เรารู้จัก เพลง ต้องตา จิตดี ในฐานะนักร้องนำวง Plastic Plastic ที่เพิ่งจะมามีโอกาสได้พูดคุยกันจากการเป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนปริญญาโท

และบทสนทนาของเรากับเพลงระหว่างที่แอบอาจารย์คุยตอนสอน ก็นำพาให้เรารู้จักอีกอาชีพหนึ่งของเพลงที่ไม่ได้เป็นแค่นักร้องนำ แต่ยังรวมถึงการเป็น ‘นักร้องไกด์’ ซึ่งถืออาชีพที่น่าสนใจสำหรับคนที่ไม่ได้คลุกคลีอยู่ในวงการดนตรีอย่างเรา

สุดท้ายความน่าสนใจนี้ ก็พัฒนาจากการพูดคุยทั่วไปจนกลายมาเป็นบทสัมภาษณ์

และทำให้เราได้รู้ว่ากว่าเพลงประกอบโฆษณาเพลงนึงจะสามารถ Launch ออกมาสู่สื่อต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคอย่างเราฟังบ้าง-ไม่ฟังบ้างได้ ล้วนแต่ต้องผ่าน ‘ความตั้งใจ’ ของคนเบื้องหลังหลายขั้นตอนมากเลยทีเดียว

ทำไมต้องมีคนร้องไกด์ ร้องเลยไม่ได้หรอ?

เพลงเริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่า นักร้องที่มาร้องไกด์ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อยู่ในวงการมาก่อนหน้า โปรดิวเซอร์จะดึงคนที่ตัวเองรู้จักมาช่วยร้องให้ ด้วยเหตุผลของความง่ายและรู้เอกลักษณ์ของคน ๆ นั้นอยู่แล้วว่ามีเนื้อเสียงเป็นยังไง

ส่วนคำถามที่ว่านักร้องไกด์มีความสำคัญยังไง ในเมื่อสุดท้ายแล้วโปรดิวเซอร์ก็ต้องมาบรีฟนักร้องที่จริงทีหลังอยู่ดี แบบนี้แล้วให้คนที่จะลงเสียงจริงมาร้องไปเลยจะไม่ง่ายกว่าหรอ?

เพลงยกตัวอย่างการร้องไกด์ให้กับงานโฆษณา มาพูดให้เราเห็นภาพมากขึ้น แล้วอธิบายต่อไปว่า

“ความสำคัญหลัก ๆ ของการร้องไกด์ คือการทำให้ลูกค้าได้เห็นภาพว่าเพลงประกอบโฆษณาที่ออกมามันจะมี Mood & Tone เป็นยังไง แล้วการร้องไกด์ก็ยังแบ่งออกเป็นอีก 2 แบบนะ คือร้องไกด์ที่อาจจะได้ลงเสียงในงานจริง ๆ เลย กับแบบที่สองคือการร้องไกด์ที่เรารู้ว่ายังไงก็ไม่ได้ลงเสียงในงานจริง ๆ แน่ ๆ

แบบแรกคือเมื่อได้โจทย์มาโปรดิวเซอร์ก็จะเรียกนักร้องไกด์ไปแคสงานประมาณ 3 คน แล้วส่งต่อให้เอเยนซี่ จากนั้นเอเยนซี่ก็จะส่งให้ลูกค้าไปเลือกอีกต่อนึงว่าชอบเสียงใครมากที่สุด แล้วคนนั้นก็จะได้ร้องจริง

ส่วนแบบที่สองคือการร้องไกด์ที่รู้ว่ายังไงก็ไม่ได้ลงเสียงจริงแแน่ ๆ แต่จะเอาไปให้นักร้องระดับแมสที่มีคนรู้จักเยอะ ๆ มาร้องต่อ เพราะเป็นสิ่งที่ลูกค้ากำหนดไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าอยากจะได้ใครมาร้อง”

(ผลงานการร้องไกด์ของเพลง ที่สุดท้ายได้ร้องลงเสียงจริง)

