สเต็กลุงหนวด ทำไมขายดี ? วิเคราะห์ Business Model สเต็กริมทาง แต่อยู่กลางใจมหาชน

ถ้าพูดถึงสเต็กในศูนย์การค้า คนจะคิดถึงแค่ 2 แบรนด์ หากอยากกิน Premium สเต็ก ก็ต้อง Sizzler แต่หากอยากกินสเต็กที่ราคาถูกลงมาหน่อยก็ต้อง Santa Fe

ส่วนใครงบน้อยลงมาอีกหน่อย อยากรับประทานสเต็กริมถนนข้างทาง จะมีให้เลือกหลายสิบแบรนด์ที่เป็นร้านแฟรนไชส์ แต่ชื่อที่โดดเด่นและคนจดจำมากที่สุดก็คือ สเต็กลุงหนวดที่มีเมนูสเต็กมากมายทั้ง เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อปลา และเนื้อไก่ รวมถึงเมนูไส้กรอกมากมาย

สเต็กลุงหนวดมีดีอะไร แล้วทำไมใครๆ ก็อยากที่จะลงทุนเปิดร้านแฟรนไชส์ ทั้งๆ ที่เป็นแบรนด์ที่แทบจะไม่ใช้เงินซื้อสื่อโฆษณา

ร้านสเต็กลุงหนวดสาขาแรกอยู่ที่ย่านประชาชื่น จากนั้นก็ขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์ ปัจจุบันมีประมาณ 90 สาขา โดยทำเลยอดนิยมอันดับ 1 ที่ร้านสเต็กร้านนี้จะยึดครองก็คือ ฟุตปาธข้างถนน ที่มีผู้คนพลุกพล่านและสัญจรผ่านไปมาจำนวนมาก ตกแต่งร้านสไตล์ง่ายๆ ด้วยร่มสีม่วงติดโลโก้แบรนด์

โดยคนที่ซื้อแฟรนไชส์ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่เคยมารับประทานแล้วมองเห็นโอกาสในการเป็นเจ้าของธุรกิจเล็กๆ เมื่อเห็นลูกค้าเต็มร้าน เลยอยากที่จะลงทุน

ส่วนเหตุผลที่ร้านสเต็กลุงหนวดได้รับความนิยมคือ “จุดขาย” การเป็นสเต็กจานประหยัดราคาเริ่มต้น 40 บาท จนถึงเมนูแพงสุดในร้านก็อยู่ระหว่าง 140-160 บาท

 

สเต็กลุงหนวด จุดขายคือความคุ้มค่า

ถึงจะไม่อร่อยเลิศเทียบชั้นกับร้านสเต็กราคาแพง แต่คนทั่วไปส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่าเป็นความอร่อยที่คุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป

โมเดลธุรกิจร้านสเต็กลุงหนวดจึงกลายเป็นการบอกปากต่อปาก ทำให้กลายเป็นแบรนด์ SME ที่มีชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว มีผู้คนที่สนใจจะลงทุนซื้อแฟรนไชส์จำนวนมาก เพราะการเป็นแบรนด์ที่ขายดีและคนทั่วไปรู้จัก ถือเป็นการลดความเสี่ยงในการขาดทุน สำหรับการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ 

โดยข้อมูลของสมาคมแฟรนไชส์ไทย ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทย มีบริษัทที่ทำธุรกิจแฟรนไชส์ 500-600 บริษัท แต่ที่ผ่านมามีผู้ลงทุนมากหน้าหลายตา และล้มหายตายจากไปก็เยอะ เลยทำให้ตัวเลขผู้ประกอบการแฟรนไชส์ในไทยอยู่ในสภาวะทรงๆ ตัวมาหลายปี คือประมาณ 100,000 ราย

