เวลาเราเข้าเซเว่นฯ หามะขามกินแก้ง่วง แบรนด์มะขามที่เราเห็นจนชินตา และซื้อเป็นประจำ คงหนีไม่พ้น 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ จี๊ดจ๊าด, สารัช และบ้านมะขาม

 

และมะขามทั้ง 3 แบรนด์นี้แม้มีจุดกำเนิดที่ต่างกัน แต่มีรายได้มากกว่า 100 ล้านบาทด้วยกันทั้งสิ้น

สารัช ถือเป็นแบรนด์มะขามที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดใน 3 แบรนด์นี้ มีต้นกำเนิดจากจินดา – สุภาลักษณ์ กมลธรไท ข้าราชการครูในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่เพชรบูรณ์เมืองแห่งมะขาม ที่ริเริ่มแปรรูปมะขามฝักออกมาจำหน่ายเพิ่มรายได้จากการสอนตั้งแต่ปี 2517 เริ่มทำแบรนด์ในชื่อแม่สนม ซึ่งเป็นชื่อของคุณแม่สุภาลักษณ์ กมลธรไท และประสบความสำเร็จจนทั้งคู่ลาออกจากราชการครูมาทำธุรกิจมะขามเป็นหลัก

ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นมะขามสารัช ในปี 2525 หลังจากทั้งคู่มีลูกชายที่ชื่อสารัช

ปัจจุบัน สารัช กมลธรไท เป็นผู้รับช่วงต่อทำธุรกิจหลัก พร้อมสินค้าแปรรูปอื่นๆ ที่นอกเหนือจากมะขาม เช่นมะยม มะม่วง สับปะรด ภายใต้แบรนด์สารัช และน้ำพริกมะขามแบรนด์ย่าหมู

โดยมีมะขามจี๊ดจ๊าด มะขามรสเปรี้ยวคลุกรสชาติต่างๆ เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา  มะขามสารัช มีผลประกอบการมากกว่า 100 ล้านเกือบทุกปี ยกเว้นปี 2564 ที่มีรายได้ลดลงเหลือเพียง 86.08 ล้านบาท

 

ปี 2561 รายได้รวม 163.19 ล้านบาท กำไร 1.19 ล้านบาท

ปี 2562 รายได้รวม 160.90 ล้านบาท กำไร 2.27 ล้านบาท

ปี 2563 รายได้รวม 101.75 ล้านบาท กำไร 1.55 ล้านบาท

ปี 2564 รายได้รวม 86.08 ล้านบาท กำไร 1.04 ล้านบาท

ปี 2565 รายได้รวม 101.37 ล้านบาท กำไร 1.39 ล้านบาท

 

แบรนด์ที่มีอายุรองลงมาได้แก่ บ้านมะขาม แบรนด์ที่ถือกำเนิดมาจากวิกฤติต้มยำกุ้ง และหลักเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9

อดีตก่อนที่จะเกิดแบรนด์บ้านมะขามนิวัฒน์ โฆวงศ์ประเสริฐ ผู้ก่อตั้ง เป็นสถาปนิกรับตกแต่งภายใน ที่ประสบกับวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 จนไม่สามารถดำเนินธุรกิจตกแต่งภายในต่อไปได้

ในช่วงเวลานั้นเขาได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มาใช้ในการตั้งต้นธุรกิจใหม่ ด้วยการมองหาสิ่งใกล้ตัว นั่นก็คือมะขามหวาน ซึ่งเป็นผลผลิตขื้นชื่อของจังหวัดเพชรบูรณ์บ้านเกิดรัชนีผู้เป็นภรรยา มาแปรรูปเป็นมะขามคลุกเสวยซึ่งเป็นมะขามคลุกแกะเม็ดและนำไปอบค้าส่งให้กับแหล่งชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพ

