หลังจากโลกของเราได้เผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 หลายธุรกิจก็ได้เริ่มปิดตัวลง อย่าง Dean & Deluca (ดีน แอนด์ เดลูก้า) ร้านขายอาหารและของชำจากนิวยอร์กที่ยื่นขอล้มละลาย เพราะมีหนี้สินสูงถึงเกือบ 500 ล้านดอลลาร์ แต่มีมูลค่าสินทรัพย์เพียง 50 ล้านดอลลาร์ เป็นการปิดตำนานร้านอาหารและของชำระดับหรูที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1977
หรือ Vanilla Café (วานิลลา คาเฟ่) ร้านอาหารและเบเกอรี่ชื่อดังในเครือเอสแอนด์พี (S & P) ที่เปิดบริการมายาวนานถึง 16 ปีก็ประกาศปิดตัวลงเช่นกัน เนื่องจากผลประกอบการที่ไม่สู้ดีและผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อร้านอาหารโดยตรง
นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารแฟรนไชส์ในไทยที่ต่างก็ปิดกิจการกลับสู่อเมริกา อย่าง Carl’s Jr. (คาร์ลซ จูเนียร์) ที่ได้ประกาศยุติการดำเนินธุรกิจในไทยตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคม 2022 เนื่องจาก CKE Restaurants Holdings (ซีเคอี เรสโตรองต์ โฮลดิ้งส์) บริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ Carl’s Jr. บังคับให้ใช้วัตถุดิบจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
ส่งผลให้ Carl’s Jr. แบกรับต้นทุนไม่ไหวและขาดทุนอย่างต่อเนื่อง อย่างในปี 2018 Carl’s Jr. มีรายได้รวม 53 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 40 ล้านบาท ในปี 2019 รายได้รวม 57 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 46 ล้านบาท และในปี 2020 รายได้รวม 39 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 43 ล้านบาท
แต่ในทางกลับกัน CKE Restaurants Holdings เจ้าของแฟรนไชส์ร้านอาหารจากสหรัฐอเมริกา Carl’s Jr. และ Hardee’s (ฮาร์ดี) มีสาขาที่บริหารเองและขายสิทธิ์แฟรนไชส์กว่า 3,800 แห่งในสหรัฐอเมริกา และอีก 43 ประเทศทั่วโลก
อย่างในปี 2019 Carl’s Jr. สร้างยอดขายในสหรัฐอเมริกาได้มากถึง 1,423 ดอลลาร์ และในปี 2023 แฟรนไชส์ของ Carl’s Jr. สร้างรายได้โดยเฉลี่ยประมาณ 1.4 ล้านดอลลาร์
มารู้จักกับ Carl’s Jr. หนึ่งในแบรนด์ดังของสหรัฐอเมริกากันดีกว่า
ตั้งแต่ Carl’s Jr. ก่อตั้งขึ้นในปี 1941 Carl’s Jr. ก็ได้กลายเป็นร้านโปรดของผู้คนชาวตะวันตกมาเป็นเวลากว่า 80 ปี ด้วยรสชาติเบอร์เกอร์ย่างถ่านที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้ Carl’s Jr. เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จนในปัจจุบัน Carl’s Jr. มีสาขามากกว่า 1,000 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา และเปิดให้บริการใน 28 ประเทศทั่วโลก