และน่าจะเป็นเหตุผลที่การเป็นแฟรนไชส์สเต็กลุงหนวดไม่ใช่มีเงินแล้วอยากลงทุนจะเปิดร้านได้ทันที เพราะต้องการคนที่สามารถคุมมาตรฐานที่ตัวเองเซตไว้

จึงไม่แปลกหากลอง Search Google ถามถึงการจะเป็นแฟรนไชส์สเต็กลุงหนวดจะพบข้อมูลจากในกระทู้เว็บบอร์ดออนไลน์ต่างๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าจะเปิดร้าน สเต็กลุงหนวด ไม่ใช่ง่ายๆ

ถึงแม้จะผ่านกฎบังคับเริ่มต้น คือ มีเงินจ่ายค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์แรกเข้า 30,000 บาท งบการลงทุนเปิดร้าน 100,000-200,000 บาท (รวมค่าเช่าที่ โต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์ต่างๆ) พนักงาน 3-4 คน

แต่…หากเจ้าของสเต็กลุงหนวดสัมภาษณ์แล้วไม่เข้าตา หรือทัศนคติทำธุรกิจไม่ตรงกันก็จะไม่ขายแฟรนไชส์ให้ อีกทั้งยังมีข้อกำหนดว่าหากในทำเลที่เราสนใจมีร้านแฟรนไชส์ สเต็กลุงหนวด ที่อยู่ใกล้ๆ กัน ก็จะไม่ขายแฟรนไชส์ให้เช่นกัน เพราะกลัวที่จะแย่งลูกค้ากันเอง

และการเป็นแบรนด์สเต็กราคาเข้าถึงง่าย มีลูกค้าเข้าร้านต่อวันจำนวนมาก ผลที่ตามมาก็คือมี “สเต็กแฟรนไชส์ริมทาง” หน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเป็นคู่แข่งร้านสเต็กลุงหนวดจำนวนมาก ทั้งร้านสเต็กลุงใหญ่, โมบายสเต็ก, สเต็กเด็กแนว, สเต็กทูเดย์ เป็นต้น (บางร้านเป็นตึกแถว บางร้านริมถนน)

เพราะ “สเต็กริมทางข้างถนน” คือโมเดลธุรกิจที่ Copy ได้ง่าย แถมถ้าเลือกทำเลดีๆ รสชาติและราคาถูกใจลูกค้าในทำเลย่านนั้น ก็มีกำไรงามๆ เข้ากระเป๋าได้ง่ายๆ

โดยข้อมูลจากบริษัท โมบายสเต็ก จำกัด อธิบายถึงต้นทุนและกำไรของสเต็กราคาประหยัดได้เห็นภาพอย่างชัดเจน

ยกตัวอย่าง สเต็กจานหนึ่งต้นทุนประมาณ 26 บาท/ต่อชิ้น + ค่าซอส 4 บาท = 30 บาท

ราคาส่วนใหญ่ที่ร้านต่างๆ จะขายอยู่ที่ 59-69 บาท/ต่อจาน

กำไรจะตกอยู่ที่ 29-39 บาท/ต่อจาน

หากเป็นร้านที่ขายดีวันหนึ่งจะขายได้เฉลี่ย 100 จาน จะกำไรถึง 2,900-3,900 บาท/ต่อวัน

เมื่อขายทุกวันกำไรจึงจะอยู่ที่ 87,000-117,000 บาท/ต่อเดือน ตัวเลขกำไรดังกล่าวยังไม่หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน, ค่าเช่าพื้นที่, ค่าน้ำ, ค่าไฟ เป็นต้น

จึงไม่ต้องแปลกใจเมื่อโมเดลแฟรนไชส์ธุรกิจร้านสเต็กลุงหนวดรวมไปถึงร้านสเต็กรายอื่นๆ ประสบความสำเร็จ

สเต็กข้างถนนจะเกลื่อนเมือง เพราะนี่คือธุรกิจที่มีผลตอบแทนให้แก่เจ้าของร้านแบบถึงใจ

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online