ถึงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มนต์กาลเวลาจะยังไม่เสื่อมคลาย และส่งผลให้ ตลาดนาฬิกา เติบโตอยู่บ้าง แต่ก็เพียงเล็กน้อย 1-2% เท่านั้น

ทว่าปี 2018 กลับถูกประเมินว่าจะกลับมาเติบโตถึง 5% ซึ่งถือเป็นการเติบโตมากที่สุดในรอบ 3 ปีเลยทีเดียว

เหตุผลที่ทำให้เวลากลับมาหมุนเร็วขึ้น

ชนิสา แก้วเรือน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานกิจกรรมการตลาด และธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ จักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล Chief Business Officer–Specialty Business บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด บอกเหตุผลที่ทำให้เวลาของตลาดนาฬิกากลับมาหมุนเร็วขึ้นว่า

ปีนี้เป็นปีแรกที่ตลาดฟื้นตัวอย่างชัดเจน ที่ผ่านมาในช่วง 2-3 ปีที่แล้วอาจจะยังมีปัญหาบ้างในภาพรวมของเศรษฐกิจ หากปีนี้โดยรวมไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

อีกทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคยังดีอยู่ โดยเฉพาะสินค้าลักชัวรี่ ซึ่งผลสำรวจของงานวิจัยต่างๆ พบว่าสินค้าลักชัวรี่ในปัจจุบันที่คนไทยนิยมซื้อสูงสุดคือนาฬิกา ที่มีสัดส่วนมากถึง 21% รองลงมาคือเสื้อผ้าแบรนด์เนม 17% และสินค้ากลุ่มสกินแคร์ 14%”

ทั้งคู่บอกอีกว่า นอกจากกำลังซื้อภายในประเทศที่ไปได้ดีแล้ว ยังได้รับอานิสงส์จากนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีน ที่นิยมซื้อนาฬิกาในเมืองไทย เนื่องจากภาษีนำเข้านาฬิกาของไทยเพียง 5% และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศจีน ที่มีภาษีนำเข้านาฬิกาอยู่ที่ 30%

โดยแบรนด์ที่นักท่องเที่ยวจีนให้ความนิยมได้แก่ Omega, Longines, Mido, Tissot, Frederique Constant, Gucci, Bulova เป็นต้น เพราะแบรนด์เหล่านี้ได้มีการเปิดตลาดที่ประเทศจีนมายาวนาน

ตลาดนาฬิกา

ความน่าสนใจต้องยกให้ “Hi-end”

อย่างไรก็ตาม เมื่อลอง Insight เข้าไปในตลาด 45,900 ล้านบาท จะพบว่า ถึงเซกเมนต์ที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก คือ Luxury ที่มีราคาต่อเรือนตั้งแต่ 500,000 บาทขึ้นไป ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังคือนักสะสมทั้งหลาย

แต่เซกเมนต์ที่ครองสัดส่วนมากที่สุดและกำลังได้รับความสนใจมากที่สุด ต้องยกให้ “Hi-end”

กลุ่ม Luxury ยังเติบโตอยู่ แต่ถือว่าต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ ด้วยถูก Hi-end ที่ปรับตัวขึ้นมาแย่งความสนใจไป เพราะเมื่อเทียบ Value for money เซกเมนต์ Hi-end ยังมีภาษีที่ดีกว่า

เหตุผลคือ เซกเมนต์ Hi-end เริ่มปรับตัวและทำราคาให้ผู้บริโภคเอื้อมไปแตะได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ก็มีรายได้สูงขึ้นด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าลดราคา หากเลือกที่จะทำราคาตั้งแต่เปิดตัวเลย เช่นจากราคาเริ่มต้น 150,000-200,000 บาท ก็ปรับมาเริ่มต้นที่ 100,000 บาท

และไม่ใช่แค่เซกเมนต์ Hi–end เท่านั้น แต่เซกเมนต์ Middle ก็เป็นอีกกลุ่มที่วางกลยุทธ์เชิงรุกในการเพิ่มกลไกด้านราคา ทำให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ซึ่งหลายแบรนด์ได้ออกนาฬิกาเรือนใหม่ในราคาที่เร้าใจมากขึ้น ทั้งแบรนด์ TAG Heuer Formula1, Breitling รุ่น Navitimer 8, Maurice Lacroix รุ่น Aikon, Longines รุ่น La Grande Classique, Mido รุ่น Baroncelli A Trilogy of Limited Edition และ Oris 

