ฟิกเกอร์ของเล่นที่ปกติจะจำกัดอยู่เเค่สำหรับเด็ก แต่ดูจะเป็นข้อยกเว้นกับหุ่นหมีสีขาวธรรมดาที่มีโลโก้ติดอยู่ และเป็นที่รู้กันดีว่าของเล่นชนิดนี้ ซื้อขายกันในราคาหลายแสนดอลลาร์
แน่นอนว่า ด้วยราคาระดับนี้เกินจะเป็นเพียงของเล่นเด็กเเล้ว เเต่เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มหาศาลในกลุ่มสตรีทแวร์ เเละพลิกโฉมอุตสาหกรรมของเล่นไปอย่างสิ้นเชิง
Bearbrick มาจากคอลเลกชันของเล่นสะสม ที่ออกแบบและผลิตโดยบริษัท MediCom Toy ของญี่ปุ่น บริษัทผู้ผลิตฟิกเกอร์รุ่นลิมิเต็ดและผลิตภัณฑ์ลิขสิทธิ์อีกมากมาย
เรื่องราวเบื้องหลังของสะสมราคาล้านบาท มีที่มาอย่างไร
ย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้นของ Bearbrick เป็นที่น่าแปลกใจว่าของสะสมราคาเเพงนี้ เริ่มต้นขึ้นมาช่วงยุค 2000
จากชายที่ชื่อ “ทัตสึฮิโกะ อาคาชิ” ที่เป็นพนักงานออฟฟิศในบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ เขามีชีวิตเเสนธรรมดาไม่ต่างจากมนุษย์เงินเดือนคนอื่น จนกระทั่งวันที่ไปเดินเล่นย่านชอปปิ้งยอดนิยมของโตเกียว ชิบูย่า บังเอิญพบกับ ZAAP! ร้านค้าที่ขายของเล่นอเมริกัน และได้ไอเดียธุรกิจ ไปเปิดร้านขายของเล่นของตัวเอง เเละในตอนเเรกต้องเปิดร้านร่วมกับร้านทงคัตสึมาก่อน นั่นคือจุดเริ่มต้นของ Medicom Toy Corporation
หนึ่งในผลงานแรกสุดของ Medicom Toy คือหุ่นที่ดัดแปลงมาจาก Kubrick ซึ่งเป็นหุ่นรูปร่างคล้ายเลโก้ที่ตั้งชื่อตามผู้สร้างภาพยนตร์ชื่อดัง Stanley Kubrick
ความโดดเด่นของ Kubrick ก็ไปเข้าตาผู้จัดงาน บริษัทจึงได้รับมอบหมายให้สร้างของขวัญแจกสำหรับการประชุม World Character Convention ที่กรุงโตเกียวในปี 2001 อาคาชิจึงดัดแปลง Kubrick ด้วยการถอดส่วนหัวมนุษย์ออก เเล้วแทนที่ด้วยหัวของหมี แบร์บริคจึงถือกำเนิดขึ้น ณ เวลานั้น
ตอนนั้นในระดับสากล Kubrick มีชื่อเสียงในระดับโลก เเต่แบร์บริคจะมุ่งเน้นที่ตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก และวางตำแหน่งตัวเองเป็นจุดบรรจบของศิลปะสมัยใหม่ แฟชั่น และวัฒนธรรม
กลยุทธ์การตลาดที่ทำให้ Bearbrick ขายราคาเเพงเพียงใดก็มีคนรอซื้อ
กลยุทธ์การทำการตลาดด้วย limited edition (สินค้ารุ่นพิเศษที่มีจำนวนจำกัด) คือ Key success หลัก ๆ ในการประสบความสำเร็จของเเบรนด์ การออกสินค้าพิเศษเฉพาะตัวและตัวเลขรุ่นลิมิเต็ด ความหายาก ช่วยสร้างสีสันและความแตกต่างให้กับสินค้า ช่วยหลีกเลี่ยงการแข่งขันโดยตรงกับแบรนด์ใหญ่ ๆ ในฐานะที่เป็นเเบรนด์เกิดทีหลัง
มีซีรีส์ลับที่หายากมาก โดยเฉพาะรุ่นที่ไม่ได้มีไว้สำหรับจำหน่ายแต่เพื่อส่งเสริมการขายนั้นหายากยิ่งกว่า กลายเป็นถ้วยรางวัลที่หลายคนปรารถนา แต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถครอบครองได้
