คาดการณ์ ตลาดอีคอมเมิร์ซ ในปีนี้เติบโต 12% มูลค่า 3.2 ล้านล้านบาท เป็นตลาดที่มีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี จากคนไทยที่มีความรู้ความเข้าใจในการสั่งสินค้าออนไลน์มากขึ้น

โดยพฤติกรรมการซื้อสินค้าอีคอมเมิร์ซของคนไทยมีสัดส่วน 90% มาจากมือถือและชำระเงินค่าสินค้าผ่านโมบายแบงกิ้งและอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ที่มีความสะดวกและรวดเร็ว

และการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซนี้เองทำให้ประเทศไทยได้เห็นเทรนด์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจในตลาดนี้

ในงานสัมมนา “ก้าวทันก่อนใคร E-Commerce Trends 2019” ที่ธนาคารรกรุงเทพจัดขึ้น ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Tarad Dot Com Group ได้วิเคราะห์ทิศทางอีคอมเมิร์ซปี 2019 ประกอบด้วย 9 เทรนด์ที่น่าสนใจ ได้แก่

 

1. การแข่งขันของ JSL (JD-Central–Shopee–Lazada) ปีนี้จะดุขึ้น ใครเงินหมดก่อนคนนั้นแพ้

ในปีนี้จะได้เห็นผู้เล่นในตลาดอีมาร์เก็ตเพลส JD-Central, Shopee และ Lazada บุกเต็มสตรีมและรุนแรงกว่าที่ผ่านมา ด้วยการงัดโฆษณาและแคมเปญโปรโมชั่นต่างๆ เข้ามารุกหนักในตลาด

ทำให้เกิดซูเปอร์โปรโมชั่นเดย์ วันที่เป็นดับเบิล เช่น 11.11 12.12 2.2 และอื่นๆ ที่เริ่มเป็นท่าไม้ตายของอีมาร์เก็ตเพลส ที่ใช้วันดังกล่าวลดราคาสินค้า และดึงคนเข้ามาซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่องทุกปี

นอกจากการใช้วันดับเบิ้ลเดย์เป็นท่าไม้ตายแล้ว ในปีนี้เรายังได้เห็นเทรนด์ของอีวอลเลต ที่อีมาร์เก็ตเพลสใช้เป็นไม้ตายท่าที่สอง เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้นเพื่อแลกกับส่วนลดและพอยต์สะสมต่างๆ จากการที่ผู้บริโภคนำเงินมาฝากไว้อยู่ในระบบมาก่อนหน้านี้

 

2. Cross Border สินค้าจีนไหลเข้ามาไทย

ใครจะเชื่อล่ะว่าสินค้าที่วางจำหน่ายในอีมาร์เก็ตเพลสมากกว่า 50 ล้านชิ้น เป็นสินค้าที่มาจากประเทศจีนมากถึง 80% และอนาคตจะมากกว่านี้

การที่สินค้าจีนเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยจำนวนมากมาจากการทำ Cross Border ผ่านอีมาร์เก็ตเพลสแพลตฟอร์มที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย

 

3. แบรนด์สินค้าเริ่มกระโดดเข้ามาในโลกออนไลน์

การเติบโตของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ทำให้แบรนด์ต่างๆ เริ่มเข้ามาเปิดร้านค้าออนไลนผ่านเว็บไซต์แบรนด์ อีมาร์เก็ตเพลส และ โซเชียลมีเดีย มากขึ้น

และการที่แบรนด์ต่างๆ ลงมาเล่นในช่องทางร้านค้าออนไลน์มากขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ที่โลกของช้อปออนไลน์เข้ามาดึงกำลังซื้อในชุมชนที่ซื้อจากร้านค้าชุมชนน้อยลง และทำให้ความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจชุมชนจะหายไป

 

4. ออนไลน์กับออฟไลน์เริ่มผนึกเข้ามาร่วมกัน เพื่อให้การทำธุรกิจสมบูรณ์แบบมากขึ้น

ผู้บริโภคเมื่อคิดจะซื้อสินค้าสักชิ้น เขาไม่ได้คิดว่าจะหาข้อมูลจากออนไลน์และซื้อออฟไลน์ เพราะพวกเขาจะหาข้อมูลและเลือกซื้อสินค้าจากช่องทางที่สะดวกมากกว่า