การร้องไกด์ คือต้องทิ้งความเป็นตัวเองทุกอย่าง แล้วทำตาม Brief ที่ได้รับมา

หากเคยฟังเพลงของ Plastic Plastic จะรู้ดีว่านี่คือผลลัพธ์ทางความคิดที่เพลงใส่ความเป็นตัวเองลงไปแบบเต็มที่

แต่พอมาเป็นงานร้องไกด์เพลงกลับต้องทิ้งความเป็นตัวเองไปทุกอย่างแล้วทำตาม Brief ให้ได้มากที่สุด

“บางทีการไม่ได้เป็นตัวเองมันก็สนุกดีนะ เหมือนได้ท้าทายความสามารถตัวเองไปเรื่อย ๆ มีอยู่งานนึงที่ต้องไปร้องเพลงฝรั่งเศส แต่เราพูดฝรั่งเศสไม่ได้เลย คิดไว้แล้วว่ายังไงก็คงไม่ได้งานนี้แน่ ๆ แต่ก็ลองไปดู แล้วสุดท้ายก็ได้งานนี้มา

พูดไม่ได้แล้วแบบนี้ร้องได้ไงล่ะ? ตอนนั้นเขาให้คนที่เป็นลูกครึ่งฝรั่งเศสมาร้องให้เราฟังก่อนทีนึง ว่าสำเนียงมันต้องเป็นยังไง ออกเสียงแบบไหน แล้วเราค่อยเอาเสียงของเราไปลงเสียงจริง

อย่างมีอีกงานที่ต้องร้องเพลงญี่ปุ่น แม้จะพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ แต่ก็ยังโชคดีว่าที่ผ่านมาเคยฟังเพลงญี่ปุ่นมาบ้าง ก็เลยผ่านพ้นไปด้วยดี”

 

 

(วินาทีที่ 8.26 คือเสียงร้องของเพลงในภาษาฝรั่งเศส)

ยิ่งร้องให้คนจำเสียงไม่ได้เท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสได้งานมากเท่านั้น

การมีเอกลักษณ์ในเสียงตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่เพลงกลับบอกว่าคนที่จะได้งานร้องไกด์เยอะ ๆ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนที่ ‘ร้องแล้วไม่มีใครจำได้ว่าเจ้าของเสียงเป็นใคร’ ซึ่งนั่นก็หมายถึงการร้องได้หลากหลายแนว รับงานได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเสียงเด็ก เสียงผู้ใหญ่ หรือเสียงแบบทรงพลังก็ตาม

ส่วนสำหรับตัวเพลงเอง มักจะถนัดแนวเสียงใส ๆ และนั่นก็ทำให้งานที่ได้รับมักจะเป็นในแนวนั้นซะส่วนใหญ่ด้วย

การแข่งขันในวงการร้องไกด์ มันเหมือนการ Casting งานของดาราไหม

เมื่อเราลองเปรียบเทียบแล้วถามเพลงว่า การเข้าไปแคสงานร้องไกด์แต่ละที มันมีการแข่งขันกันเพื่อที่จะได้งานนั้น ๆ มาเหมือนกับการแคสดาราไหม ?

สิ่งที่เพลงตอบเรากลับมาก็คือ “สำหรับคนอื่นเราไม่รู้ว่าเขาคิดว่านั่นคือการแข่งขันไหม แต่สำหรับเรา เวลาร้องไกด์เราไม่ได้แคร์คนอื่นมากไปกว่า Brief ที่ได้รับมาจากลูกค้า

คิดว่ามันอยู่ที่ความเหมาะสมของแต่ละคนมากกว่า ว่าจะเหมาะกับงานนั้นไหม และด้วยความที่เนื้อเสียงของแต่ละคนมันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ก็เลยไม่รู้ว่าจะแข่งกันยังไงด้วยแหละมั้ง”

นักร้องไกด์ทุกคนจะมี Rate Card เป็นของตัวเอง

เป็นปกติที่ลูกค้าจะต้องถามเรทราคาก่อนจะเรียกมาร้อง ว่านักร้องคนนั้นคิดราคาเท่าไหร่ และสำหรับตัวเพลงเองก็มี Rate Cardเป็นของตัวเองอยู่เหมือนกัน