แบร์บริคได้รับการออกแบบอย่างมีเอกลักษณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ หลุดออกจากกรอบเดิมของ Medicom Toy กลายเป็นตัวละครที่หายากมากขึ้น กลายเป็นงานศิลปะที่ไร้ขอบเขต
ออกจำหน่ายเพียงปีละสองครั้งในจำนวนจำกัด และจำหน่ายในรูปแบบ “กล่องสุ่ม” ทำให้โมเดลที่หายากที่สุด หายากขึ้นไปอีก จึงทำให้เกิดการขายต่อเพื่อเก็งกำไรเมื่อสุ่มได้รุ่นตัวทอป มูลค่าการขายจึงจะอัปขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะชุด KAWS Bearbricks ที่หายากเป็นพิเศษ
ราคาขายต่อส่วนใหญ่จะสูงกว่าราคาเดิมเฉลี่ย 7% – 1,800%
ขนาดของแบร์บริคที่คนนิยม
แบร์บริคจะเปิดตัวนับเป็น SERIES และ TYPES ปัจจุบันคือ SERIES 45 แต่ละชุดจะออกในช่วงฤดูร้อนหรือฤดูหนาว บางครั้งออกแบบเชื่อมโยงกับฤดูกาล เทศกาล เพื่อรำลึกถึงธีมหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ แต่จะไม่ค่อยมีการออกจำหน่ายซ้ำ
ขนาดแบ่งออกเป็น
- 50%, 35 มม. – สินค้ามักออกเป็นพวงกุญแจ
- 70%, 50 มม. – เปิดตัวครั้งแรกในปี 2006
- 100%, 70 มม. – รูปแบบคลาสสิกและธรรมดาที่สุด
- 200%, 145 มม. – รูปแบบที่ค่อนข้างใหม่กว่า และวางจำหน่ายในซีรีส์ “Chogokin” เท่านั้น ทั้งหมดนี้สร้างจากโลหะหล่อและมีน้ำหนักถึง 400 กรัม
- 400%, 280 มม. – รูปแบบที่พบบ่อยเป็นอันดับสอง มักเป็นรุ่นลิมิเต็ด นักสะสมส่วนใหญ่ซื้อแบร์บริคในรูปแบบนี้
- 1,000%, 700 มม. – เป็นขนาดแบร์บริครุ่นปกติที่ใหญ่ที่สุด มักเป็นของหายาก โดยปกติจะสงวนไว้สำหรับสะสม นักสะสมส่วนใหญ่จะชอบสะสมขนาด 400% และ 1,000% มากที่สุด
ภายในซีรีส์ standard จะมีธีมที่แตกต่างกัน ทั้งซีรีส์และ THEME แต่ละชุดมีระดับความหายากเป็นของตัวเอง ในกล่องสุ่มแต่ละกล่องจะระบุถึงความหายากของธีม สำหรับธีมที่พบบ่อยที่สุดมีดังต่อไปนี้
- Jellybean — รูปทรงสีทึบที่สร้างจากพลาสติกโปร่งแสง
- Pattern — รูปร่างที่อวดโฉมลวดลาย
- ธง — รูปเคารพธงชาติ
- สยองขวัญ — ตัวเลขที่สร้างขึ้นให้มีลักษณะคล้ายกับตัวละครหรือธีมในแนวสยองขวัญ
- เอสเอฟ (นิยายวิทยาศาสตร์) — บุคคลที่มีธีมจากนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งโดยปกติจะเป็นภาพยนตร์
- น่ารัก — รูปร่างที่มีลักษณะน่ารัก
- สัตว์ — รูปร่างสัตว์
- ฮีโร่ — ธีมใหม่ซึ่งเปิดตัวในซีรีส์ 21 ฮีโร่จากการ์ตูนดีซี
บริษัทได้ผลิตรุ่นพิเศษสำหรับเทศกาลต่าง ๆ เช่น ฮาโลวีน คริสต์มาส และตัวการ์ตูน เช่น Winnie the Pooh, Avengers และ Star Wars
แบร์บริคเหมือนของเล่นที่ปล่อยพื้นที่ว่างให้วาดอะไรลงไปก็ได้ เหมือนวิดีโอเกมที่สามารถแต่งตัวตัวละครที่ชื่นชอบในแบบที่คุณต้องการได้
