Perfectionist traps ใช้ชีวิตอย่างไรให้พอดี ไม่ติดกับดัก เป๊ะเวอร์เกินเบอร์จนสู่ขิต

ความสบายใจและอยู่ได้แบบไม่ต้องกังวลอะไรเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ต้องการ แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นเรื่องยาก เพราะจะมีเรื่องมากมายเข้ามาให้ต้องเครียด

ทั้งจากปัจจัยภายนอก อันได้แก่ หน้าที่การงาน สภาพเศรษฐกิจ และปัญหาในครอบครัว

ส่วนปัจจัยภายใน ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากความคิดของตัวเราเอง เช่น กลัวความล้มเหลว กลัวความผิดพลาด รวมไปถึงยึดติดความสมบูรณ์แบบมากเกินไป แบบเดียวกับการติดกับดัก

การยึดติดความสมบูรณ์แบบมากเกินไป (Perfectionist traps) ส่งผลมากมายต่อทั้งการดำเนินชีวิตและหน้าที่การงาน โดยในระดับปัจจุบันจะทำให้เกิดภาวะเครียดสะสมจนที่สุดกลายเป็นคนหมดไฟ ไม่ว่าเริ่มต้นทำอะไร

หรือถ้าเริ่มต้นทำอะไรแล้วกลับใช้เวลาทำงานนานกว่าคนทั่วไป เพราะมัวแต่อยากให้งานออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

อาการเป๊ะเวอร์เกินไปส่งผลเสียต่อส่วนรวมด้วย โดยถ้ามีคนเป๊ะเวอร์เกินเบอร์ไปอยู่ในกลุ่มหรือบริษัท งานมักเสร็จช้าหรือแทบจะชนเส้นตาย

ส่วนถ้าบริษัทไหนมีหัวหน้าหรือเจ้าของเป็นคนลักษณะนี้ ลูกน้องและพนักงานต้องทำใจเลยว่า ต้องแก้งานกันไม่จบไม่สิ้น และหลายครั้งหลายหนพนักงานก็คงบ่นกันอยู่ในใจว่า “สิ้นเปลืองพลังงานชะมัด!” และ “เผาเวลาไปโดยใช่เหตุ!”

แล้วเราจะรู้อย่างไรว่าตัวเอง เพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้า เป็น คนเป๊ะเวอร์เกินเบอร์ จนฉุดให้คนรอบตัวและงานต้องสู่ขิตไปด้วย โดยคนประเภทนี้มีลักษณะร่วมกันอยู่ 7 ข้อคือ ตั้งมาตรฐานไว้สูงเกินไป มองโลกแง่ร้าย เจ้าระเบียบ คิดเล็กคิดน้อย

ย้ำคิดย้ำทำ รับไม่ได้ถ้าถูกวิจารณ์ และไม่ยืดหยุ่นเรื่องเวลา แต่ไม่ต้องเครียดเกินไป เพราะ Marketeer มีทางออกจาก Perfectionist traps

 

ทำจากเล็กไปใหญ่

ทุกงานต้องเริ่มจากก้าวแรก โดยก้าวแรกควรประเดิมด้วยอะไรที่เล็ก ๆ และไม่ยากเกินไป จากนั้นจึงค่อย ๆ ทยอยเพิ่มความยากและขนาดของงานไปเรื่อย ๆ

นอกจากนี้ ทั้งทีมงานก็ควรกำหนดมาตรฐานกลางร่วมกันที่ทุกคนรับได้เอาไว้ เพื่อให้เข้าใจตรงกัน และจะได้ไม่ต้องมาปวดหัวกับปัญหาแบบคนนั้นจะเอาอย่าง คนนี้จะเอาอีกอย่าง  

 

เปิดใจให้กว้าง

การวิจารณ์ตัวเองไม่ได้แย่ไปเสียทั้งหมด หากทำแต่พอดี และไม่มากเกินไปจนมองโลกในแง่ร้ายถึงขนาดที่ว่า ผิดแค่อย่างเดียวงานจะล่ม หรือแก้เรื่องนี้ไม่ได้โลกจะแตก

ดังนั้น ทางแก้ของการมองโลกในแง่ร้าย คือ การหันมามองโลกในแง่ดี หรือเปิดใจให้กว้าง เช่น ถ้าทีมงานคนหนึ่งถอนตัวไปให้มองว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เราสามัคคี เค้นศักยภาพของทุกคนได้มากขึ้น และลดเวลาการถกเถียงลงไป