โดยเพลง ‘ใช้ราคาตลาดเป็นตัวกำหนด’ ว่านักร้องไกด์ส่วนใหญ่คิดกันเท่าไหร่ แล้วนำเกณฑ์นั้นมาปรับให้เป็นราคาของตัวเอง

ซึ่งจะใช้หน่วยวัดของ ‘ความยาวในการร้อง’ เช่นร้องครึ่งนาทีก็จะอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาท แต่ถ้าเป็นนักร้องระดับ Mass ที่มีคนรู้จักก็จะมีราคาแพงกว่านั้นเป็นหลายเท่าตัว

แต่ถึงอย่างนั้นหากนักร้องไกด์คนไหนเข้ามาแคสงานแล้วไม่ได้ร้องจริง ก็จะมีค่าเสียเวลาเพิ่มให้ด้วย, ในทางเดียวกันหากนักร้องคนไหนได้ร้องไกด์ ก็จะได้ทั้งค่าเสียเวลาที่มาแคสและค่าที่มาลงเสียงจริงเป็นสองต่อ

เพลงโฆษณาความยาวไม่กี่นาที แต่ใช้เงินทีเกือบแสนบาท

เพลงประกอบโฆษณาที่เราฟังกันสั้น ๆ ไม่กี่นาที แต่เชื่อไหมว่าต้นทุนในการทำแต่ละครั้งนั้นมีราคาแพงถึงเกือบแสนบาท เพราะมันไม่ใช่แค่ค่านักร้องไกด์ แต่ยังรวมไปถึงค่านักร้องที่ลงเสียงจริง ค่าโปรดิวเซอร์ที่ต้องใช้ทั้งต้นทุนทางความคิดสร้างสรรค์รวมไปถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการทำเพลงที่เครื่องนึงก็มีราคาหลายหมื่นบาท

ยิ่งถ้าหากเพลงประกอบโฆษณานั้น ๆ ถูกนำไปปล่อยในสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ ก็จะมีค่า Process ต่าง ๆ ที่แพงกว่าสื่อออนไลน์

และแม้จะต้องเสียเงินและเวลาจำนวนมากในการทำ แต่ถึงอย่างนั้นการแต่งเพลงขึ้นมาใหม่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายกว่าที่ถูกกว่าการซื้อเพลงที่มีลิขสิทธิ์อยู่แล้วมาใช้ในงานโฆษณาอยู่ดี

ถ้าจะให้ Wrap-Up ในบทสัมภาษณ์ให้เข้าใจง่าย ๆ สรุปแล้วการร้องไกด์ก็คือการร้อง ‘เพื่อเป็นแนวทาง’ ก่อนที่จะลงเสียงจริงเพื่อให้เห็นภาพว่างานที่ออกมามันจะเป็นยังไง

และตัวนักร้องไกด์เองก็มีสิทธิที่จะได้ลงเสียงจริงในงานนั้น ๆ เมื่อลูกค้าชอบ Mood & Tone ที่ออกมา เว้นแต่ในกรณีที่ว่าตัวลูกค้าวางนักร้องหลักไว้แล้วว่าอยากให้เป็นใคร

นอกจากนั้นแล้วการร้องไกด์ก็ไม่ได้มีแค่กับในงานโฆษณา เพราะกับงานเพลงทั่วไปก็มีการร้องไกด์ด้วยเหมือนกัน

และสุดท้ายแม้อาชีพ ‘นักร้องไกด์’ จะถือเป็นอาชีพเล็ก ๆ ของคนเบื้องหลัง ที่แทบจะไม่มีใครรู้เลยว่าเจ้าของเสียงร้องในงานนั้นเป็นใคร

แต่นี่ถือเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญ ที่ทำให้ภาพรวมของเพลงประกอบโฆษณาหรือที่ในภาษาทางการตลาดเรียกว่า ‘Music Marketing’ ออกมาสมบูรณ์แบบ

และนั่นก็อาจจะนำไปสู่การจดจำแบรนด์ของผู้บริโภคในที่สุด

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online