์ ทั้ง Machine learning operation software ที่บริษัทพัฒนาขึ้นเอง ช่วยลดต้นทุนสินค้า สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มในราคาถูกลงได้

เเต่ก็ต้องยอมรับว่าธุรกิจเช่นนี้ เกิดการลอกเลียนเเบบได้เสมอ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำ คือ พัฒนาระบบให้ใหม่อยู่เสมอ ไม่ให้ใครตามทัน  เราต้องอยู่ข้างหน้าเสมอ

คุณกอล์ฟ MTS Gold: ทุกวันนี้ธุรกิจจะอยู่แค่ในไทยไม่พอ ทุก ๆ ธุรกิจผ่านการดิสรัปต์มามากเเล้ว ถ้าถามว่า 20-30 ปีต่อจากนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร ผมมีเวิร์ดเดียวเลยคือ ต้อง ‘โกอินเตอร์’

ธุรกิจสมัยใหม่ไม่ใช่เเค่ขายในประเทศ เเต่ต้องขายทั่วโลกให้ได้ เพราะลูกค้า คือ โกลบอล ไม่ใช่ โลคอล เพราะถ้าคุณขายให้คนเเค่ 70 ล้านคน ถึงจุดหนึ่งจะอิ่มตัว หากอยากเติบโตไปได้อีกไกล ต้องโกอินเตอร์เท่านั้น  ด้วยระบบอินเทอร์เน็ต ระบบขนส่งที่พัฒนาไปไกลเเล้ว  จึงจะไม่ใช่เเค่ไทยเเข่งกับไทย เเต่เป็นไทยเเข่งกับทั่วโลก

ผู้ประกอบการต้องหมั่นเติมความรู้ใหม่ให้ตนเองอยู่เสมอ ปรับตัวให้ทัน อาจจะไม่ใช่โกลบอลไปเลย อาจเป็นในอาเซียน เเต่คุณต้องโกอินเตอร์  ตลาดข้างนอกมีโอกาสรออยู่มากมาย ซึ่งก็เป็นโอกาสอันดีในการรวมหัวคิดของ Gen1 เเละ Gen2 เข้าด้วยกัน เพราะ Gen ใหม่เก่งภาษา เเต่ Gen เเรกเจนจัดในตลาด

MTS ขณะนี้มีฐานลูกค้าโตขึ้นเกือบเท่าตัว อยู่ที่ราว 500,000 Users จากร้านทองเล็ก ๆ ตู้เเดง มาทำโบรกเกอร์ ไปเซตอัปบริษัทที่สิงคโปร์ เเละมาทำบล็อกเชน ทั้งหมดเกิดขึ้นได้เพราะครอบครัวเปิดใจรับฟัง เเละยอมมอบโอกาสให้รุ่นหลังได้โชว์ Performance

ณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ กล่าวในตอนท้ายของงานว่า

“ธุรกิจครอบครัว เหนือสิ่งอื่นใดคือต้องคอยรับฟังความคิดของเเต่ละ Gen จากวันนั้น ถึงวันนี้ พูดตามตรงผมก็ไม่ได้สำเร็จไปหมดทุกอย่าง โปรเจกต์ที่ล้มเหลวก็มีมาก ปัญหาก็เยอะไม่ต่างกัน เเต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจครอบครัว คือ สุดท้ายต้องผ่านอุปสรรคไปด้วยกัน” ♦



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online