สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ เปลี่ยน “องค์กร” เปลี่ยน “โลก”
โอกาสของเทรนด์เทคโนโลยีที่มาแรงในปี 2018 คืออะไร ยังคงเหมือนเดิม ? หรือเปลี่ยนไปหรือไม่ ?
แล้วเราจะใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างไร ?
“ไม่ต้องกลัวสิ่งที่เกิดขึ้น ถึงแม้ดิจิทัลจะเข้ามาทำลายล้างสิ่งที่มีอยู่เดิม แต่มันก็เข้ามาสร้างโอกาสมหาศาลให้กับเราเหมือนกัน”
สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กล่าวในงานสัมมนาประจำปีของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ Thailand 2018 “จุดเปลี่ยนและความท้าทาย” เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา
เขาอธิบายต่อว่าโอกาสที่ดีจะเกิดขึ้นได้ในยุคนี้องค์กรต้องยึดใน 2 เรื่องหลัก คือ
1.ภายในองค์กรเอง ต้องดึงเอาเทคโนโลยีมาช่วยในธุรกิจหลักให้ได้ ต้องใช้ดิจิทัลเชื่อมโยงติดต่อกับลูกค้าในทุกช่องทาง และหาแพลตฟอร์มขององค์กรให้ได้ว่าต้องเป็นแบบไหนเพื่อการขยายธุรกิจให้เร็วขึ้น
2.ภายนอกองค์กรต้องรู้จักลูกค้าให้ดีและลึกซึ้งมากๆผ่านใน 3 เรื่องคือ 1.ต้องใช้ดาต้าอนาไลติกส์ ในการคิด 2.สร้างความแตกต่างด้วยอินโนเวชั่น และ 3 ต้องทำให้เร็ว
สำหรับ เทรนด์เทคโนโลยีที่มาแรงในปี 2018จากข้อมูลของการ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลก ระบุว่า ที่ต้องคอยติดตามคืv
1.อินเทลลิเจนซ์ ที่พูดกันมากคือ artificial intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่มนุษย์สร้างขึ้นให้สิ่งไม่มีชีวิต คิด และทำได้เหมือนคน และอาจทำได้ดีกว่ามนุษย์ด้วยซ้ำ เพราะคำนวณสิ่งที่ยากซับซ้อนได้เร็วกว่าคน และสามารถทำงานซ้ำซากที่คนทำแล้วเบื่อ เพราะมันเป็นคอมพิวเตอร์
“ที่จริง AI ไม่ใช่เรื่องใหม่ สมัยที่ผมเรียนปริญญาตรี ปริญญาโทเมื่อ 30 ปีก่อน หลักสูตรของอเมริกาก็สอนเรื่องAI เพียงแต่สมัยนี้เทคโนโลยีตอบรับทำให้เอไอเกิดได้จริง ในอเมริกาวางขาย AI ของอเมซอน “Alexa” สั่งงานได้ด้วยเสียง อย่างฟังเพลงอะไรอยากเปิดไฟก็บอกAIไป ทางเอไอเอสเอง ก็เริ่มใช้ AI ในการทำงาน หลายคนอาจจะไม่ทราบ เวลาโทรไปที่คอลเซ็นเตอร์ของเรา ท่านอาจกำลังคุยกับแมชชีนของผม ก็ได้และแมชชีนนั้นจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ”
2.เทคโนโลยีดิจิทัลมีอยู่หลายเรื่องเช่น
การวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) สำคัญมากทำให้รู้จักลูกค้าได้ดี วันนี้คนที่เก่งมาก คือเฟซบุ๊ก, กูเกิล เขาจ้างคนจำนวนมากที่มีความรู้ มา วิเคราะห์ทุกอย่าง ในอนาคตตำแหน่ง CEO อาจไม่จำเป็น แต่จำเป็นต้องมี “CAO” หรือ Chief Analytics Officer
เทคโนโลยี AR, VR และ MR เป็นต้น AR คือการที่เราใช้คอมพิวเตอร์ทำให้ภาพที่เห็นวิลิศมาหราขึ้น จากบ้านเล็ก ๆ เป็นบ้านใหญ่ ใช้คอมพิวเตอร์เขียน และมองด้วยแว่น ส่วน VR ตรงข้ามกับ AR คือเป็นเวอร์ชัวร์เรียลิตี้ เป็นภาพเสมือนจริง ไม่ต้องเกิดขึ้นจริงก็ใช้คอมพิวเตอร์สร้าง VR ขึ้นมาได้ วันนี้ยังมี MR ซึ่งเป็นส่วนผสมของ AR กับ VR สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา
IOT-Internet of Things วันนี้ประเทศไทยมีประชากร 60 กว่าล้านคน มีเบอร์มือถือ 90 กว่าล้าน หรือ 140% ในอีก 5 ปี เบอร์โทรศัพท์จะเพิ่มขึ้นจากนี้มาก คนหนึ่งจะมีซิมอย่างน้อย 7 ชิ้น อาจอยู่ที่, นาฬิกา แว่นตา รถ และอุปกรณ์ในบ้านต่าง ๆที่จะผ่าน Internet of Things ทั้งหมด
3. Mesh เป็นเน็ตเวิร์กกิ้งใหม่ที่เกิดขึ้นในโลก Mesh ลิงก์เชื่อมกันโดยตรง อาทิ บล็อกเชน ล่าสุดเมื่อต้นปีนี้ในขณะที่บล็อกเชนเรายังไม่ค่อยเข้าใจก็มีของใหม่อีกแล้วที่จะมาแทนบล็อกเชน เรียกว่า Hashgraph ที่ว่ากันว่าเร็วกว่าและปลอดภัยกว่าบล็อคเชน
“ผมยอมรับตรงๆว่าผมเองก็ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไรนะครับ รู้เพียงแต่ว่ามันจะมาแทนบล็อกเชน แต่ที่จะสื่อให้เห็นคือขนาดคนที่อยู่ในเทคโนโลยี เป็นผู้นำหลักอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งใหม่ๆที่จะเข้ามาท้าทายอีกมาก”
นอกจากนั้นสมชัยกล่าวว่ายังมีสิ่งที่เรียกว่า GiGs อีโคโนมี เกิดขึ้นมาอีก GiGs เป็นคำใหม่ที่เกิดจากดีมานด์ และซัพพลาย เนื่องจากแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่ ที่ไม่ชอบทำงานประจำ อยากมีอิสระอยากมีเวิร์กไลฟ์ บาลานซ์ ฝั่งองค์กรเองก็ไม่อาจรับพนักงานประจำได้เยอะ ๆ เพราะโลกเปลี่ยนเร็ว เทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นมากมาย วันนี้องค์กรรับคนแบบนี้ที่เก่งในการใช้เทคโนโลยีเรื่องนี้ แต่ไม่นานอาจต้องการคนแบบใหม่ เขาคาดการณ์กันว่าภายในปี 2020 ที่อเมริกากว่า 40% ของพนักงานในบริษัทจะเป็นฟรีแลนซ์
เปลี่ยน “องค์กร” เปลี่ยน “โลก”
แล้ววันนี้ เราจะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร เขาบอกว่าต้องทำใน 3 อย่างคืv
1.ดิจิทัลplatform หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการเข้ามาของดิจิทัล ฉะนั้นจงใช้ให้เป็นประโยชน์
2.human capital “คน” เป็นสิ่งสำคัญ ต้องเพิ่มขีดความสามารถใหม่ให้กับคน 3.transform แม้เป็นองค์กรที่แข็งแรง เป็นผู้นำตลาดก็ต้องปรับตัว มีตัวอย่างให้เห็นมากมายที่บริษัทใหญ่ ๆ ล้มได้ภายในไม่กี่ปีเพราะปรับตัวไม่ทัน
“เมื่อ10 ปีที่แล้ว ทุกคนเฝ้าจับตามองว่ามือถือรุ่นใหม่ของโนเกียเป็นอย่างไร พอแอปเปิ้ลออกมาแค่ 5 ปี โนเกียหายไปจากตลาด ทั้งๆที่ธุรกิจมือถือยังคงรุ่งเรืองอยู่ในปัจจุบัน ต่างจากฟิมล์โกดักที่ต้องไปเพราะดิจิทัลเข้ามาเป็นเพราะโนเกียไม่ปรับตัว ปรับตัวช้าเกินไป”
