ดรีมเวิลด์ ทำไมธุรกิจสวนสนุกนี้จึงเกิดจาก แดนเนรมิต (ประวัติ)

ใกล้ถึงวันเด็กเข้ามาทุกที และสวนสนุกเป็นหนึ่งในสถานที่ที่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ที่มีความเป็นเด็กในหัวใจชื่นชอบ

 

ในสวนสนุกประเทศไทย ดรีมเวิลด์ เป็นอีกหนึ่งสวนสนุกที่เชื่อว่าใครหลายคนเคยมีประสบการณ์สนุกร่วมกันมาก่อน

ในฐานะสวนสนุกที่อยู่กับเรามายาวนานถึง 31 ปี

ต้นกำเนิดของดรีมเวิลด์มาจากครอบครัว กิติพราภรณ์ เข้าซื้อที่ดิน 160 ไร่ ที่ กม. 7 รังสิตนครนายก (คลอง 3) จังหวัดปทุมธานี เพื่อเข้ามาสานต่อธุรกิจสวนสนุกแดนเนรมิต เยื้อง ๆ เซ็นทรัลลาดพร้าวที่ทำอยู่ในเวลานั้น

สวนสนุกแดนเนรมิตถือเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจสวนสนุกของไมตรี กิติพราภรณ์ ผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจโรงภาพยนตร์ เช่น พาราเมาท์-ฮอลลีวู้ด-โคลีเซียม ที่มีชื่อเสียงในเวลานั้น

แดนเนรมิตถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ไมตรีเดินทางพบเห็นกิจการสวนสนุกในญี่ปุ่น และทราบถึงความสำเร็จของสวนสนุกในสหรัฐอเมริกา ที่สามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาลจากนักท่องเที่ยวทุกมุมโลก

ไมตรีจึงเช่าพื้นที่ 33 ไร่ ระยะเวลา 25 ปี จากตระกูลเสรีเริงฤทธิ์ เปิดสวนสนุกแดนเนรมิต ในปี 2519 ช่วงเวลาที่สวนสนุกในประเทศไทยมีเพียงแฮปปี้แลนด์ ย่านบางกะปิ สวนสนุกกลางแจ้งแห่งแรกในไทยเปิดให้บริการ

และทำตลาดผ่านเครื่องเล่นแปลกใหม่ มีแลนด์มาร์กเป็นปราสาทเจ้าหญิงนิทราที่สร้างการจดจำ พร้อมกับกิจกรรมการตลาดแคมเปญโปรโมชั่นต่าง ๆ ต่อเนื่อง เช่น สมาชิกรายปี เข้าเล่นฟรี พร้อมส่วนลด 50% สำหรับผู้ติดตาม

วันเด็กคิดค่าบัตรผ่านประตูเพียง 1 บาท เป็นต้น

และความสำเร็จของแดนเนรมิต ลาดพร้าว ได้ขยายสาขาไปในเมืองที่ MBK หรือมาบุญครองในอดีต ก่อนรีแบรนด์ และปิดตัวสาขานี้ลงเพราะเกิดเหตุไฟไหม้

ช่วงเวลาที่ผ่านมาของแดนเนรมิตถือเป็นสวนสนุกที่สร้างความทรงจำให้กับเด็ก วัยรุ่น และครอบครัวในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

และแล้วความทรงจำก็มีวันจากลา เมื่อแดนเนรมิตใกล้หมดสัญญาเช่าจากเจ้าของที่ และไมตรีเลือกที่จะเปิดสวนสนุกแห่งใหม่ที่ชื่อดรีมเวิลด์แทนที่เก่า

ดรีมเวิลด์เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2536 ในช่วงแรกดรีมเวิลด์ให้บริการควบคู่ไปกับแดนเนรมิตที่ยังไม่หมดสัญญาเช่าที่

และด้วยความไกลของสถานที่ที่เดินทางลำบาก ประกอบกับกลุ่มลูกค้ายังมีแดนเนรมิตเป็นทางเลือกของความสนุก ในช่วงแรกของดรีมเวิลด์จึงประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี

ก่อนที่จะกลับมามีรายได้จากกลยุทธ์การตลาดดึงดูดลูกค้าชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น การนำเมืองหิมะแห่งแรกในไทยมาเป็นจุดขาย และเครื่องเล่นใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับการเดินทางที่สะดวกขึ้นจากการขยายตัวของเมือง

ก่อนที่ ดรีมเวิลด์ จะต้องปิดและเปิดตัวชั่วคราวตั้งแต่ปี 2563 จากมาตรการป้องกันโควิด-19 ของภาครัฐ ดรีมเวิลด์เคยมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเฉลี่ยปีละ 2 ล้านคน

จนปลายปี 2564 ดรีมเวิลด์กลับมาเปิดอย่างเป็นทางการได้อีกครั้งเพื่อเดินหน้าธุรกิจต่อไป

ปัจจุบันดรีมเวิลด์เป็นธุรกิจที่จดทะเบียนผ่านบริษัท อะมิวส์เม้นท์ ครีเอชั่น จำกัด

อะมิวส์เม้นท์ ครีเอชั่น มีรายได้ย้อนหลังรายงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

2561 รายได้รวม 372.02 ล้านบาท กำไร 1.84 ล้านบาท

2562 รายได้รวม 463.85 ล้านบาท กำไร 61.47 ล้านบาท

2563 รายได้รวม 165.48 ล้านบาท ขาดทุน 77.20 ล้านบาท           

2564 รายได้รวม 102.25 ล้านบาท ขาดทุน 39.09 ล้านบาท

2565 รายได้รวม 348.05 ล้านบาท กำไร 56.28 ล้านบาท

และบริหารโดย พัณณิน กิติพราภรณ์ เจ้าของและกรรมการผู้จัดการสวนสนุกดรีมเวิลด์ ลูกสาวของไมตรี ที่ต้องอดทนและฝ่าฟันพาธุรกิจสวนสนุกให้เดินหน้าต่อไปบนพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความสนุกอื่น ๆ เป็นทางเลือกมากมาย

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online