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Bearbrick ได้คอลแล็บส์กับศิลปิน นักออกแบบ และแบรนด์แฟชั่นระดับไฮเอนด์ เช่น Chanel, BAPE, Hermès, Nike, Comme Des Garçons, Bape, CLOT, Levis, Stüssy และ Supreme รวมถึงศิลปินชื่อดังอย่าง KAWS, Andy Warhol, Hiroshi Fujiwara และ Takashi Murakami
นอกจากนั้น ยังก้าวเข้าสู่อาณาจักรภาพยนตร์ ดนตรี และโทรทัศน์ ด้วยการร่วมงานกับตัวละครจากแฟรนไชส์อย่าง Star Wars, Marvel, Disney, One Piece, Evangelion และ Naruto ช่วยขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ ทำให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในกระแสได้ตลอด
ซึ่งหลังจากช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับแบร์บริคแล้ว ศิลปินหลายคนก็แยกไปทำฟิกเกอร์ของตัวเอง เช่น Kaws, Hebru Brantley, Takashi Murikami และ Futura
ตัวอย่างรุ่นที่นับว่ามีราคาสูง
Yue Minjun ‘Qiu Tu’ Bearbrick 1,000% เปิดตัวในปี 2008 ปัจจุบันเป็น Bearbrick ที่แพงที่สุดที่เคยขายได้ตอนที่ประมูลในราคาเกือบ 200,000 ดอลลาร์ (ราว 7 ล้านบาท) ซึ่งทำให้เป็นแบร์บริคที่แพงที่สุดเท่าที่เคยขายมา
Hajime Sorayama x Daniel Arsham 1,000% แบร์บริค เปิดตัวปี 2019 สนนราคา 14,999 ดอลลาร์ ธีมเพื่อรำลึกถึงการเปิดแกลเลอรี NAZUKA 2G ในโตเกียว
Bearbrick Baby Space 1,000% เปิดตัวปี 2019 ราคาราว 15,985 ดอลลาร์
BAPE x ชุด Bearbrick 1,000% ปี 2018 ราคา 20,799 ดอลลาร์
เสื้อฮู้ดทำจากผ้าทหารวินเทจของ Readymade ปัจจุบันราคาลอยตัวอยู่ที่ประมาณ 25,000 ดอลลาร์
Coco Chanel แบร์บริค 1,000% เปิดตัวปี 2006 ราคา 30,000 ดอลลาร์ เป็นราคาในการประมูลปี 2019 ผลิตขึ้นเพียง 1,000 ชิ้นเท่านั้น ส่วนใหญ่จัดแสดงในร้านบูติกของ Chanel มีไม่มากที่เคยปรากฏตัวในตลาด
ตลาดของสะสมทั่วโลกประจำปีคาดว่าจะสูงถึง 522 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2028 ซึ่งมองในส่วนตลาด Bearbrick เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ บางคราวราคาที่ขายกันอยู่ในปีหนึ่ง 3,000–5,000 ดอลลาร์อาจกระโดดขึ้นไป 16,000 ดอลลาร์ภายในปีเดียว
นอกจากนั้น แบร์บริคยังมีตารางเดินสายเวิลด์ทัวร์ประจำปี เพื่อจัดแสดง Bearbricks ที่ได้รับการคัดสรร รวมรุ่นที่หายาก รวมถึงจัดแสดงเป็นงานในแกลเลอรีแสดงนิทรรศการเป็นครั้งคราว เพื่อนำเสนอมุมมองเชิงศิลปะที่อยู่เบื้องหลัง เปิดโอกาสให้นักสะสมได้ซื้อชิ้นงานหายากจากงาน
อ้างอิง: stockX, Amuse, realassets, HypeArt, chanel, CHRISTIES, lifestyleasia, 2bArtGalery, sotheby’s, highsnobiety, OWITY, GQ, Sugoimart, Hypebeast
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