รวมไปถึงในปี 2016 Carl’s Jr. ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 54 ในรายการ Top Franchise 500 ซึ่งจัดอันดับจากความแข็งแกร่งทางการเงิน ความมั่นคง และอัตราการเติบโตโดยรวมสำหรับแฟรนไชส์ 500 อันดับแรกในทุกสาขาทั่วสหรัฐอเมริกา
Carl’s Jr. ก่อตั้งโดย Carl Karcher (คาร์ล คาร์เชอร์) และ Margaret (มาร์กาเร็ต) สองสามีภรรยาผู้ประกอบอาชีพคนขับรถบรรทุกที่ได้ทุ่มเงินทั้งหมดของพวกเขาเริ่มต้นกิจการ โดยเริ่มจากการซื้อรถเข็นฮอตดอกมาขายตรงหัวมุมเมืองฟลอเรนซ์ในลอสแองเจลิส
ฮอตดอกของพวกเขาได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนภายในไม่กี่ปี พวกเขาก็กลายเป็นเจ้าของแผงขายฮอตดอก 4 แห่งในลอสแองเจลิส หลังจากนั้นในปี 1945 ครอบครัว Karcher ได้ย้ายบ้านไปยังเมืองอนาไฮม์ รัฐแคลิฟอร์เนีย และเปิดธุรกิจ Carl’s Drive-In Barbecue ร้านอาหารบริการเต็มรูปแบบแห่งแรก
ในตอนแรกร้านอาหารของพวกเขาได้เน้นขายฮอตดอกเหมือนดังเดิม ก่อนที่จะเพิ่มแฮมเบอร์เกอร์ในเมนูเป็นครั้งแรกในปี 1946 หลังจากนั้นเป็นต้นมา เบอร์เกอร์ของ Carl’s Drive-In Barbecue ก็ได้รับความนิยมและเสียงตอบรับในเชิงบวก ในทุก ๆ วันจะมีผู้คนจำนวนมากแวะมาซื้อเบอร์เกอร์จากร้านของพวกเขาไม่ขาดสาย
เมื่อกำไรเติบโต ครอบครัว Karcher จึงได้ตัดสินใจเปิดร้านแห่งที่สอง Carl’s Jr. ในปี 1956 ซึ่งการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะการขยายสาขาในครั้งนี้ทำให้ร้านอาหาร Carl’s มีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับความนิยมมากกว่าเดิม ส่งผลให้ในช่วงทศวรรษ 1960 พวกเขาสามารถเปิดร้านอาหาร 24 แห่งในแคลิฟอร์เนียใต้ และก่อตั้งบริษัทในปี 1966 ในชื่อ Carl Karcher Enterprises, Inc. ในการเติบโตครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกที่แบรนด์ Carl’s Jr ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่
นอกจากนี้ ภายในปี 1975 Carl’s Jr. สามารถขยายสาขาได้มากกว่า 100 แห่งในแคลิฟอร์เนียใต้ ในปีต่อมา Carl’s Jr. ก็ได้กลายเป็นเครือร้านอาหาร QSR แห่งแรกที่ให้บริการสลัดบาร์ในสาขาทั้ง 200 แห่ง และภายในสิ้นทศวรรษ ยอดขายของ Carl’s Jr. ก็เติบโตทะลุ 100 ล้านดอลลาร์ได้สำเร็จ
ยิ่งไปกว่านั้น Carl’s Jr. ยังได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์ผู้นำนวัตกรรมต่าง ๆ อีกด้วย อย่างในปี 1977 Carl’s Jr. ได้ติดตั้งสลัดบาร์แบบเสิร์ฟเองในร้านแคลิฟอร์เนียทั้ง 200 แห่ง ซึ่งเป็นเครือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดแห่งแรกที่ทำเช่นนี้ นอกจากนี้ Carl’s Jr. ยังเป็นแบรนด์ระดับประเทศแบรนด์แรกที่ขายเบอร์เกอร์ไก่งวงในปี 2011 อีกด้วย
เส้นทางการเติบโตของ Carl’s Jr.