สมชัย กล่าวว่า “เอไอเอส” เองก็ต้องปรับตัว แม้จะเป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งตั้งแต่เขาขึ้นมาเป็นซีอีโอ ก็ย้ำมาตลอดว่าบริษัทต้องทรานฟอร์มจาก “โมบายโอปะเรเตอร์” เป็น “ดิจิทัล เซอร์วิส โพรไวเดอร์” หมายถึงว่าเอไอเอสจะต้องสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มขึ้นมาให้ได้ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนแรกคือความแข็งแรงเดิม คือเน็ตเวิร์กทางโมบาย (wireless infrastructure) ส่วนที่ 2 เพิ่ม fixed broadband infrastructure ที่เริ่มให้บริการไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ส่วนที่ 3 คือ digital service แอปพลิเคชั่นและคอนเทนต์แพลตฟอร์ม ซึ่งมีอยู่ 5 อย่างคือได้แก่ วิดีโอ เอ็นเตอร์เทนเมนต์, IOT, โมบายมันนี่, คลาวด์คอมพิวเตอร์ และพาร์ตเนอร์แพลตฟอร์ม
“ชัดเจนว่าเราต้องการเป็นพี่ใหญ่ ที่จะเป็นรากฐานช่วยอุตสาหกรรมอื่นเพื่อก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลไปด้วยกัน เป็นอีโคซิสเต็มที่สมบูรณ์แบบเพราะดิจิทัลด้วยลูกค้า 40 ล้านเลขหมาย นอกจากบริการของเรา คือว๊อยซ์ กับเดต้า เรายังสามารถส่งสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมอื่นๆไปถึงมือลูกค้าที่จ้องมือถือของเขาอยู่ทุกวัน โดยเชื่อมกับ 5 แพลตฟอร์มของเราได้ง่าย ๆ เรามีดาต้าอนาไลติกส์ที่รู้จักลูกค้าดี รู้ว่าลูกค้าแต่ละคนต้องการอะไร สิ่งต่างๆเหล่านี้เราวางเพื่อดึงให้พาร์ทเนอร์เราเข้ามา และนี่คือทางที่เอไอเอสจะเดินไป ผมอยากสรุปว่า ดิจิทัลทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเราเลี่ยงไม่ได้ แต่ผมยังยืนยันในวันนี้ว่า มันไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ เป็นโอกาสของคนที่ปรับตัวได้”
เพราะการใช้ดิจิทัลสิ่งที่เกิดขึ้นมี 2อย่างคือ 1.จะลดต้นทุนมหาศาล จากเดิมการขยายร้านขยายสาขาต้องลงทุนมหาศาล แต่ถ้าเรามีดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ดี แค่บอกให้ลูกค้าเข้ามาใช้ ก็ลดต้นทุนได้มาก และ 2.เพิ่มประสิทธิภาพได้เพราะใช้คนไม่มาก ใครยังอยู่ในคอมฟอร์ตโซนทำแบบเดิมมาตลอด ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันกับโลกใหม่ให้ได้ และนี่คือคีย์เวิร์ดสำคัญ
นอกจากนั้นก็ยังมีคนพูดถึงกันมากว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาจะฆ่าเราหรือไม่ทุกวันนี้มีการถกกันระหว่างอีลอน มัสค์ จากเทสล่ามอเตอร์ และมาร์กของเฟซบุ๊ก ว่าอย่าไปพัฒนา AI ให้เก่งกว่านี้เลย เดี่ยวจะฆ่าคน
“แต่ผมเชื่อว่าไม่มีใครเจ้าเล่ห์กว่ามนุษย์อีกแล้ว ดังนั้นอนาคตอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตามมนุษย์ก็จะชนะ แจ็คหม่าบอกว่าเพราะมนุษย์มี wisdom มีปัญญาAIไม่มี สำหรับผมคิดว่ามนุษย์มีจิตวิญญาณ มนุษย์จะชนะทุกอย่าง แต่ขอให้พวกเราใช้เทคโนโลยี และเอาดิจิทัลมาช่วยเราในสิ่งที่เราไม่อยากทำหรือทำได้ยาก ใช้เป็นเครื่องมือของเรา อย่าไปกลัวเทคโนโลยี อย่ากลัวดิจิทัล และพวกเราก็จะสามารถเป็น “ผู้นำ” ได้ ผมก็เชื่อด้วยว่าการทรานส์ฟอร์เมชั่นถ้าเราใช้มันเป็นเราก็จะเป็นผู้นำในโลกนี้ ดังนั้น ในปี 2018 เป็นโอกาสของประเทศไทย ขอเพียงแต่เราร่วมมือกัน”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กล่าวสรุป
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