ก่อนที่จะตั้งชื่อแบรนด์ตัวเองว่าบ้านมะขาม ทำตลาดในช่วงต่อมา

ในปัจจุบันนอกเหนือจากนิวัฒน์-รัชนี ผู้ก่อตั้งบ้านมะขามแล้ว ยังมีลูกของพวกเขามาช่วยกิจการ พร้อมกับต่อยอดไปยังสินค้าและแบรนด์ใหม่ๆ

เช่นกล้วยกรอบแก้วไส้มาขาม เผือกกรอบไส้มะขาม รวมถึงแบรนด์ Love Fram เลมอนอบแห้ง มะม่วงอบแห้งปรุงรสต่างๆ ที่แพ็คเกจสีสันสดใสสะดุดตา และแบรนด์บ๊วยแผ่น Patto

และมีมะขามอบแห้ง,มะขามสี่รส เป็นสินค้าขายดี

 

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้ของบ้านมะขามในนามบริษัท สวนผึ้งหวาน จำกัด มีผลประกอบการดังนี้

ปี 2561 รายได้รวม 197.78 ล้านบาท กำไร 3.58 ล้านบาท

ปี 2562 รายได้รวม 197.84 ล้านบาท กำไร 2.76 ล้านบาท

ปี 2563 รายได้รวม190.77 ล้านบาท กำไร 0.81 ล้านบาท

ปี 2564 รายได้รวม 215.43 ล้านบาท กำไร 0.72 ล้านบาท

ปี 2565 รายได้รวม 274.55 ล้านบาท กำไร 2.28 ล้านบาท

 

สุดท้ายแบรนด์มะขามจี๊ดจ๊าด แบรนด์ที่มีต้นกำเนิดจากความชอบในมะขามของภูวเดช เลาหะมณฑลกุล ผู้ก่อตั้ง

ก่อนเริ่มต้นธุรกิจภูวเดชมองว่าการกินมะขามฝักระหว่างขับรสเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ไม่สามารถทานได้ และมะขามคลุกที่มีจำหน่ายไม่แน่ใจถึงความสะอาด

จากความคิดเหล่านี้พี่เขยของ ภูวเดช จึงได้ลองทำมะขามกวนเคี้ยวหนึบออกมาให้ทานเล่นๆ และปรากฏว่ารสชาติถูกปากจนพัฒนารูปแบบให้สวยงามออกมาจำหน่ายในชื่อจี๊ดจ๊าดในปี 2547 ที่มีชื่อแบรนด์มาจากลูกสาวคนเล็กของภูวเดช ที่ชื่อ “จี๊ด” และเติมคำว่าจ๊าดเข้าไปเพื่อสื่อถึงความเปรี้ยวๆ หวานๆ ในการทาน

พร้อมกับดีไซน์โลโก้แบรนด์ เป็นรูปวาดหนูจี๊ดชู 2 นิ้วสร้างสัญลักษณ์การตลาดให้กับตัวเอง

ปัจจุบันจี๊ดจ๊าดเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เจน2 มาร่วมบริหาร ที่มาพร้อมกับการพัฒนาไปยังสินค้าใหม่ๆ และสามารถสร้างรายได้ย้อนหลังดังนี้

ปี 2561 รายได้รวม 107.81 ล้านบาท กำไร 0.01 ล้านบาท

ปี 2562 รายได้รวม 120.97 ล้านบาท กำไร 0.87 ล้านบาท

ปี 2563 รายได้รวม 88.62 ล้านบาท กำไร 0.01 ล้านบาท

ปี 2564 รายได้รวม 81.15 ล้านบาท กำไร 4.33 ล้านบาท

ปี 2565 รายได้รวม 118.97 ล้านบาท กำไร 0.91 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ดีธุรกิจมะขามแปรรูป แม้จะเป็นธุรกิจที่มีราคาขายต่อหน่วยไม่สูงมากนัก สามารถเข้าถึงทุกคนที่ต้องการทานได้ แต่ก็มีรายได้ที่มากกว่า 100 ล้านบาทเลยทีเดียว



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online