การเปิดใจให้กว้างและมองโลกในแง่ดียังช่วยลดความเครียดสะสม ไม่มองคนอื่นเป็นศัตรูและเริ่มต้นใหม่ได้เร็วอีกด้วย

 

คิดใหม่ว่าอะไรที่สำคัญ

การจ้องจะให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบไปหมด ไม่ตกไม่หล่นจากที่วางไว้เลยนั้นเป็นต้นเหตุประการหนึ่งของภาวะหมดไฟ เพราะคุณต้องเหนื่อยไม่รู้จักจบสิ้นกับการต้องตามแก้เรื่องที่ไม่ได้ดั่งใจ

ทางแก้จุดนี้คือตั้งเป้าหมายใหญ่ ๆ เอาไว้ และเน้นเฉพาะที่สำคัญ โดยเมื่อเสร็จแล้วก็ต้องวางมือ ถ้าทำได้ตามนี้ ไม่ใช่แค่จะเหนื่อยน้อยลง แต่เวลาพักกับเวลาส่วนตัวก็จะมีมากขึ้น จนที่สุดสุขภาพจิตก็จะดีขึ้น  

 

ใจดีกับตัวเองบ้าง

เพราะในโลกการทำงานมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย และทุกคนต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ ถ้าทำดีก็ต้องชม และทำผิดก็ต้องว่ากล่าวตักเตือน แต่ถ้าคนที่ทำผิดเป็นPerfectionistขึ้นมาคนคนนั้นจะโทษตัวเองมากกว่าปกติ

Perfectionistยึดติดกับความบูรณ์แบบ ดังนั้น ถ้าตัวเองเป็นต้นเหตุของความผิดพลาดหรือทำพลาดอะไรแม้เพียงเล็กน้อย พวกเขาจะโทษตัวเองหนักกว่าคนทั่วไป

ผลเสียอย่างแย่ที่สุดอาจถึงท้อหนักขั้นไม่กล้าลงมือทำอะไร เพราะกลัวทำผิดอีกนั่นเอง โดยทางแก้ปัญหานี้ คือ การผ่อนคลาย ปล่อยวาง และหันมาใจดีหรือให้อภัยตัวเอง

จำไว้ การจมอยู่กับความผิดหวังบ่อย ๆ มีแต่จะบั่นทอนจิตและทำลายกำลังใจ ดังนั้น ถ้าพลาดก็บอกตัวเองว่าไม่เป็นไร พักตั้งหลักแล้วเริ่มต้นใหม่ หรือลุกขึ้นเดินหน้าต่ออีกครั้ง   

 

วางแผนสำรองไว้ และให้ความพลาดพลั้งเป็นบทเรียน

ในเมื่อยึดติดความสมบูรณ์แบบPerfectionistจึงยึดติดกับรายละเอียดมากกว่าคนปกติ และเมื่อผิดจึงช้ำมากกว่า เรื่องนี้มีทางออกอยู่ นั่นคือ การวางแผนสำรองไว้ และให้ความพลาดพลั้งเป็นบทเรียน

การทำแบบนี้จะช่วยให้แก้ไขปัญหาได้ในเวลารวดเร็ว และมองเห็นประโยชน์ของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ้าง ไม่ใช่อคติว่าแย่ไปทั้งหมด พร้อมใช้เป็นต้นแบบการแก้ไขถ้าผิดขึ้นอีกด้วย

 

เย็นให้เป็น

ทางออกหรือทางเลี่ยงข้อสุดท้ายจาก Perfectionist traps คือ การเย็นให้เป็น เพราะPerfectionistมักแทบจะเริ่มต้นใหม่ทันที เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด จนอาจทำผิดซ้ำอีก

และเมื่อทำงานเสร็จแล้วก็ลุยเดินหน้าต่อเลย เพื่อหวังจะเก็บเกี่ยวความสำเร็จใหม่ ๆ

การพักตั้งหลักหลังทำผิดจะเปิดโอกาสให้ได้มองเห็นความผิดพลาดได้ชัดขึ้น ส่วนการพักหายใจหลังทำงานเสร็จ นอกจากเป็นการชาร์จแบตฯ หรือเต็มน้ำมันให้ตัวเองแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เราได้ชื่นชมความสำเร็จ หรือรู้จังหวะการทำงาน ตรงไหนเร่งได้ หรือพอพักได้บ้างนั่นเอง/psychologytoday

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online