แบรนด์ต้องผสานช่องทางระหว่างออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างประสบการณ์การซื้อที่สมบูรณ์แบบ

 

5. บริการสนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด

การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้ผลักดันให้ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซได้เติบโตตาม อย่างเช่นระบบโลจิสติกส์และแวร์เฮาส์ และการเติบโตนี้จะเกิดการแข่งขันที่รุนแรงเช่นกัน

ในวันนี้ธุรกิจโลจิสติกส์ ขนส่งพัสดุย่อยไปรษณีย์ไทยถูกท้าทายจากผู้ให้บริการขนส่งจากต่างประเทศมากขึ้น และเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ระบบอีคอมเมิร์ซจะโตขึ้น ขนส่งโลจิสแวร์เฮาส์จะโตขึ้น และจะเกิดการแข่งขันสูงมากขึ้นตามมา

รวมถึงการเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ๆ อย่างเช่นบริการแวร์เฮาส์ ฟลูฟิวเมนต์ ที่ให้บริการแวร์เฮาส์รับฝากสินค้าจากร้านค้า และบริการแพ็กสินค้าส่งไปยังมือผู้รับแทนร้านค้า เป็นต้น

 

6. Affiliate Marketing คือผู้ช่วยขาย

ปีนี้เป็นปีที่มีผู้ช่วยในการขายของในรูปแบบ Affiliate Marketing ตัวกลางที่ช่วยในการขายสินค้าผ่านช่องทางที่ตัวเองมีอยู่ รวมถึงการมอบสิทธิพิเศษในรูปแบบต่างๆ เช่น เว็บ Cashback และอื่นๆ ที่ให้ลูกค้าใส่โค้ดส่วนลดเมื่อซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ของตัวเอง เป็นต้น

โดยธุรกิจ Affiliate Marketing จะเป็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าและเข้ามาซื้อสินค้ามากขึ้น และมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นที่แบรนด์ให้

 

7. การค้าออนไลน์ระหว่างประเทศเติบโต

นอกจากสินค้าจีนมาขายในไทยผ่าน Cross Border แล้ว ปีนี้เรายังได้เห็นสินค้าไทยไปขายในอีมาร์เก็ตเพลสในประเทศต่างๆ ผ่านการทำ Cross Border เช่นกัน

 

8. Social Commerce โต

การแข่งขันในโซเชียลคอมเมิร์ซจะสนุกขึ้น จากการที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊กและไลน์ที่หันมาเปิดแพลตฟอร์มร้านค้าและระบบแชทเพื่ออำนวยความสะดวกให้แม่ค้าออนไลน์สามารถขายสินค้าผ่านโซเชียลแพลตฟอร์มมากขึ้น

นอกจากนี้ เครื่องมือในโซเชียลมีเดียที่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงอย่างเฟซบุ๊ก กรุ๊ป ได้กลายมาเป็น ช่องทางการขายที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ในฐานะช่องทางของ Super Segment ที่รวมกลุ่มผู้ซื้อที่มีความต้องการและความสนใจเหมือนๆ กันเข้าด้วยกัน

 

9. การตลาดเปลี่ยนไป มีเครื่องมือใหม่ๆ ในการทำตลาดมากขึ้น

ในวันนี้ 86% ของคนทั่วไปมักไม่เชื่อในสิ่งที่แบรนด์พูดถึงตัวเอง และ 92% ของคนทั่วไปมักเชื่อในสิ่งที่คนอื่นพูดถึงแบรนด์ ให้เกิดเทรนด์ของ Influencer Marketing อย่างเช่น ดารา เซเลบ และบุคคลทั่วไปที่มีผู้ติดตามบนโลกออนไลน์

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมืออื่นๆ อย่าง Google Shopping โฆษณาสินค้าบน Search Engine จากการมองเห็นเทรนด์การ Search บน Google ส่วนหนึ่งเพราะต้องการหาซื้อสินค้าอีกด้วย

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online