Naomi Osaka มือ 1 หญิงวงการเทนนิสคนใหม่ที่หลายแบรนด์ต้องการตัวมากที่สุด

ในปี 2019 นี้แต่ละวงการคงมีเรื่องให้ติดตามซึ่งสามารถชิงพื้นที่สื่อได้ต่างกันไป โดยสำหรับวงการกีฬาที่ยังเชื่อมโยงไปสู่แวดวงการตลาดและ Branding ด้วย มีความเป็นไปได้สูงว่า Naomi Osaka จะถูกจับตามองและมีหลายแบรนด์อยากเกาะกระแสความดังของเธอ เพราะล่าสุด นักเทนนิสสาวผิวสีหน้าเอเชียวัย 21 ปี เพิ่งขึ้นเป็นมือวางอันดับ 1 ของโลก หลังชนะ Petra Kvitova คว้าแชมป์ Australian Open ครั้งล่าสุดมาครองได้สำเร็จ และย้อนไปเมื่อกันยายนปีก่อน เธอคือคนที่คว้าแชมป์ US Open เหนือ Serena Williams นักเทนนิสขวัญใจตัวเองทั้งน้ำตา  

Naomi Family

(จากซ้าย) Naomi Osaka, พี่สาว, แม่และพ่อ 

Osaka เกิดในญี่ปุ่นเมื่อ 16 ตุลาคม ปี 1997 เป็นลูกคนที่ 2 ของ Leonard Francois และ Tamaki Osaka พ่อชาวอเมริกันเชื้อสายเฮติและแม่ชาวญี่ปุ่นของเธอ ซึ่งพบรักกันขณะที่พ่อมาเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนในญี่ปุ่น ผลกระทบจากการฝืนแต่งงานท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัวฝ่ายหญิง ทั้งครอบครัวจึงตัดสินใจโบกมือลาญี่ปุ่นแล้วไปอาศัยอยู่ในบ้านของตากับยายในสหรัฐฯ ตั้งแต่ขณะที่เธออายุเพียง 3 ขวบเท่านั้น เธอและพี่สาสสองจึงโตมาในวัฒนธรรมผสมผสาน กินอาหารเฮติ เรียนและใช้ชีวิตในสังคมอเมริกัน ขณะเดียวกันก็ยังเข้าใจภาษาญี่ปุ่นด้วย

Williams

Venus และ Serena Williams

หลังเห็นคู่พี่น้องตระกูล Williams ทำผลงานได้ดี ผ่านการสนับสนุนสุดตัวของพ่อที่ไม่ได้เป็นนักเทนนิสมาก่อนเลย พ่อของ Osaka จึงตัดสินใจทำแบบเดียวกัน โดยความจริงจังในกีฬา “หวดลูกสักหลาด” ของครอบครัวนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อหัวหน้าครอบครัวตัดสินใจย้ายบ้านจากเมือง Long Island รัฐ New York ไปยังรัฐ Florida ศูนย์กลางการฝึกฝนนักเทนนิสเยาวชนของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เรื่องหลักในชีวิตของลูกสาวตั้งแต่ปี 2006 คือการฝึกซ้อมและลงแข่ง ส่วนการศึกษาก็ถูกลดความสำคัญผ่านการเรียนแบบ Homeschool  

Naomi Osaka Indian Well

Osaka คว้าแชมป์ Indian Wells

ปี 2016 วงการเทนนิสเริ่มจับตามอง Osaka คนน้องที่ใช้เวลาเพียง 2 ปี เลื่อนจากอันดับ 250 ขึ้นมาอยู่ที่ 40 และคว้ารางวัลนักเทนนิสหญิงหน้าใหม่แห่งปีของสมาคมนักเทนนิสอาชีพหญิง (WTA) จากนั้นเธอก็ทำผลงานได้ดีต่อเนื่อง อีก 2 ปีถัดมา ช่วงเวลาสำคัญในอาชีพของเธอก็มาถึง  เริ่มจากมีนาคม 2018 คว้าแชมป์รายการ Indian Wells ต่อด้วยการเขี่ย Serena Williams ตกรอบแรกในรายการ Miami Open และกันยายนปีเดียวกัน วงการเทนนิสมองข้าม Osaka ไม่ได้อีกต่อไป หลังเธอชนะนักเทนนิสขวัญใจตัวเองได้อีกครั้ง ในรายการ US Open