ตลาดนาฬิกา

ถึงจะถูก Smart Watch แย่งความสนใจ แต่ไม่น่ากังวัลมากนัก

นอกจากนี้อีกเซกเมนต์ที่เติบโตอย่างโตเนื่อง 10-15% ทุกปี คือนาฬิกา Fashion ที่ในปีนี้มีการขยายฐานตลาด Smart Watch ที่เติบโตมากในช่วง 2-3 ปีหลัง เนื่องจากพฤติกรรมลูกค้ามีความสนใจนาฬิกาการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแบรนด์ที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ ได้แก่  Apple Watch, Garmin, Suunto

และเพื่อไม่ให้ถูกแย่งลูกค้าไป กลุ่มแบรนด์สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์จึงเพิ่มฟังก์ชันเพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่ม Smart Watch เช่นกัน ได้แก่ TAG Connected, Frederique constant, Alpina, Michael Kors Access, Fossil Q และ Diesel On เป็นต้น

แต่ทั้งนี้กลุ่ม Smart Watch ก็ไม่ได้สวยหรูเสมอไป

เพราะถึงแม้ว่าปีที่ผ่านมาความนิยมของผู้บริโภคทั่วโลกสำหรับนาฬิกาที่ราคาต่ำกว่า 30,000 บาท จะถูกทดแทนด้วย Smart Watch หรือ Digital Watch แต่ปีนี้กลับพบว่าความนิยมยังคงอยู่ แต่อัตราการเติบโตมีความชะลอตัว โดยโตขึ้นเพียง 1.2% เท่านั้น

ถ้านับรวมทั้งแบรนด์ไอทีด้วย แน่นอน Smart Watch ต้องเติบโตเยอะมาก แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบกับกลุ่มนาฬิกาทั่วไปแน่นอน

เพราะการเข้ามาของดิจิทัลทำให้คนเห็นมูลค่าของนาฬิกามากขึ้น ถึง Smart Watch จะเติบโต แต่ผู้บริโภคก็ไม่สามารถใส่ได้ทุกวัน ที่ใส่เพราะต้องการฟังก์ชันเท่านั้น แต่เมื่อถึงที่สุดแล้วจะเริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่คาแรกเตอร์ของตัวเอง จึงยังต้องการนาฬิกาดีๆ สักเรือนมาใส่ เพื่อสะท้อนถึงคาแรกเตอร์ของตัวเอง

ตลาดนาฬิกา

ถึงจะหาข้อมูลในออนไลน์แต่ก็มาซื้อที่ร้านอยู่ดี

ขณะเดียวกันพฤติกรรมของลูกค้าในการซื้อนาฬิกาในปัจจุบัน ต้องการนาฬิกาที่มี Storytelling นวัตกรรม และเป็นลิมิเต็ด อิดิชั่น

แต่ก็ยังมุ้งเน้นไปยังแบรนด์ที่ชื่นชอบ รวมไปถึงคำนึงถึงราคาเป็นหลักเพราะทุกคนต้องการใช้เงินอย่างคุ้มค่าและตอบสนองความต้องการของตัวเองให้มากที่สุด

ซึ่งเทรนด์การเลือกซื้อนาฬิกาที่กำลังมาแรง คือ นาฬิกากลุ่มสีเขียว น้ำเงิน พาสเทล ขาว และดำ เรือนสตีล หรือรุ่นยอดนิยม รุ่นคลาสสิกที่ได้รับความนิยมในอดีตกลับมาผลิตอีกครั้ง และรุ่นครบรอบในโอกาสพิเศษของแบรนด์ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่น่าสนใจของผู้บริโภคในวันนี้คือ O2O หรือ Online to Offline

“O2O เป็นพฤติกรรมของลูกค้าและเป็นการพัฒนาของค้าปลีกด้วย เพราะอย่าลืมว่าถ้าผู้บริโภคยุคนี้ต้องการซื้อสินค้า ออนไลน์ถือเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ และได้รับความหลากหลาย แต่สินค้าอย่างนาฬิกาก็ทำได้แค่หาข้อมูล ไม่ได้ตัดสินใจซื้อในออนไลน์ จึงมีสัดส่วนการซื้อในช่องทางนี้เพียง 2% เท่านั้น

 หากเมื่อถึงเวลาซื้อจริงกลับเดินเข้าร้านอยู่ดี เนื่องจากนาฬิกามีเรื่องของเทคโนโยลี และเรื่องราวที่มาพร้อมกัน ผู้บริโภคจึงรู้สึกว่าจะจ่ายเงินเป็นหมื่นทั้งที ก็ต้องการได้รับบริการที่ดี เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการบริการ และเมื่อบวกกับโปรโมชันที่เร้าใจ ผู้บริโภคก็หนีไปไหนไม่พ้นแล้ว


อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน