Red Sun เติมพอร์ตแบรนด์ บาร์บีคิวพลาซ่า ให้หลากรสชาติ !!! วิเคราะห์เหตุผลที่บาร์บีกอนต้องรุกตลาดอาหารเกาหลี

การแข่งขันในอุตสาหกรรมร้านอาหาร ปีที่ผ่านมากลับมาแข่งขันคึกคักจากแบรนด์อาหารใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายเข้ามาช่วงชิงตลาดอาหาร 400,000 ล้านบาท ที่กระจายตัวอยู่ทั้งตามในห้างและนอกห้างสรรพสินค้า 

ส่วนในปีนี้ธุรกิจอาหารยังเป็นธุรกิจที่มีการเติบโต และยังคงแข่งขันกันสูง จากผู้เล่นในตลาดทั้งเชนแบรนด์และน็อนเชน ที่ต่างงัดกลยุทธ์และเทคนิคดึงผู้บริโภคให้เข้ามารับประทานอาหารของร้านแทนคู่แข่ง หรือแทนการทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน

ซึ่งการแข่งขันนี้ นอกจากจะแข่งขันในเรื่องรสชาติอาหาร ความหลากหลายของเมนู แคมเปญโปรโมชั่น และโลเคชั่นของร้าน

แล้วยังแข่งขันกันเรื่องของการนำเทคโนโลยี มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างการรับรู้ และประสบการณ์ที่ดีกับร้าน เช่น การจองคิว การชำระค่าอาหาร รวมถึงบริการเดลิเวอรี่ตอบโจทย์ผู้บริโภคด้านความสะดวกสบายไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางมากขึ้น

เมื่อธุรกิจอาหารมีการแข่งขันกันสูง การที่เติบโตอย่างยั่งยืนของผู้ประกอบการร้านอาหารที่เป็นเชนใหญ่ ที่มี Portfolio ในธุรกิจหลากหลายแบรนด์ นอกเหนือจากกลยุทธ์การแข่งขันที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว

ส่วนใหญ่ยังเน้นการขยายธุรกิจผ่านการเปิดร้านอาหารแบรนด์ใหม่ๆ และซื้อกิจการร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จเข้ามาในธุรกิจของตัวเอง เพื่อเสริมสร้างความหลากหลายและขยายฐานลูกค้าให้กับธุรกิจ

อย่างเช่นเชนใหญ่อย่าง Zen Group ที่เคยซื้อกิจการตำมั่ว จากการมองเห็นศักยภาพของธุรกิจตำมั่วในตลาดร้านอาหารอีสานที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี และเป็นธุรกิจที่ Portfolio ของ Zen Group ยังขาดอยู่

 

 กลยุทธ์ในการซื้อธุรกิจไม่ได้มีเฉพาะของเครือ Zen Group อย่างเดียว เพราะล่าสุด ฟู้ดแพชชั่น เจ้าของแบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่า จุ่มแซบฮัท ฌานา และสเปชคิว ก็ได้มีกลยุทธ์การขยายธุรกิจผ่านการซื้อหุ้นในเชนร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จเช่นกัน

ฟู้ดแพชชั่นได้ซื้อเรดซัน ซึ่งเป็นร้านอาหารเกาหลีสไตล์ต้ม ที่ นพวินท์ รอดริน ผู้บริหารและผู้นำเข้าอาหารประเภทป๊อกตงกิและอื่นๆ จากร้านเรดซันประเทศเกาหลีใต้ เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2014

จนปัจจุบัน เรดซัน มี 12 สาขาในประเทศไทย แบ่งเป็น 10 สาขาในกรุงเทพฯ และ 2 สาขาในต่างจังหวัด ได้แก่ พัทยา และนครราชสีมา

ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ได้บอกเหตุผลในการซื้อธุรกิจเรดซันกับเราว่า

“ธุรกิจเรดซัน มีทั้งอีโมชันนอล และฟังก์ชันนอลที่ดึงดูดลูกค้าได้อย่างน่าสนใจ”

เพราะที่ผ่านมาธุรกิจของเรดซันมีการเติบโตอย่างรวดเร็วแม้จะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเพียง 4 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากความเป็นเอกลักษณ์ของรสชาติและเมนูอาหารของเรดซัน ที่มีมากกว่า 80 เมนู มีการเปลี่ยนเมนูใหม่ที่เป็นเมนูประจำ 2 ครั้งต่อปี และมีเมนูตามฤดูกาลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ร้านเรดซันมีมูฟเมนต์อยู่เสมอ

จากศักยภาพของเรดซันในการใช้เวลาคิดค้นเมนูใหม่เพียง 1 เดือนก็พร้อมออกสู่ตลาดและมีรสชาติที่น่าสนใจจนมีกลุ่มแฟนประจำที่เหนียวแน่น

นอกจากนี้ เทรนด์การบริโภคอาหารเกาหลียังเป็นที่นิยมในประเทศไทย ตลาดร้านอาหารเกาหลีในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากปี 2556 ที่มีมูลค่าตลาด 1,000 ล้านบาท สู่ปัจจุบันที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 2,000 ล้านบาท

 

 

การที่แพชชั่นฟู้ดซื้อเรดซัน ถือเป็นหนึ่งกลยุทธ์หลักของฟู้ดแพชชั่นในการขยายธุรกิจผ่าน Brand Portfolio

ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ ฟู้ดแพชชั่น ได้วางไว้เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมามีความชัดเจนขึ้น

โดยกลยุทธ์ Brand Portfolio ประกอบด้วยแนวทางขยายธุรกิจ 4 แนวทางคือ

  1. ขยายธุรกิจผ่านแบรนด์เดิมที่มีอยู่ใน Portfolio โดยมี บาร์บีคิวพลาซ่า เป็นเรือธงของธุรกิจ
  2. ขยายธุรกิจใหม่ที่พัฒนาแบรนด์ขึ้นเอง ซึ่งการขยายธุรกิจในรูปแบบนี้มีข้อเสียคือ ต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี ก่อนที่แบรนด์จะติดตลาด โดยปีที่ผ่านมา ฟู้ดแพชชั่น ได้มีการขยายธุรกิจในส่วนนี้ด้วยการเปิดแบรนด์ร้านอาหารใหม่ชื่อ ฌานา เป็นร้านอาหารสุขภาพ และสเปซคิว ร้านอาหารที่มีทั้งปิ้งย่างและหม้อต้ม
  3. ขยายธุรกิจด้วยการซื้อแบรนด์ที่มีศักยภาพการเติบโตเพิ่มเข้ามาใน Portfolio เพื่อขยายธุรกิจและสาขาอย่างรวดเร็ว เช่น การซื้อเรดซัน เพื่อขยายไปยังตลาดอาหารเกาหลี แต่การขยายธุรกิจในรูปแบบนี้มีข้อเสียคือ ฟู้ดแพชชั่น ไม่สามารถรู้จักธุรกิจที่ซื้อมาในเชิงลึกได้ลึกซึ้ง
  4. ขยายธุรกิจในตลาดต่างประเทศภายใต้แบรนด์ในเครือ

 

การซื้อเรดซันเป็นการซื้อธุรกิจครั้งแรกของฟู้ดแพชชั่น เป็นการซื้อธุรกิจในรูปแบบผู้ถือหุ้นหลักในสัดส่วน 74% และนพวินท์ รอดริน พร้อมทีมผู้บริหารเดิมถือหุ้น 26% บนทุนจดทะเบียน 7 ล้านบาท ซึ่งเป็นทุนจดทะเบียนเดิมที่เรดซันได้จดทะเบียนไว้ก่อนหน้านั้น

และอำนาจการบริหารยังคงเป็นของทีมผู้บริหารชุดเดิม ส่วนแฟชชั่นฟู้ดจะเป็นผู้ซัปพอร์ตระบบหลังบ้านต่างๆ

 

การเข้าซื้อหุ้น 74% นี้ จะรวมถึงสินทรัพย์ต่างๆ ของฟู้ดซัน ได้แก่ ร้าน Red Sun ที่มีอยู่ 12 สาขาในประเทศไทย และสิทธิ์ในการเปิดและบริหารแฟรนไชส์ Red Sun ในต่างประเทศทั่วโลก ยกเว้น 3 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่เรดซัน ประเทศเกาหลีใต้ ขยายธุรกิจไปก่อนหน้านั้น

 

ซึ่งเท่ากับว่า นอกเหนือจากที่ฟู้ดแพชชั่นจะได้ขยายธุรกิจไปตลาดร้านอาหารเกาหลี ที่มาพร้อมกับฐานลูกค้าอายุ 18-35 ปี ที่เป็นฐานลูกค้าเดิมของเรดซันแล้ว ยังได้สิทธิ์ในการนำเรดซันขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบอาเซียน ที่มีพฤติกรรมเกาหลีฟีเวอร์เหมือนกับประเทศไทยอีกด้วย

 

สัดส่วนผู้ถือหุ้น Red Sun

ฟู้ดแพชชั่น 74%

ทีมผู้บริหารเดิม 26%

ทุนจดทะเบียน 7 ล้านบาท

 

 

การแต่งงานระหว่างฟู้ดแพชชั่นและเรดซันนอกเหนือจากการขยาย Portfolio แล้ว ในส่วนของเรดซันคือว่าเป็นการติดจรวดให้ธุรกิจจากศักยภาพที่ฟู้ดแพชชั่นมีอยู่เช่นกัน

 

เพราะเป้าหมายของเรดซันคือเติบโต 40% หรือมีรายได้ 150 ล้านบาทในปีนี้ จากปีที่ผ่านมาเรดซันมีรายได้ 100 ล้านบาท

 

นพวินท์ได้บอกกับเราว่า สิ่งที่เรดซันจะได้ในการร่วมครั้งนี้คือ

  1. การทำตลาดผ่านฐานลูกค้าของบาร์บีคิวพลาซ่า ที่มีอยู่ 1.9 ล้านราย โดยลูกค้าที่สมาชิกบัตรบาร์บีคิวพลาซ่าสามารถนำมาเป็นส่วนลดค่าอาหารในร้านเรดซันได้ 10% เช่นเดียวกับร้านอาหารอื่นๆ ในเครือฟู้ดแพชชั่น
  2. อาศัยพลังของฟู้ดแพชชั่นในการเข้าไปเปิดสาขาใหม่ๆ ในทำเลที่มีศักยภาพ เพราะที่ผ่านมาเรดซันยังเป็นแบรนด์น้องใหม่ ที่อาจจะไม่มีพลังมากพอที่ทำให้เจ้าของพื้นที่ในห้างสรรพสินค้ายอมมอบพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในแต่ละห้างให้ เพราะไม่มั่นใจในธุรกิจเรดซัน เนื่องจากเป็นธุรกิจน้องใหม่ที่มีอายุเพียง 4 ปีในธุรกิจอาหารในประเทศไทย

ด้วยศักยภาพของฟู้ดแพชชั่น ทำให้ในปีนี้นพวินท์ได้วางเป้าหมายในการขยายสาขาเรดซัน 4-6 สาขา เน้นไปยังกรุงเทพฯ เป็นหลัก

พร้อมรีเฟรชภาพลักษณ์ของแบรนด์ Red Sun ให้มีความทันสมัย ด้วยแผนการปรับโฉมร้านเรดซันสาขาสยามเซ็นเตอร์ ในคอนเซ็ปต์ใหม่ที่เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นได้มากขึ้น

โดยนพวินท์มองว่าศักยภาพในกรุงเทพฯ เรดซัน สามารถขยายสาขาได้ถึง 20 สาขา เพื่อไม่ให้พื้นที่การให้บริการของแต่งละสาขาแย่งชิงลูกค้ากันเอง

  1. ใช้อำนาจในการต่อรองในการจัดซื้อวัตถุดิบของฟู้ดแพชชั่น เพื่อให้ต้นทุนการจัดซื้อวัตถุดิบของร้านเรดซันมีต้นทุนที่ถูกลง ทำให้เรดซันมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันผ่านเมนูอาหารใหม่ๆ ที่มาพร้อมแคมเปญโปรโมชั่นเพื่อทำตลาดมากขึ้น

