สำนึกใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันเพื่อรักษาโลกให้ยังดีอยู่ได้ต่อไปนาน หรืออย่างน้อยก็ไม่แย่ลงไปกว่านี้  ส่งผลต่อเนื่องมากมาย ตั้งแต่การออกนโยบาย “สีเขียว” ของรัฐบาลประเทศต่างๆ หน่วยงานระดับทวีป หรือองค์กรระหว่างประเทศ  

ไปจนถึงในภาคธุรกิจที่มีการหาทางลดขยะให้ได้มากสุด ดังที่เห็นได้จากแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนซึ่งใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) และการลดปริมาณขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste)

เทรนด์ดังกล่าวทำให้ข่าวสหภาพยุโรป (EU) ออกกฎบังคับค่ายเทคผลิต Smartphone ที่ใช้ได้เฉพาะหัวชาร์จแบบ USB-C ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะจะช่วยลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในยุโรปได้มหาศาล แต่ก็ทำให้ Apple ได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ

กฎดังกล่าวทำให้ iPhone ต้องเปลี่ยนจากหัวชาร์จแบบ USB-C ตามคู่แข่ง โดยเฉพาะ Samsung นำมาสู่ความเสียหายทางธุรกิจ เพราะใช้หัวชาร์จแบบ Lightning มาเกิน 10 ปี

Apple เปิดตัว iPhone รุ่นแรก หรือ iPhone1 ในปี 2007 แม้ถือเป็นนวัตกรรมด้านสื่อสาร สร้างตลาด Smartphone ขึ้นมา และปลุกให้บริษัทกลับมารุ่งอีกครั้ง แต่ iPhone1 ก็ยังใช้หัวชาร์จแบบ 30 เข็มซึ่งใหญ่มาก เสียหายง่ายและกลายเป็นปัญหา

ปี 2012 Apple ก็แก้ปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จ ด้วยการคิดค้น Lightning หัวชาร์จแบบแบนและเล็กกว่าแบบ 30 เข็ม เป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันด้วยลักษณะที่แบนและสองด้านเหมือนกัน จึงทำให้เสียบชาร์จได้ง่ายและเร็วขึ้น

Apple เริ่มใช้หัวชาร์จแบบ Lightning กับ iPhone 5 ทว่าในตลาด Smartphone ก็ไม่ได้มีแต่ iPhone โดยปี 2014 Smartphone ที่ใช้หัวชาร์จแบบ USB-C ออกสู่ตลาด ซึ่งแบรนด์ใหญ่ที่ใช้คือ Samsung นอกจากนี้ ยังมีหัวชาร์จแบบ Micro B อีกด้วย

หลังจากนั้นตลาด Smartphone โตขึ้นอย่างมาก แต่ก็เกิดปัญหาตามมาคือ ค่าย Smartphone ใช้หัวชาร์จกันมากถึง 3 แบบ โดยถ้าเกิดลืมหรือหายขึ้นมาก็ต้องซื้อใหม่ ประกอบกับทั้ง 3 แบบก็ใช้แทนกันไม่ได้

ปัญหานี้ค่อย ๆ สะสมพอกพูนจนกลายเป็นสาเหตุหลักของขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งยิ่งเพิ่มมากไปอีกเพราะค่าย Smartphone ก็ยังคงผลักดันรุ่นใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด

ปี 2019 EU ประเมินว่า สายชาร์จ Smartphone ทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในยุโรปมีมากถึง 51,000 ตันต่อปี และถ้าลดขยะสายชาร์จ Smartphone ได้ ชาวยุโรปทั้งทวีปจะประหยัดเงินได้รวมกันถึง 249 ล้านดอลลาร์ (ราว 9,300 ล้านบาท) ต่อปี   

ในปีเดียวกัน EU ยังสำรวจสัดส่วนหัวชาร์จที่ชาวยุโรปใช้กัน ปรากฏว่า USB-C มากสุดที่ 44% ตามด้วย Micro-B ที่ 38% ส่วน Lightning ของ Apple และ Gadget ตระกูล i มาเป็นที่ 3 ด้วยสัดส่วนเพียง 18% เท่านั้น

ปี 2020 EU ก็เริ่มผลักดันกฎหมายให้ค่าย Smartphone ผลิตแต่ Smartphone ใช้หัวชาร์จแบบ USB-C เท่านั้นอย่างจริงจัง

ข่าวดังกล่าวถูกจับตามองนับจากนั้น เพราะเป็นการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมาก อาจเป็นต้นแบบให้รัฐบาลอื่นดำเนินรอยตาม และบีบให้ Apple ต้องหันไปใช้หัวชาร์จแบบเดียวกับคู่แข่ง

ปี 2022 รัฐสภา EU ลงมติด้วยเสียงส่วนมากแบบทิ้งห่าง ให้นับจากปี 2024 เป็นต้นไป ค่าย Smartphone ทุกค่ายที่ทำตลาดในยุโรป ต้องใช้หัวชาร์จแบบ USB-C เท่านั้น

ด้าน Apple แม้วิจารณ์ว่า กฎนี้เป็นการจำกัดการพัฒนานวัตกรรม แต่ก็ทำได้แค่นั้น และต้องปฏิบัติตามเพื่อรักษาตลาดยุโรปเอาไว้

กฎดังกล่าวทำให้ส่งผลโดยตรงต่อ iPhone15 ที่จะวางตลาดทั่วโลกปีหน้ารวมถึงในยุโรปต้องใช้หัวชาร์จแบบ USB-C และยังทำให้ iPhone รุ่นหลังจากนี้ต้องใช้หัวชาร์จแบบเดียวกันไปด้วย และ Apple รวมไปถึงค่ายเทคอื่น ๆ ที่ Apple อนุญาต เลิกผลิตและจำหน่ายสายชาร์จ Lightning

ในส่วนของ Apple เองยังส่งผลให้ไม่สามารถทำเงินจากสายชาร์จ Lightning ได้อีกต่อไป และต้องสั่งเปลี่ยนสายการผลิตช่องเสียบชาร์จอุปกรณ์ทั้งหมด ท่ามกลางข่าวร้ายมากมาย ไล่ตั้งแต่ยอดขายไตรมาสล่าสุด (ไตรมาส 2/2023) น้อยกว่าที่คาดไว้

ต่อด้วยมูลค่าหุ้นวูบหายไปอย่างมาก หลังรัฐบาลจีนสั่งห้ามใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึง iPhone ด้วยในอาคารรัฐบาล ที่คงจะทำให้ยอดขายในจีน ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ของ iPhone จากนี้ลดลงไปพอสมควร

มาตรการดังกล่าวของรัฐบาลจีนยังอาจทำให้เกิดสงครามการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่ง Apple ที่เป็นแบรนด์ดังก็คงต้องกระทบไปด้วย   

นี่ถือเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ในภาพรวม เพราะแผนย้ายฐานผลิตจากจีนไปยังอินเดียและเวียดนาม Apple ต้องใช้เวลาอีกหลายปี

และวิกฤตเศรษฐกิจโลกตอนนี้คงส่งผลให้ผู้บริโภคคิดอย่างรอบคอบกว่าเดิมว่าจะซื้อ Smartphone เครื่องใหม่ ราคาแพง จนโอกาสที่ iPhone ของ Apple รุ่นใหม่ ๆ จะขายได้ลดลงไปอีก/cnn, theguardain, wikipedia, bbc, theverge



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online