การชนะ Williams ได้ในครั้งที่ 2 ของ Osaka กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เพราะแม้คือการคว้าแชมป์ 1 ใน 4 รายการใหญ่ของวงการเทนนิส (Grand Slam) ครั้งแรกของเธอแต่จุดสนใจกลับไปอยู่ที่รองแชมป์ซึ่งระบายความไม่พอใจการตัดสินของกรรมการอย่างเกรี้ยวกราดด้วยการขว้างไม้เทนนิสจนโค้งงอ ท่ามกลางเสียงโห่จากผู้ชม จนเจ้าของแชมป์กระอักกระอ่วน และร้องไห้ออกมา  โดย Chris Evert อดีตนักเทนนิสชาวอเมริกันที่ร่วมพิธีมอบถ้วยแชมป์ด้วย เผยว่า “ไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่แชมป์และรองแชมป์คว้าความสำเร็จท่ามกลางความรู้สึกขุ่นเคืองของผู้ชมมาก่อน”  

                ส่วนการคว้าแชมป์รายการล่าสุดที่ทำให้ Osaka ขึ้นเป็นมือ 1 ปลอด “เรื่องดราม่า” อย่างสิ้นเชิง โดยแชมป์ชาวญี่ปุ่นคนแรกของรายการนี้รับถ้วยแชมป์ จาก Li Na อดีตแชมป์รายการเดียวกันชาวจีนด้วยรอยยิ้ม

ส่วน Kvitova ก็ยอมรับตำแหน่งรองแชมป์แบบที่ตัวเองยังสามารถภูมิใจได้ เพราะเป็นการคืนฟอร์มของแชมป์เก่ารายการนี้อีกคน หลังการรักษาตัวจากการถูกคนร้ายที่บุกบ้านพักเมื่อปี 2016 แทงเข้าที่แขนซ้าย 

Naomi Champ

                คาดกันว่าตลอดปีนี้ Osaka คงมีแบรนด์ดังอีกมากมายติดต่อให้เธอเป็น Brand Endorser และ Presenter นอกเหนือไปจาก Adidas, Yonex, Nissin, Nissan ,Shiseido และ All Nippon Airways ที่มีอยู่เดิม  ซึ่งต่อไปนักเทนนิสสาวขวัญใจแบรนด์ดังคนใหม่จะทำเงินเฉลี่ยต่อปีเพิ่มเป็น 15 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 480 ล้านบาท) และคงเพิ่มขึ้นอีกมากเมื่อถึงโอลิมปิกปี 2020 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ 

Ariana

Ariana Miyamoto

              ขณะเดียวกันความหลากหลายทางเชื้อชาติในตัวเธอยังจะช่วยให้ Hafu หรือลูกครึ่งในญี่ปุ่น ประเทศที่มีความชาตินิยมสูงจนคนกลุ่มนี้เป็นเพียงส่วนน้อย (เพียง 2%) ได้รับการยอมรับมากขึ้นด้วย หลังปี 2015 Ariana Miyamoto นางงามลูกครึ่งแอฟริกัน-อเมริกัน คว้ามงกุฎ Miss Universe Japan

Priyanka

Priyanka Yoshikawa

             และ Priyanka Yoshikawa นางงามลูกครึ่งอินเดียที่คว้ามงกุฎ Miss World Japan ในปีถัดมา ซึ่งส่งผลให้ทั้งคู่ได้ทำหน้าที่ตัวแทนญี่ปุ่นในการประกวด Miss Universe และ Miss World ตามลำดับ /time, cnn, tokyotoday, australianopentv, wikipedia

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online