เพราะกลุ่มลูกค้าอายุ 18-35 ปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เซนซิทีฟด้านโปรโมชั่นราคา

  1. รุกทำตลาดต่างประเทศภายใน 2 ปี จากที่ผ่านมา เรดซันมีผู้สนใจติดต่อเข้ามาเพื่อทำตลาดต่างประเทศ แต่ต้องเสียโอกาสเพราะกำลังในการขยายตลาดไม่มากพอ และการจับมือกับฟู้ดแพชชั่น ทำให้เรดซันมีทีมงานที่จะดูแลในตลาดนี้โดยเฉพาะ

ซึ่งตลาดต่างประเทศ นพวินท์ได้มองประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็น 2 ประเทศที่มีโอกาสการเติบโตสูง จากประชากรทั้ง 2 ประเทศ ที่นิยมกระแสเกาหลีฟีเวอร์เหมือนกับประเทศไทย และใน 2 ประเทศนี้ยังมีช่องว่างในธุรกิจร้านอาหารเกาหลี เพราะร้านอาหารเกาหลีส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารที่ไม่ใช่ร้านอาหารในรูปแบบร้านอาหารที่มีหลายสาขา

  1. นำโนว์ฮาวของฟู้ดแพชชั่นในการจัดการด้านต่างๆ มาปรับใช้ เช่น การบริหารด้านคน เป็นต้น
  2. เสริมพลังเดลิเวอรี่ จากปลายปีที่ผ่านมาเรดซันเริ่มให้บริการเดลิเวอรี่ แต่สัดส่วนยอดจำหน่ายจากเดลีเวอรี่ยังมีเพียง 1% เพราะอาหารอาจจะไม่ตอบโจทย์การรับประทานแบบเดลิเวอรี่

ในปีนี้นพวินท์มีการปรับเมนูอาหารใหม่เป็นเมนูข้าวกล่อง 10 เมนู เพื่อให้เหมาะสมกับการส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ยิ่งขึ้น และนพวินท์เชื่อว่าจากการปรับเมนูเดลิเวอรี่ใหม่จะทำให้เรดซันมีสัดส่วนจากช่องทางนี้เพิ่มเป็น 5% ในปีนี้

และการแต่งงานของทั้ง 2 ธุรกิจนี้ ฟู้ดแพชชั่นเชื่อว่าเรดซันจะเป็นหนึ่งในคีย์ไดร์เวอร์หลักในการผลักดันให้ธุรกิจเติบโต 6% จากปีที่ผ่านมาที่ฟู้ดแพชชั่นมีรายได้อยู่ที่ 3,800 ล้านบาท

 

Red Sun

Marketeer FYI

เรดซันเป็นร้านอาหารจากประเทศเกาหลี โดยมีฮา จิน ฮา เป็นเจ้าของธุรกิจ

สิ่งที่ทำให้เรดซันประสบความสำเร็จในประเทศเกาหลีคือ การได้รับรางวัลแชมป์ ต๊อกปกกี่ อันดับหนึ่งจากการจัดประกวดของสถานี SBS ซึ่งการได้รับรางวัลนี้ทำให้เรดซันเป็นที่รู้จักและขยายสาขาได้มากถึง 50 สาขาในเกาหลี และออกนอกประเทศไปยังจีน กัมพูชา และไทย

ในประเทศไทย เรดซันเปิดธุรกิจจากการที่ นพวินท์ รอดริน ได้รับไลเซนส์ประกอบธุรกิจจาก ฮา จิน ฮา และเปิดตลาดในประเทศไทยครั้งแรกที่สาขาสยามสแควร์ในปี 2014 จับกลุ่มเป้าหมาย 16-29 ปี ก่อนที่จะขยายฐานลูกค้าเป็นกลุ่ม 18-35 ปีในปัจจุบัน

เรดซัน ประเทศไทย มียอดออเดอร์ต่อบิลอยู่ที่ 850 บาท จากลูกค้าโดยเฉลี่ย 2.5 คน และมีสมาชิกบัตรเรดซันมากกว่าหมื่นราย

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online