ในปี 1981 บริษัท Carl Karcher Enterprises มีร้านอาหารทั้งหมด 300 แห่งและกลายเป็นบริษัทมหาชน หลังจากนั้น 3 ปีต่อมา Carl’s Jr. ก็ได้ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์เป็นครั้งแรก
ในช่วงเวลานั้นเอง Carl’s Jr. ก็ได้เพิ่มเมนูใหม่อย่าง Western Bacon Cheeseburger หนึ่งในเมนูยอดนิยมของแบรนด์ที่ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีนับตั้งแต่เปิดตัว ทำให้ยอดขายของ Carl’s Jr. ทะลุ 480 ล้านดอลลาร์ในปีที่เปิดตัว
เส้นทางของ Carl’s Jr. ดูเติบโตเป็นไปด้วยดี Carl’s Jr. ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มจำนวนพนักงานเป็นสองเท่าในเวลาเพียงสามปี และภายในสิ้นทศวรรษก็มีร้านอาหาร 534 แห่ง ทว่าในปี 1988 ครอบครัว Karcher ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวหาว่าใช้ข้อมูลภายในเพื่อจัดการกับสต๊อกต่าง ๆ ส่งผลให้พวกเขาต้องจ่ายค่าปรับมากกว่าครึ่งล้านดอลลาร์
หลายปีต่อมา ในช่วงทศวรรษ 1990 ครอบครัว Karcher และคณะกรรมการบริหารก็เริ่มปะทะกันในเรื่องการตลาดและการดำเนินธุรกิจ รวมถึงความพยายามของเครือบริษัทในการสร้างแบรนด์คู่กับเครือต่าง ๆ เมื่อความเห็นไม่ลงรอยครอบครัว Karcher จึงถูกถอดออกจากตำแหน่งประธานบริษัท โดยคณะกรรมการบริหารเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1993
และหลังจากนั้นคณะกรรมการได้ใช้แนวทางใหม่โดยการนำเมนูที่ไม่ได้รับความนิยมออก ลดราคา และนำเสนอแคมเปญการตลาดใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้า เรียกได้ว่า Carl’s Jr. สามารถดำเนินกิจการต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี และประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน และในปัจจุบัน Carl’s Jr. เป็นเครือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ดำเนินงานภายใต้ CKE Restaurant Holdings, Inc.
Carl’s Jr. และ Hardee’s เหมือนกันหรือแตกต่าง? ทำไมทั้งสองแบรนด์ถึงคล้ายคลึงกัน
หลาย ๆ คนอาจสังเกตเห็นว่าป้ายโลโก้ของ Carl’s Jr. และ Hardee’s รวมไปถึงเมนูต่าง ๆ ของทั้งสองแบรนด์ก็ดูเหมือนกันทุกประการ ทำให้หลายคนสงสัยว่าทำไมทั้งสองแบรนด์ถึงเหมือนกันขนาดนี้ เป็นแบรนด์เดียวกัน หรือเป็นแบรนด์คู่แข่งกันแน่
ที่จริงแล้วทั้ง Carl’s Jr. และ Hardee’s เป็นแบรนด์ร้านอาหารที่อยู่ภายใต้บริษัทเดียวกัน แต่มีประวัติที่แตกต่างกัน เพราะหนึ่งในนั้นเริ่มต้นในโลกตะวันตกและอีกแห่งหนึ่งอยู่ทางตะวันออก
อย่างที่เป็นที่รู้กันว่า Carl’s Jr. เริ่มต้นจากรถเข็นฮอตดอกในลอสแองเจลิสในปี 1941 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Carl’s Jr. ก็ได้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว และหลังจาก Don Karcher ผู้ก่อตั้งเสียชีวิตในปี 1992 ผู้บริหารชุดใหม่นำโดย CEO William P. Folley II และ Tom Thompson ซึ่งเป็นประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการก็ขึ้นมาบริหารดูแลแบรนด์แทน
ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ Carl Karcher Enterprises กลายเป็นบริษัทในเครือของ CKE Restaurants Holdings, Inc. นั่นเอง และในปี 1997 Hardees’s ซึ่งเป็นเครือร้านอาหารที่มีสาขา 2,500 แห่งในภูมิภาคมิดเวสต์ใต้และชายฝั่งตะวันออกก็ได้ถูกซื้อกิจการโดย CKE Restaurants เช่นเดียวกัน ทำให้ Carl’s Jr. และ Hardee’s เป็นแบรนด์พี่แบรนด์น้องตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทั้งสองแบรนด์จะมีเมนูและแคมเปญต่าง ๆ ที่คล้ายกันนั่นเอง
ที่มา:
https://www.carlsjr.com/about-us
https://en.wikipedia.org/wiki/Carl%27s_Jr.
https://www.mashed.com/494407/the-untold-truth-of-carls-jr/
https://www.mashed.com/919290/the-humble-origin-of-carls-jr/
https://www.thrillist.com/eat/nation/hardees-and-carls-jr-difference
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